วันที่ 11 พ.ค. ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เครือข่ายนักวิชาการเสียงประชาชน นำโดย ปริญญา เทวนฤมิตรกุล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) วันวิชิต บุญโปร่ง มหาวิทยาลัยรังสิต ธนพร ศรียางกูร สมาคมรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ โอฬาร ถิ่นบางเตียว มหาวิทยาลัยบูรพา ร่วมกับเครือข่ายสื่อ 9 สำนัก
ผศ.ดร.ปริญญา แถลงถึงวัตถุประสงค์การจัดทำโหวตเสียงประชาชน คือเพื่อสื่อสารไปถึงผู้รับเงินเดือนจากภาษีประชาชน ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 3 โดยจะถามประชาชนว่า "ท่านเห็นด้วยหรือไม่ ที่จะให้สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) โหวตเลือกนายกรัฐมนตรีตามเสียงข้างมากของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.)" ซึ่งประชาชนสามารถโหวตได้ผ่านทาง QR Code
สำหรับการเปิดโหวตเสียงประชาชนครั้งนี้ จะเปิดรับฟังความเห็นเป็นเวลา 3 วันเต็ม ตั้งแต่เวลา 12.00 น. ของวันที่ 15 พ.ค. ถึง 12.00 น. ของวันที่ 18 พ.ค. พร้อมจะแถลงผลโหวตในวันเดียวกันที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
รศ.ดร.พิชาย ระบุว่า ใกล้ถึงเวลาที่จะได้แสดงสิทธิใช้เจตจำนงของประชาชนผ่านการลงคะแนนเลือกตั้ง เพื่อกำหนดชะตากรรมของประเทศ โดยปราศจากการแทรกแซงจากส่วนที่ไม่ได้มาจากประชาชน จึงจัดเวทีนี้มาเพื่อสอบถามประชาชนอีกครั้ง ว่าประชาชนต้องการจะแสดงเจตนารมณ์ของตนเองอย่างหนักแน่นเช่นเดิมหรือไม่ โดยไม่ให้มีองค์กรใดที่ไม่ได้มาจากประชาชน บิดเบือนหรือแบ่งปันอำนาจได้อีกต่อไป
อีกปัจจัยหนึ่งที่อาจบิดเบือนเสียงของประชาชนได้ คือการทำงานของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ซึ่งผ่านการคัดเลือกโดย ส.ว.ชุดปัจจุบันนี้ ที่มาจากการเลือกของคณะรัฐประหารเองด้วย และเมื่อคณะรัฐประหารดังกล่าวมาตั้งพรรคการเมืองเอง ทำให้อดคิดไม่ได้ว่าจะมามีอิทธิพลเหนือ กกต. หรือไม่ การเลือกตั้งล่วงหน้าที่ผ่านมา ก็มีเหตุหลายอย่างยืนยันว่า อาจมีแนวโน้มว่าการทำงานของ กกต. อาจถูกเบี่ยงเบนไป
"ในเวลาที่เหลืออยู่ อยากเห็น กกต. เปลี่ยนวิธีคิดและแนวปฏิบัติ สลัดตนเองให้หลุดจากบ่วงของผู้ที่แต่งตั้งมา บุญคุณอะไรต่างๆ ให้มันจบไป ถ้าจะมี ปลดปล่อยตนเองให้เป็นอิสระจากพันธนาการของระบบบุญคุณที่ไร้ความชอบธรรม และกลับมาสู่หลักการที่ถูกต้องในหลักประชาธิปไตย"
ด้าน รศ.ดร.ธนพร แสดงความเห็นว่า การเลือกตั้งครั้งนี้มีความพีค และต่อสู้แข่งขันกันอย่างเข้มข้นที่สุดตั้งแต่หลังปี 2475 เป็นต้นมา เชื่อว่าแม้จะปิดหีบเลือกตั้งไปแล้ว ความสนใจในการเลือกตั้งของประชาชนก็ยังไม่ลดลง เพราะการต่อสู้ยังดำเนินไปภายใต้กฎกติกาที่อาจจะเอื้อประโยชน์ให้บางฝ่ายการเมือง
"สถานการณ์การต่อสู้ในเขตเลือกตั้งรุนแรง เป็นเสมือนการยิงปูพรมในหลายพื้นที่มากกว่า 1 รอบ ซึ่งเกินกว่าที่ผ่านมาในปกติ ขนาดกระสุนคงไม่ใช่ .22 แต่เป็นจรวด Harpoon ที่ยิงข้ามทวีปและล็อกเป้าได้ เป็นปัจจัยให้คู่ต่อสู้ทั้ง 2 ฝ่าย ไม่มีใครกล้าบอกว่าจะชนะแน่ๆ"
รศ.ดร.ธนพร ยังชี้ว่า การแจกกล้วยหรือสินบนอาจจะเกิดขึ้นทั้ง 2 ฝ่าย ภายหลังการเลือกตั้ง พร้อมย้ำว่าอย่าคิดว่า ส.ว.จะไม่รับกล้วยด้วยเหมือนกัน เพราะเป็นปัจจัยในการช่วยเลือกนายกรัฐมนตรีแม้ได้เสียง ส.ส.ไม่ถึง 375 เสียง ดังนั้น เพื่อหยุดยั้งการเมืองแบบแจกกล้วย เราควรต้องส่งเสริมกติกาที่เป็นธรรมและถูกต้อง โดยเฉพาะบทบาทของผู้คุมกติกาที่ทำหน้าที่ได้ดี จึงจะไม่เกิดการใช้วิธีแจกกล้วยดังกล่าว
ขณะที่ รศ.ดร.โอฬาร ชี้ว่าเป้าหมายของการโหวตครั้งนี้ คือต้องการส่งเสียงถึงทั้งประชาชน และทั้ง ส.ว. ให้เคารพเสียงของประชาชน การเลือกตั้งครั้งนี้มีความตื่นตัวมากสุดครั้งหนึ่งประวัติศาสตร์ เป็นการเลือกที่มีความหมายและจะสร้างความเปลี่ยนแปลงให้ประเทศ แต่ก็ยังมีความกังวลกับท่าทีที่ไม่เป็นมิตรต่อการเลือกตั้งและต่อพรรคการเมือง อาจเป็นการทำลายความฝันของคนทั้งสังคม
"มีสัญญาณนรก หรือสัญญาณอำมหิตบางอย่างจากผู้ใหญ่ในบ้านเมือง ที่ไม่สมควรทำ แต่สามารถทำได้ ยิ่งทำให้ประชาชนรู้สึกไม่มั่นใจ ในเมื่อกลไกของคณะรัฐประหารกลายเป็นตัวแสดงหนึ่งของการเมือง และต้องการจะสืบทอดอำนาจต่อในระบบประชาธิปไตย ทำให้คนจำนวนมากคาดหวังว่าจะมีผลต่อกลุ่มคนที่จะเลือกนายกฯ ได้ โดยไม่ต้องฟังเสียงประชาชน"
กรณีที่ในอีกไม่กี่วันนี้ ส.ว.จะเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญ รศ.ดร.โอฬาร เสนอว่า อาจจะเพิ่มเรื่องนี้เป็นวาระจร เพื่อกำหนดท่าทีที่ชัดเจนต่อสังคม ว่า ส.ว.จะเคารพในเจตนารมณ์ของประชาชน เป็นสัญญาประชาคม เพื่อคลายความกังวล ช่วยยืนยันแสงสว่างในระบอบประชาธิปไตยเพื่อสร้างอนาคตร่วมกันของคนทั้งประเทศ
ส่วน ผศ.ดร.วันวิชิต ระบุว่า ยินดีที่เสียงของนักวิชาการมีความเข้มแข็ง ยืนหยัดให้บรรยากาศการเมืองยังดำรงอยู่ได้ บทบาทของ กกต. ต้องเป็นผู้สร้างสันติภาพ ยุติความขัดแย้ง ไม่ใช่สร้างความขัดแย้ง เช่นเดียวกับ ส.ว. ซึ่งไม่เปิดโอกาสให้คนวิพากษ์วิจารณ์ได้ โดยอ้างอำนาจตามรัฐธรรมนูญมาล่วงเกินเสียงของประชาชนซึ่งตัวเองอาจไม่เห็นด้วย ไม่ควรให้ประชาชนต้องมีอคติต่อ ส.ว. หรือ กกต. ว่าตกอยู่ในอาณัติของบางพรรคการเมือง และถูกตีตราว่าเป็นผู้สร้างสงครามความขัดแย้งในการเมืองไทย
ผศ.ดร.ปริญญา ยังทิ้งท้ายเกี่ยวกับวิธีการโหวตว่า ตามข้อบังคับการประชุมสภากำหนดให้การลงคะแนนออกเสียงเลือกนายกรัฐมนตรี โดยเปิดเผย เรียงตามลำดับพยัญชนะ คละกันทั้ง ส.ส. และ ส.ว. ซึ่งไม่ใช่ปัญหาว่า ส.ว. จะไม่รู้ว่าเสียงส่วนใหญ่ของ ส.ส. เป็นอย่างไร เพราะในข้อบังคับกำหนดไว้ว่า การลงคะแนนสามารถใช้วิธีอื่นได้ เช่น ให้ ส.ส.ทั้งหมดออกเสียงก่อน และจึงตามด้วย ส.ว.ทั้งหมด เพื่อที่ ส.ว.จะได้ทราบว่าเสียงข้างมากไปทางไหน
ในการนี้ จึงเสนอให้ประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่จะทำหน้าที่ประธานรัฐสภาในอนาคต ปรึกษาหารือให้ใช้วิธีลงคะแนนแบบ ส.ส.ออกเสียงก่อน และจึงตามด้วย ส.ว. เพื่อให้การเลือกตั้งเป็นไปตามเจตนารมณ์ของประชาชนอย่างแท้จริง
พร้อมกันนี้ ยังเป็นห่วงว่า ถ้า ส.ว.งดออกเสียง ก็จะเกิดสภาวะเลือกนายกฯ ไม่สำเร็จ จะเกิดการต่อรอง ซึ่ง ส.ว. ไม่ควรถูกต่อรองใดๆ แล้วอาจเกิดการใช้วรรคสอง ของ มาตรา 272 คือสรรหาคนนอกบัญชีรายชื่อเป็นนายกฯ ได้ แต่ตนเชื่อว่า เราเห็นพัฒนาการการเมืองไทยแล้วว่าแม้ประชาชนจะเห็นต่างแต่ก็เคารพผลการเลือกตั้ง ไม่เคยมีการประท้วงผลเลือกตั้ง จึงขอให้ช่วยรักษาหลักการประชาธิปไตยตรงนี้ นี่เป็นปีที่ 9 แล้ว การเมืองแบบสืบทอดอำนาจต้องหมดไป อีกทั้งยอมรับว่า มีความกังวลใจการเลือกตั้งเป็นโมฆะ แต่คนที่น่ากังวลควรเป็น กกต. มากกว่า ที่ควรทำหน้าที่ให้ดี