ไม่พบผลการค้นหา
ตัวแทนไอลอว์ระบุในงานเสวนา 'มองมหาวิทยาลัยภายใต้เงาทหาร' หลังรัฐประหารมีกิจกรรมในมหาวิทยาลัยถูกปิดกั้น 38 ครั้ง ชี้ตัวละครในการปิดกั้นเสรีภาพมีตั้งแต่ตัวมหาวิทยาลัยเองไปจนถึงเจ้าหน้าที่รัฐ

ณัชปกร นามเมือง ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ (iLaw) เผยข้อมูลที่รวบรวมมาตั้งแต่รัฐประหาร 2557 ว่าตลอด 4 ปีที่ผ่านมา มีกิจกรรมถูกปิดกั้น 264 กิจกรรม และที่เกี่ยวกับสถาบันการศึกษา มีอย่างน้อย 38 กิจกรรม โดยเขาตั้งข้อสังเกต 4 ประเด็นคือ

การปิดกั้นเสรีภาพในมหาวิทยาลัย มีตัวละครหลายตัว หนึ่ง คือ มหาวิทยาลัยเอง เข้ามามีส่วนร่วมในการจำกัดเสรีภาพ สอง คือ เจ้าหน้าที่รัฐ ประกอบด้วยตำรวจ ทหาร เจ้าหน้าที่ปกครอง


“หลายคนอาจจะคิดว่ากิจกรรมที่ถูกปิดกั้นเป็นกิจกรรมการเมือง แต่เมื่อสำรวจก็จะพบว่ากิจกรรมที่จัดมีทั้งประเด็นสันติภาพ สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ ไม่ได้จำกัดอยู่แค่การวิจารณ์ คสช. ถ้ามีใครสักคนบอกว่า คนจัดกิจกรรมไม่ได้เพราะเป็นเรื่องการเมือง ผมต้องบอกว่าเป็นเรื่องไม่จริง”


ประเด็นต่อมา พื้นที่ที่ถูกจำกัดเสรีภาพไม่ได้มีแค่ในกรุงเทพฯ แต่มีในต่างจังหวัดด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคอีสาน

ประเด็นถัดมา คือ การดำเนินคดี การคุกคามต่างๆ หลังรัฐประหาร 4 ปี พบว่ามีผู้ทำกิจกรรมจำนวน 1,138 คนถูกคุกคามในรูปแบบต่างๆ เช่น ถูกโทรศัพท์ไปข่มขู่ ไปเยี่ยมที่บ้าน ขู่ว่าจะใช้กฎหมายจัดการ และถูกดำเนินคดี

ในส่วนของเสรีภาพภายในมหาวิทยาลัย มี 25 รายประกอบไปด้วยนักวิชาการและนักศึกษาที่ถูกดำเนินคดีจากการจัดงานที่ใช้เสรีภาพในการแสดงออก และมีอย่างน้อย 90 คน ถูกเรียกไปรายงานตัว ถูกเรียกไปปรับทัศนคติ

ประเด็นสุดท้ายคือ นอกจากการใช้เสรีภาพภายในพื้นที่มหาวิทยาลัย ยังล้ำออกไปนอกมหาวิทยาลัย จากคำสั่ง คสช. ที่ 97/2557 และ 53/2558 กำหนดว่านักวิชาการจะให้ความเห็น ต้องวิพากษ์วิจารณ์โดยสุจริต ซึ่งคำว่าโดยสุจริตเป็นหน้าที่ของ คสช. เองในการตรวจสอบ ทำให้เกิดคำถามว่า สุดท้ายแล้ว ประเด็นสำคัญ คือ ห้ามวิพากษ์วิจารณ์ คสช. หรือไม่

ธนวัฒน์ วงค์ไชย ประธานสภานิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงประสบการณ์ที่เพิ่งผ่านมา พบว่าถูกตัดไฟตั้งแต่ต้นลม เช่น กรณีที่นิสิตจุฬาฯ จะจัดงานแปลบทความนิตยสารไทม์ที่เผยแพร่บทสัมภาษณ์ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ถูกห้าม และอาจารย์ที่จะจัดเสวนาในเรื่องเดียวกันก็ถูกห้ามจัดเช่นกัน แต่กิจกรรมอื่นๆ สามารถจัดได้ แต่ต้องเป็นขั้วการเมืองที่ไม่เป็นพิษภัย


“เสรีภาพทางวิชาการผ่านกิจกรรมของนิสิต ก็คือไม่มีเสรีภาพ และถูกจำกัดด้วยบริบทต่างๆ ไม่ใช่นิสิตไม่อยากทำ แต่เราทำไม่ได้ เพราะผู้บริหารไม่เห็นด้วย ไม่ให้ทำ ทำให้กิจกรรมของนักศึกษาอ่อนแอลง”


รศ.ดร.อนุสรณ์ อุณโณ เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง (คนส.) กล่าวว่า เมื่อพูดถึงเสรีภาพทางวิชาการแล้ว ฟังดูเหมือนให้อภิสิทธิ์เฉพาะนักวิชาการ แต่เขาเห็นว่ามีความจำเป็นต้องปกป้องเสรีภาพนี้ไว้ ด้วยเหตุผลคือ พื้นที่วิชาการเป็นเหมือนด่านสุดท้ายที่ คสช. ยังจัดการไม่ได้เด็ดขาด และอีกประการคือ การศึกษานั้นเป็นเครื่องมือของชนชั้นนำมาตลอด ดังนั้นจึงต้องรักษาพื้นที่นี้ไว้เพื่อไม่ให้เป็นพื้นที่สืบทอดอุดมการณ์ของชนชั้นนำแต่เพียงอย่างเดียว


“ไม่ว่ารัฐของไทยหรือชนชั้นนำจะโง่ขนาดไหน แต่เขาเห็นความสำคัญของระบบการศึกษา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกลไกรัฐที่ใช้ในการครอบงำ ปลูกฝังอุดมการณ์ ทำให้คนยอมรับกฎเกณฑ์ กติกา ผ่านครอบครัว สถาบันต่างๆ จนถึงมหาวิทยาลัย เราจะเห็นว่าชนชั้นนำไทย ใช้กลไกเหล่านี้มาอย่างต่อเนื่อง”


นายอนุสรณ์กล่าวด้วยว่า ระบบการศึกษาถูกใช้เป็นกลไกรัฐ เป็นส่วนหนึ่งในการสถาปนาอำนาจนำทางศีลธรรมปัญญา และการเมืองของชนชั้นนำ ด้วยเหตุนี้ จึงต้องปกป้องเสรีภาพทางวิชาการไว้ ไม่เช่นนั้นระบอบการศึกษากล่อมเกลาผู้คนก็จะตกอยู่ในเงื้อมมือชนชั้นนำเพียงแค่หยิบมือ

“และคนจะไม่รู้สึกอะไร และกลายเป็นทรัพยากรอันดีให้ชนชั้นนำ เป็นเนื้อนาบุญ ออกมาเป่านกหวีดได้เป็นล้าน มันจะเป็นไปไม่ได้ ถ้าไม่ (กล่อมเกลา) ผ่านสื่อ ผ่านการศึกษา ผ่านละครหลังข่าวที่เป็นกระบวนการเดียวกัน” นายอนุสรณ์กล่าวทิ้งท้าย

งานเสวนาดังกล่าวจัดขึ้นที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา โดยจัดก่อนที่นักวิชาการและสื่อมวลชนในเชียงใหม่ 5 คนจะถูกพนักงานอัยการส่งฟ้องต่อศาลในวันพุธที่จะถึงนี้

นักวิชาการและสื่อมวลชนทั้ง 5 รายประกอบไปด้วย 1. ดร.ชยันต์ วรรธนะภูติ, 2.ภัควดี วีรภาสพงศ์, 3. ธีรมล บัวงาม, 4. ชัยพงษ์ สำเนียง และ 5. นลธวัช มะชัย โดยบุคคลทั้ง 5 คนเป็นส่วนหนึ่งที่เข้าร่วมงานประชุมวิชาการนานาชาติไทยศึกษา เมื่อวันที่ 15-18 กรกฏาคม 2560 ซึ่งมีเจ้าหน้าที่ทหารเข้ามาเก็บภาพและข้อมูลการจัดงาน ทำให้ในเวลาต่อมาได้มีการติดป้ายข้อความว่า "เวทีวิชาการ ไม่ใช่ค่ายทหาร" เพื่อตอบโต้พฤติกรรมของทหาร และเจ้าหน้าที่ดังกล่าว จนทำให้ทั้งหมดถูกดำเนินคดีในข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 เรื่องการชุมนุมมั่วสุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: