ไม่พบผลการค้นหา
จากกรณีที่เด็กหญิงไทยวัย 11 ปีแต่งงานกับชายชาวมาเลเซียวัย 41 ปีที่นราธิวาส ทำให้มีการถกเถียงถึงปัญหาการแต่งงานเด็กในมาเลเซียและไทย โดยนักสิทธิฯ มองว่าปัญหาใหญ่ของเรื่องนี้คือช่องว่างทางกฎหมาย และความคลุมเครือในการทำงานของภาครัฐและองค์กรศาสนาท้องถิ่น

กลุ่มนักสิทธิมนุษยชนในวงเสวนา “การแต่งงานกับเด็ก: จุดยืนทางศาสนาช่องว่างทางกฎหมายกับสิทธิของเด็กหญิง” มองว่ากรณีเด็กหญิงไทยวัย 11 ปีแต่งงานกับชายชาวมาเลเซียวัย 41 ปีในนราธิวาส เป็นหนึ่งในการแต่งงานเด็กที่เกิดขึ้นจำนวนมากในพื้นที่ชายแดนใต้ของไทย และเมื่อกรณีนี้ได้รับความสนใจมากขึ้นทั้งในไทย มาเลเซีย และนานาชาติ ไทยก็ควรร่วมกันแก้ไขกฎหมาย และเปิดพื้นที่ให้ผู้หญิงเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของกรรมการศาสนาอิสลามประจำจังหวัด เพื่อป้องกันไม่ให้มีการแต่งงานเด็กเกิดขึ้นอีก และปกป้องสิทธิสตรีมุสลิมได้ดีขึ้น

เมื่อกลางเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ชายมุสลิมชาวมาเลเซียวัย 41 ปี ข้ามชายแดนมาเลเซีย-ไทย เพื่อมาแต่งงานกับเด็กผู้หญิงสัญชาติไทย อายุ 11 ปี ที่จังหวัดนราธิวาส และกรณีนี้กลายเป็นข่าวดังขึ้นมา หลังจากที่ภรรยาคนที่ 2 ของชายคนนี้โพสต์ว่า การแต่งงานของชายมาเลเซียและเด็กไทยคนนี้ยังไม่ได้รับการอนุญาตจากเธอ จนเป็นไวรัลไปทั่วโซเชียลมีเดียของมาเลเซีย จากนั้นรัฐบาลมาเลเซียจึงได้ตั้งคณะทำงานตรวจสอบกรณีนี้อย่างใกล้ชิด นำโดยนางวัน อะซิซาห์ วัน อิสมาอิล รองนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย

ล่าสุด มีรายงานว่าเด็กหญิงคนนี้กลับมาอยู่ไทย โดยอยู่ในความดูแลของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์แล้ว

วาน อซิซาห์ มหาเธร์

มาเลเซียไม่รับสถานะการแต่งงาน แต่ไทยยังคลุมเครือ

ตามกฎหมายชาริอะของมาเลเซีย การแต่งงานกับเด็กที่อายุต่ำกว่า 16 ปีนั้นเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย ยกเว้นแต่จะได้รับการอนุญาตจากศาลชาริอะเสียก่อน แต่นางวัน อะซิซาห์ระบุกับสื่อว่า การแต่งงานครั้งนี้ผิดกฎหมาย เนื่องจากไม่ได้รับอนุญาตจากศาลชาริอะและภรรยาคนที่ 2 ของผู้ชายก็ไม่ยอมรับการแต่งงานครั้งนี้

ขณะที่มาเลเซียไม่ยอมรับสถานะการแต่งงาน ท่าทีของไทยต่อกรณีนี้กลับยังคลุมเครือ โดยนางอังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ตั้งข้อสังเกตว่า การประชุมครั้งล่าสุดของกรรมการศาสนาอิสลามประจำจังหวัดยังใช้คำว่า 'สามี' ในการกล่าวถึงชายชาวมาเลเซียคนดังกล่าวอยู่ ราวกับว่ากรรมการศาสนาอิสลามยอมรับสถานะการสมรสของทั้งคู่ไปแล้ว

ด้านนายวิสุทธิ์ บิลล่าเต๊ะ คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ระบุว่า การแต่งงานครั้งนี้ได้รับการรับรองจากอิหม่ามท้องถิ่น แต่กรรมการศาสนาอิสลามประจำจังหวัดนราธิวาสไม่ได้รับรองการแต่งงาน พร้อมระบุว่ามีการซิกแซกกฎระเบียบการแต่งงาน จึงกำลังตั้งกรรมการสอบสวนอิหม่ามท้องถิ่น

นอกจากนี้ นายวิสุทธิ์แนะนำให้ญาติของเด็กไปยื่นให้กรรมการศาสนาอิสลามประจำจังหวัดและดาโต๊ะยุติธรรมท้องถิ่นพิจารณาให้การแต่งงานครั้งนี้เป็นโมฆะ


เด็กหญิงอายุ 11 ปีหรือ 16 ปี?

ด้านนางตัสนิม เจ๊ะตู มูลนิธิเพื่อการศึกษาและเยียวยาเด็กกำพร้า ซึ่งเป็นคนในพื้นที่นราธิวาสกล่าวว่า ช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา คนในพื้นที่ได้พูดคุยกันว่า ที่จริงแล้ว เด็กหญิงคนนี้มีอายุ 16 ปีแล้ว แต่แจ้งเกิดช้า ในเอกสารทางการจึงยังอายุ 11 ปีเท่านั้น ซึ่งหากเด็กคนนี้อายุ 16 ปีจริง ก็จะทำให้ชายชาวมาเลเซียพ้นผิดข้อหาแต่งงานกับเด็กอายุต่ำกว่า 16 ปีโดยไม่ได้รับอนุญาตจากศาลชาริอะ

นางอังคณาตั้งข้อสังเกตว่า ช่วงสิบปีที่ผ่านมา กระทรวงมหาดไทยกำชับให้เจ้าหน้าที่ในสังกัด ซึ่งรวมถึงกำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน เอาจริงเอาจังกับการแจ้งเกิดประชากรเกิดใหม่ในพื้นที่รับผิดชอบ ดังนั้นจึงไม่น่าจะมีการแจ้งเกิดช้าถึง 5 ปีเกิดขึ้นได้ แต่ความคลุมเครือเรื่องอายุของเด็กนั้นหาคำตอบได้ไม่ยากโดยการตรวจวินิจฉัยด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า หรือ MRI

ด้านนายเอกราช ซาบูร์ จากเครือข่ายมุสลิมเอเชีย ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะทำงานที่ประสานงานระหว่างรัฐบาลมาเลเซียและไทยเกี่ยวกับกรณีเด็กไทยแต่งงานกับชายมาเลเซีย ระบุว่า ทางการมาเลเซียได้ตรวจสอบแล้วว่า เด็กผู้หญิงคนนี้มีอายุ 11 ปีจริง และจากการตรวจร่างกายของเด็กพบการสอดใส่อวัยวะเพศ ถือเป็นการกระทำชำเราเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี

อย่างไรก็ตาม จนถึงขณะนี้ ยังไม่มีรายงานจากทางการไทยที่ระบุรายละเอียดเกี่ยวกับเด็กผู้หญิงคนนี้เลย


ศาสนาอิสลามไม่ได้ส่งเสริมการแต่งงานเด็ก

นายวิสุทธิ์อธิบายว่าศาสนาอิสลามไม่ได้ส่งเสริมให้มีการแต่งงานเด็ก แต่ก็ไม่มีข้อห้าม ไม่ได้กำหนดอายุขั้นต่ำของคู่แต่งงาน มีเพียงข้อกำหนดว่าการแต่งงานจะต้องได้รับการอนุญาตจากพ่อแม่เท่านั้น แต่ก็เป็นเพราะศาสนาดำรงอยู่ยาวนานหลายพันปีจึงต้องอาศัยการตีความให้เข้ากับบริบทสังคม

นายสรรพสิทธิ์ คุ้มประพันธ์ อดีตกรรมการสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติกล่าวเสริมว่า กฎหมายอิสลามต้องอาศัยการตีความจากรัฐบาลของแต่ละประเทศ เพื่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญและกฎหมายอื่นๆ ในประเทศ ซึ่งประเทศมุสลิมเกือบทุกประเทศก็มีการกำหนดอายุขั้นต่ำในการแต่งงานเอาไว้ โดยส่วนใหญ่กำหนดอายุขั้นต่ำไว้ที่ 18 ปี ขณะเดียวกัน องค์การความร่วมมืออิสลาม หรือ OIC ก็มีมติว่าอายุขั้นต่ำในการแต่งงานควรเป็นอายุ 18 ปี มีเพียงซาอุดีอาระเบียประเทศเดียวในโลกเท่านั้นที่ไม่ได้กำหนดอายุขั้นต่ำไว้

อย่างไรก็ตาม นางตัสนิมระบุว่า แม้ซาอุดีอาระเบียจะไม่ได้กำหนดอายุขั้นต่ำในการแต่งงานไว้ แต่การแต่งงานในซาอุดีฯ ก็ทำได้ยากมาก เพราะทางการจะตรวจสอบข้อมูลของทั้งสองฝ่ายอย่างละเอียด ทำให้หลายคนตัดสินใจออกมาแต่งงานในไทยแทน

AP-เด็ก-มุสลิม-เด็กหญิง-อิสลาม

กฎหมายไทยอ่อนแอ กฎหมายมาเลเซียเข้มงวด

ปัจจุบัน กฏหมายที่เกี่ยวข้องกับการสมรสอยู่ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ปพพ.) ซึ่งข้อมูลเกี่ยวกับการจดทะเบียนสมรสจะอยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงมหาดไทย แต่การแต่งงานของชาวมุสลิมใช้บัญญัติทางศาสนาแทน ปพพ. ซึ่งจะอยู่ภายใต้การดูแลของกรรมการศาสนาอิสลาม และไม่มีการแบ่งปันข้อมูลกันระหว่างกรรมการศาสนาอิสลามและกระทรวงมหาดไทย

นางอังคณากล่าวว่า ในทางกฎหมาย ไทยมีการปกป้องสิทธิเด็ก แต่ในทางปฏิบัติ ไทยยังล้มเหลวที่จะปกป้องสิทธิ์เด็ก โดยเฉพาะ มุสลิมในจังหวัดชายแดนใต้ เนื่องจากในทางปฏิบัติ การแต่งงาน รวมถึงการตัดสินคดีต่างๆ ในพื้นที่ชายแดนใต้ ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของผู้นำทางศาสนาในพื้นที่ ทำให้เด็กและผู้หญิงส่วนมากไม่สามารถเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมของรัฐไทย และฝากชีวิตไว้กับกรรมการศาสนาอิสลามประจำจังหวัด แต่กรรมการศาสนาอิสลามประจำจังหวัดใน 35 จังหวัด จังหวัดละ 30 คน ไม่มีผู้หญิงอยู่ด้วยเลย ทำให้ไม่มีค่อยมีใครให้ความสำคัญหรือเข้าใจปัญหาเรื่องเด็กและสตรีดีเท่าที่ควร

นอกเหนือจากปัญหาเรื่องดุลยพินิจของกรรมการศาสนาท้องถิ่นแล้ว นายสรรพสิทธิ์กล่าวว่า กฎหมายไทยที่เป็นอุปสรรคต่อการคุ้มครองเด็กอย่างมาก โดยเฉพาะกรณีการแต่งงานเด็กในจังหวัดชายแดนใต้ก็คือ ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 277 ที่ระบุว่า “ผู้ใดกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปี ซึ่งมิใช่ภริยาหรือสามีของตน โดยเด็กนั้นจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สี่ปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่แปดหมื่นบาทถึงสี่แสนบาท”

นายสรรพสิทธิ์ระบุว่า วรรคที่ระบุว่า “ซึ่งมิใช่ภริยาหรือสามีของตน” ถือเป็นช่องว่างทางกฎหมายที่เปิดทางให้การแต่งงานเด็กเป็นเรื่องถูกกฎหมายได้ เพราะสามารถอ้างได้ว่า เด็กคนดังกล่าวเป็นภริยาหรือสามีของตน ดังนั้น หากตัดวรรคนี้ออกไปก็จะทำให้การมีเพศสัมพันธ์กับเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปีทั้งหมด ไม่ว่าเด็กจะยินยอมหรือไม่ก็จะถือเป็นเรื่องผิดกฎหมายทั้งหมด และจะช่วยปกป้องเด็กได้ แต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกลับไม่เห็นความสำคัญของการแก้ไขมาตรา 277 พร้อมอ้างว่า การแก้ไขกฎหมายนี้จะกระทบกับวิถีชีวิตของชาวมุสลิมอีกด้วย


คนพื้นที่มองว่าเป็นเรื่องปกติ

นางตัสนิมเปิดเผยว่า คนในพื้นที่ชายแดนใต้ส่วนใหญ่ไม่ได้รู้สึกตื่นเต้นกับกรณีที่เด็กไทยวัย 11 ปีแต่งงานกับชายชาวมาเลเซียวัย 41 ปีเลย เพราะการแต่งงานเด็กมีให้เห็นจำนวนมากในพื้นที่ และเมื่อมีข่าวว่าเด็กคนนี้อาจอายุ 16 ปีก็ยิ่งทำให้คนมองเป็นเรื่องปกติ โดยคนในพื้นที่ส่วนใหญ่ไม่ได้ส่งเสริมให้มีการแต่งงานเด็ก แต่ก็ไม่ได้รู้สึกว่าเป็นเรื่องผิดปกติ เมื่อเด็กเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์แล้วก็สามารถแต่งงานได้

นางตัสนิมระบุว่า คนในพื้นที่มักคิดว่า เมื่อลูกสาวจบ ป. 6 แล้ว หากมีคนมาขอก็จะให้แต่งงาน เพราะกลัวว่าเด็กจะไปมั่วสุมยาเสพติด หรือกลัวเกิดปัญหาท้องก่อนแต่ง ดังนั้น เมื่อเห็นเด็กชอบพอกัน สังคมและผู้นำทางศาสนาก็มักกดดันให้ทั้งคู่แต่งงานกัน แต่ส่วนใหญ่มักจบด้วยการหย่าร้างกันในที่สุด นอกจากนี้ ยังพบเจอกรณีที่เป็นนายจ้างแต่งงานกับลูกของลูกจ้าง โดยที่พ่อแม่ก็จำยอม เพราะครอบครัวมีฐานะยากจน

ทั้งนี้ นายวิสุทธิ์อธิบายว่า ตามหลักศาสนาอิสลาม การแต่งงานต้องมี 'ความเหมาะสม' อิหม่ามต้องพิจารณาความเหมาะสมของทั้งคู่ก่อนจะรับรองการแต่งงานก่อน รวมถึงเรื่องอายุด้วย เพราะช่องว่างระหว่างวัยอาจทำให้คู่สมรสมีปัญหากันในภายหลัง

นอกจากนี้ ยังต้องถามความสมัครใจของทั้งผู้หญิงและผู้ชายก่อนด้วย แต่หลายครั้ง เมื่อผู้หญิงตัดสินใจไม่ได้ ศาสนาจึงถามความเห็นของพ่อแม่ผู้ปกครอง โดยคิดว่า พ่อมักปรารถนาดีกับลูกของตัวเอง และการแต่งงานนั้นต้องยึดผลประโยชน์ของลูกเป็นหลัก แต่นายวิสุทธิ์กล่าวว่า การแต่งงานของเด็กหญิงไทยชายชาวมาเลเซียไม่ถือว่าเป็นเรื่องที่เหมาะสม เพราะเป็นการแต่งงานเพื่อยกฐานะของพ่อแม่ ไม่ใช่ผลประโยชน์ของเด็ก

ไทยเป็นสถานที่แต่งงานที่สะดวกของชาวมุสลิมต่างชาติ

ปัญหาเชิงอำนาจ/ความยากจน

ผู้ร่วมเสวนาทุกคนเห็นพ้องกันว่า ในกรณีนี้ การยินยอมจากพ่อแม่ไม่สามารถนำมารับรองการแต่งงานได้ โดยนางอังคณากล่าวว่า ครอบครัวของเด็กหญิงคนนี้เป็นครอบครัวยากจน พ่อทำงานอยู่ในสวนยางของชายชาวมาเลเซีย อีกทั้งยังเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมายด้วย ดังนั้น การแต่งงานครั้งนี้จึงเป็นการใช้สถานะที่เหนือกว่าบีบบังคับให้มีการแต่งงาน ซึ่งอาจเข้าข่ายการค้ามนุษย์

นางอังคณายังมีข้อเสนอแนะว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรเข้าไปแก้ไขปัญหาความยากจน ส่งเสริมการศึกษาของเด็กในพื้นที่ให้มากขึ้น เพื่อขจัดต้นตอปัญหาของการแต่งงานเพื่อยกสถานะครอบครัว หรือการแต่งงานเพื่อขัดดอก ขณะเดียวกันก็ควรมีการสนับสนุนให้ผู้หญิงมุสลิมในพื้นที่สี่จังหวัดชายแดนใต้ศึกษาหลักศาสนาอิสลามและกฎหมายไทยมากขึ้น เพื่อลดการพึ่งพาการตีความศาสนาโดยผู้ชาย ซึ่งทำให้ผู้ชายจำนวนหนึ่งฉวยโอกาสอ้างศาสนาในการละเมิดสิทธิ์เด็กและสตรี


ธุรกิจการแต่งงานและการค้ามนุษย์

ช่องว่างระหว่างกฎหมายไทยที่ไม่เข้มงวดกับกฎหมายมาเลเซียที่เข้มงวด ทำให้ธุรกิจการแต่งงานบริเวณชายแดนเฟื่องฟู มีมูลค่ามหาศาล เนื่องจากชาวมาเลเซียจำนวนมากเข้ามาแต่งงานกับเด็กไทย นำใบรับรองการแต่งงานในไทยไปยื่น และยอมเสียค่าปรับที่ไม่ขออนุญาตศาลชาริอะในมาเลเซียก่อนแต่งงาน ผลประโยชน์มหาศาลจากธุรกิจนี้ส่งผลให้มีการล็อบบี้อิหม่ามและผู้ที่เกี่ยวข้องในพื้นที่สี่จังหวัดชายแดนใต้ให้รับรองการแต่งงานโดยไม่ต้องพิจารณาอย่างละเอียดก่อนว่าเด็กอายุเท่าไหร่ และฝ่ายชายมีรสนิยมมีความใคร่กับเด็กหรือไม่

ทางการมาเลเซียพยายามเรียกร้องให้ทางการไทยแก้ไขปัญหานี้ เนื่องจากช่องว่างทางกฎหมายทำให้เกิดทั้งปัญหาการแต่งงานเด็ก ปัญหาที่รัฐต้องแบกรับภาระการเลี้ยงดูภรรยาและลูกนอกสมรสของชาวมาเลเซียที่ลักลอบแต่งงานในไทย อีกทั้งยังมีปัญหาการค้ามนุษย์ด้วย เช่น กรณีที่ชายชาวมาเลเซียเข้ามาแต่งงานกับหญิงไทยได้ไม่นานก็ขอหย่าแล้วกลับประเทศ เพราะต้องการเข้ามาเที่ยวผู้หญิงโดยไม่ผิดหลักศาสนา

เงาคนมุสลิม

ภาครัฐไม่มีกลไกเยียวยาที่ชัดเจน

นักสิทธิและภาคประชาสังคมมองว่า กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ยังไม่เปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับมาตรการในการเยียวยาเด็กหญิงคนนี้ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว อีกทั้งยังมีความคลุมเครือว่าใครจะเป็นผู้ยื่นฟ้องร้องคดีชายชาวมาเลเซียคนนี้ในข้อหากระทำชำเราเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ทั้งที่กรณีนี้ถือเป็นความผิดอาญาแผ่นดิน

นายสรรพสิทธิ์ระบุว่า กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กรมคุ้มครองเด็กและเยาวชน กรมสุขภาพจิตและอีกหลายหน่วยงานควรยื่นมือเข้ามาช่วยเยียวยาเด็กที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศ และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ควรต้องมีหน่วยทำงานที่ทำงานใกล้ชิดกับชุมชนด้วย

ด้านนางอังคณากล่าวว่า ปัจจุบัน ไทยมีมาตรการคุ้มครองพยานและผู้เสียหาย แต่หลายกรณียังไม่มีการฟ้องร้องเป็นคดีความจึงไม่ได้รับการคุ้มครอง ขณะเดียวกัน หน่วยงานของไทยมักให้ความช่วยเหลือผู้เสียหายแบบสงเคราะห์หรือตามมนุษยธรรม มากกว่าการให้ความช่วยเหลือโดยคำนึงถึงเรื่องสิทธิมนุษยชน


ข่าวที่เกี่ยวข้อง :