รศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะผู้รณรงค์โครงการฯ กล่าวว่าปัจจุบันมีจำนวนผู้ที่ศาลอนุญาตให้ประกันตัวแต่ไม่มีหลักทรัพย์เพียงพอ ถึง 66,000 คน จากผู้ต้องขังทั้งหมดที่รอศาลพิพากษาคดี กว่า 1 แสนราย ทั้งนี้หากศาลยังไม่มีคำพิพากษาก็ไม่ควรมีใครติดคุก ดังนั้นจึงได้ทำโครงการดังกล่าวขึ้น และทางเครือข่ายปฎิรูปการประกันตัวเพื่อคนจน จะเดินทางไปยื่นเอกสารโครงการฯให้แก่คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรมในวันที่ 22 พฤศจิกายนนี้ก่อนเริ่มการประชุม
ด้านนายมุขเมธิน กลั่นนุรักษ์ ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลประจำสำนักประธานศาลฎีกา เผยว่าขณะนี้ทางศาลได้มีความพยายามแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยเริ่มต้นโครงการใช้ระบบการประเมินความเสี่ยง แทนการใช้เงินประกันตัวมาตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา นำร่องใน 5 ศาล ได้แก่ ศาลจังหวัดเชียงใหม่ ศาลจังหวัดกาฬสินธุ์ ศาลอาญากรุงเทพใต้ ศาลจังหวัดจันทบุรี และศาลจังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งขณะนี้มีผู้ได้รับการปล่อยตัวทั้งหมด 865 คน มีจำนวนผู้หลบหนีหรือไม่มาตามนัด 52 คน หรือคิดเป็น ร้อยละ 6% ซึ่งในจำนวนสถิติดังกล่าวมีความเป็นไปได้สูงที่โครงการจะประสบความสำเร็จ อีกทั้งขณะนี้ได้มีการเตรียมจัดเช่ากำไลข้อเท้า หรือ Electronics Monitoring เพื่อใช้ร่วมกับการประเมินความเสี่ยง จำนวน 5,000 ชุด คาดจะเริ่มใช้ในเดือนมกราคมปีหน้า ใน 23 ศาล