WAY Dialogue ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) จัดงานเสวนา 'ประเทศเหลื่อมล้ำ ความยุติธรรมชำรุด' โดยมีนักวิชาการ นักการเมือง และนักกฎหมาย ร่วมกันวิพากษ์วิจารณ์ความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
'ความเหลื่อมล้ำในกระบวนการยุติธรรม'
นายไพสิฐ พาณิชย์กุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวถึงมิติความเหลื่อมล้ำในกระบวนการยุติธรรม โดยนำผลการศึกษางานวิจัยความเหลื่อมล้ำในกระบวนยุติธรรม หลังลงพื้นที่พบปะผู้ได้รับผลกระทบ ว่า เป็นการนำเสนอปรากฎการณ์ที่จะเชื่อมโยงไปถึงกระบวนการยุติธรรม ให้เห็นถึงปัญหาเชิงโครงสร้างของกระบวนการทางกฎหมาย ปัญหาเชิงโครงสร้างของการปฏิบัติในระดับนโยบาย
รวมถึงปัญหาเชิงโครงสร้างของนักกฎหมาย ที่มักจะไม่ตั้งคำถามใหม่ๆ กับการใช้อำนาจ ที่ไม่ได้คิดเชื่อมโยงการใช้กฎหมายกับประชาชน ซึ่งมิติเหล่านี้คือปัญหาทั้งสิ้น และเป็นโจทย์ใหญ่ที่ต้องปฏิรูป เพื่อสร้างแนวคิด และต้องสร้างความเป็นธรรม ที่เรามักใช้แบบกลับหัวกลับหาง
สิ่งที่สำคัญคือเราจะทำอย่างไรให้กระบวนการยุติธรรมเห็นถึงความชำรุดของตัวเอง
แน่นอนว่าประเทศไทย มีกฎหมายพูดถึงคนพิการหรือความเสมอภาค แต่ความจริงที่เกิดขึ้นในสังคมกลับเป็นระบบข้อมูลที่ใช้ในการตัดสินใจในการใช้อำนาจ คนที่ไม่รับการขึ้นทะเบียนสัญชาติก็ไม่ถูกยอมรับ แต่แท้จริงแล้วหากตรวจดีเอ็นเอพวกเขาก็มีเชื้อสายไทย
อีกประการที่สำคัญคืออำนาจแยกส่วนของกระบวนการยุติธรรม บทบาทภาครัฐถูกท้าทายว่าจะแก้ไขกันอย่างไร วงจรของอำนาจนิติบัญญัติ ไม่ได้ถูกถอดออกมา ที่จะแก้ไขให้ประชาชนอยู่ดีมีดี เพราะเราไม่เคยนำเข้าไปในชุดความคิดของกระบวนการยุติธรรม
ขณะเดียวกัน กฎหมายเหล่านี้ ทำให้นักเคลื่อนไหวทางสังคมถูกข่มขู่โดยการใช้กระบวนการยุติธรรม คนที่กลัวก็จะอยู่ภายใต้ความเหลื่อมล้ำเหล่านี้ ซึ่งสิ่งที่ท้าทายคือจะทำอย่างไรให้ประชาชนก้าวข้ามความกลัว
'ความแน่นอนทางกฎหมายของบ้านเรามันใช้ไม่ได้อีกต่อไป จึงจำเป็นต้องปรับเปลี่ยน เช่นการทำ MOU เพราะหัวใจของกฎหมายไม่ได้อยู่ที่ตัวบทบัญญัติกฎหมาย แต่คือความยุติธรรม'
ขณะเดียวกัน งานวิจัยชิ้นนี้ได้เห็นโอกาสและมีพลังของการเปลี่ยนแปลง และยกระดับให้เป็นโอกาสในการปฏิรูปทางสังคม
ความ 'วิปลาส' ของกระบวนการยุติธรรม
ด้านมุมมองของนักกฎหมาย ดร.น้ำแท้ มีบุญสล้าง อัยการจังหวัด สำนักงานอัยการคุ้มครองสิทธิ์และช่วยเหลือทางกฎหมายและการบังคับคดี จังหวัดกาญจนบุรี ให้ความเห็นว่ากระบวนการยุติธรรมของประเทศไทยไม่สามารถให้ความเป็นธรรมกับประชาชนได้ จะเห็นได้จากหลายกรณีที่ประชาชนต้องไปร้องเรียนกับสื่อมวลชน ซึ่งระบบที่ดีที่ต้องไม่สามารถบิดเบือนอะไรได้ จึงไม่จำเป็นเลยว่าจะต้องมีเจ้าหน้าที่ตำรวจออกมาแถลงว่าจะให้ความเป็นธรรม เพราะตามหลักแล้วต้องให้ความเป็นธรรมอยู่แล้ว
ขณะที่ ประเทศไทยมีป.วิอาญาที่แตกต่างจากประเทศพัฒนาแล้ว ป.วิอาญาของประเทศไทยมีวิธีคิดแบบวิปลาส ใครที่บอกว่าป.วิอาญาเราดีตนว่าต้องอินโนเซ็นส์มาก
'ประเทศไทย หากเข้าสู่กระบวนการฝากขัง ไม่ว่าอัยการจะฟ้องหรือไม่ฟ้อง ประชาชนต้องถูกขังอย่างน้อย 84 วัน หากผู้ต้องหาไม่ถูกฟ้อง ถือว่าคุณต้องติดคุกฟรีโดยไม่มีค่าชดเชย'
ขณะที่ นายสุรชัย ตรงงาม ทนายความมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม กล่าวเสริมประเทศไทยมองบริบททางกฎหมายไปในมุมเดียว ซึ่งแตกต่างจากสิ่งที่ชาวบ้านคิด และไม่มีช่องทางให้ประชาชนได้พิสูจน์ เพราะเราไม่เคยยอมรับความเป็นพหุ ที่เป็นสิทธิของชุมชน
ตัวแทนพรรคการเมือง ชูธง 'ลดความเหลื่อมล้ำ'
นายนิรามาน สุไลมาน ตัวแทนพรรคอนาคตใหม่ กล่าวถึงนโยบายของพรรคในการแก้ปัญหาของความเหลื่อมล้ำ ว่า ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ พบว่ามีปัญหาหลายอย่างไม่ว่าจะเป็นเรื่องภาษีหรือวัฒนธรรม พรรคอนาคตใหม่เรามีปรารถนาอย่างแรงกล้าว่าจะทำให้ทุกคนเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อย่างเท่าเทียม และมองคนให้เท่ากัน เพราะทุกคนมีสิทธิ์มีเสียงทุกคน ถึงเวลาที่แล้วพี่น้องประชาชนต้องลุกขึ้นมาเพื่อร่วมกันสร้างความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ให้เกิดขึ้น
นายเลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ ตัวแทนพรรคสามัญชน กล่าวว่าขบวนการแรงงานหลายกลุ่มมีการเรียกร้องให้เพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำ ซึ่งแตกต่างจากการเพิ่มเงินเดือนของข้าราชการในกระบวนการยุติธรรม นโยบายแรกของสามัญชนคือการลดเงินเดือนข้าราชการในความยุติธรรม การค้าอำนาจตนเอง เพื่อค้ำบัลลังค์ให้คสช. สะท้อนว่าคนพวกนี้กลับได้รับผลประโยชน์ สวนทางกับคุณภาพชีวิตของประชาชนที่ไม่มีสวัสดิการที่พวกเขาพึงได้รับ
ขณะที่ สถานการณ์การถือครองที่ดินส่วนใหญ่ถูกถือครองโดยคนส่วนน้อย ทำให้คนส่วนใหญ่ไม่มีพื้นที่ทำกิน สะท้อนให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำที่ถูกกฎหมายบีบให้คนจนต้องไปกู้หนี้ยืมสิน เพื่อดิ้นรนให้มีคุณภาพชีวิตดีขึ้น เพราะเรากำลังมีชีวิตอยู่ในยุค ที่รัฐใช้อำนาจตามอำเภอใจ ไร้การตรวจสอบ ประชาชนถูกกีดกันด้วยกฎหมายที่เอื้อต่อผู้มีอำนาจและนายทุน
"บ้านเมืองใดกระบวนการยุติธรรมชำรุดสูง ความเหลื่อมล้ำก็สูงเช่นเดียวกัน บ้านเมืองใดความเหลื่อมล้ำสูง กระบวนการยุติธรรมก็ชำรุดสูงเช่นเดียวกัน"เลิศศักดิ์ กล่าว
นายสมบัติ บุญงามอนงค์ ตัวแทนพรรคเกรียน กล่าวว่าเรื่องกระบวนการยุติธรรมส่วนใหญ่เราพูดถึงช่วงกลางและท้าย ซึ่งสังคมควรกลับไปที่จุดเริ่มต้น และไปหาว่าอะไรคือเป็นสิ่งที่ผลิตให้คนที่ต้องเข้าไปถูกจองจำในเรือนจำ โดยส่วนตัวเคยเข้าไปในเรือนจำ ทำให้ได้มีโอกาสสัมภาษณ์กลุ่มคนที่ถูกคุมขัง พบว่ากลุ่มคนเหล่านี้ไม่ได้มาจากขุมนรก แต่พวกเขาเป็นผลผลิตจากสังคม
นายราเมศ รัตนะเชวง ตัวแทนพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่าพรรคประชาธิปัตย์เรามีนโยบายชัดเจนว่าจะเปิดช่องทางให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการร่างกฎหมาย ขณะเดียวกันจะมีการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายที่สร้างผลกระทบต่อประชาชน กฎหมายที่มีปัญหาเหล่านี้ พรรคประชาธิปัตย์จะสังคยานาให้หมด กฎหมายฉบับไหนที่มีผลกระทบกับพี่น้องประชาชน รัฐบาลประกาศป้องกันการทุจริต แต่ออกกฎหมายริดรอนสิทธิประชาชนมากี่ฉบับ การออกกฎหมายที่สร้างผลกระทบกับประชาชน ผมไม่เห็นด้วย เพราะประชาชนไม่ใช่พลทหาร
ในประเด็นกระบวนการยุติธรรม พรรคประชาธิปัตย์ยืนยันว่าต้องมีการ 'ปฏิรูปตำรวจ' เพราะเป็นต้นทางของการเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม
นายชวลิต วิชัยสุทธ์ ตัวแทนพรรคเพื่อไทย กล่าวว่ากระบวนยุติธรรมที่ชำรุด จะสามารถทำให้คนไทยทั้งประเทศ มองว่าถึงเวลาหรือยังที่คนไทยจะถอดบทเรียนในการทางออก การปกครองในระบอบประชาธิปไตย เมื่อมันไม่ต่อเนื่องก็จะไม่ถูกยอมรับจากนานาชาติ การที่คนไทยจะเห็นตรงกันคือการที่ได้รับความเดือดร้อนเหมือนกัน หลังจากลงพื้นที่ในจังหวัดนครพนม ประชาชนสะท้อนออกมาเป็นเสียงเดียวกันว่า สี่ปีที่ผ่านมาประสบปัญหาจากสภาวะเศรษฐกิจ ดังนั้นนี้คือความเหลื่อมล้ำที่เกิดจากการรัฐประหาร