ไม่พบผลการค้นหา
พื้นที่แห่งเดียวที่คนต่อรองได้อย่างเสมอภาคคือระบอบประชาธิปไตย ที่ทุกคนมีหนึ่งสิทธิหนึ่งเสียงเท่าๆ กัน แต่ที่ผ่านมาพอมันถูกริบเอาประชาธิปไตยไป มันก็ไม่เหลือกลไกที่ให้แต่ละคนมาร่วมเจรจาต่อลองกันโดยเสมอหน้า : ผศ.ดร.อนุสรณ์ อุณโณ

ซีรีส์ภาคต่อว่าด้วยเสรีภาพทางวิชาการ ภายใต้รัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. การเคลื่อนไหวที่ถูกจำกัดและการคุกคามจากเจ้าหน้าที่ทั้งในและนอกเครื่องแบบยังมีให้เห็น แม้จะเบาบางลงไปแต่ใช่ว่าบรรยากาศเหล่านั้นจะหายไป 

'วอยซ์ออนไลน์' นัดสัมภาษณ์พิเศษ 'ผศ.ดร.อนุสรณ์ อุณโณ' คณบดีคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อีกหนึ่งนักวิชาการที่ออกมาเรียกร้องประชาธิปไตย และออกมาคัดค้านการดำเนินคดี ไม่ว่าจะเป็นคดีการเมืองหรือคดีทางความคิด 

ร่วมกับกลุ่มนักวิชาการภายใต้นาม 'เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง - คนส.' แม้ว่าภายหลังรัฐประหารนักวิชาการผู้นี้จะถูกดำเนินคดีไปแล้ว 2 คดี แต่ก็ไม่สามารถหยุดอุดมการณ์ในการเรียกร้องสิทธิเสรีภาพและการคืนสู่สภาวะปกติของประเทศตามครรลองของระบอบประชาธิปไตย 

"เราอยู่ภายใต้รัฐบาลทหารมา 4 ปีเศษ ผลกระทบที่เกิดขึ้นในแวดดวงวิชาการ โดยเฉพาะ 'นักวิชาการปีกประชาธิปไตย' หรือมีความเชื่อมโยงสนับสนุนกลุ่มเคลื่อนไหว ก็จะถูกเล่นงานในลักษณะของการเรียกไปเข้าค่าย 'ปรับทัศนคติ' ซึ่งจะเกิดขึ้นในพื้นที่ภาคเหนือและภาคอีสานเป็นส่วนมาก เพราะถูกมองว่าเป็น 'ขุมกำลัง' อันสำคัญของ 'พรรคเพื่อไทย' และ 'เสื้อแดง' " ผศ.ดร.อนุสรณ์ เปิดฉากคำตอบภายหลัง วอยซ์ ออนไลน์ ถามถึงพื้นที่วิชาการภายใต้รัฐบาลคสช. 

_MG_9977.JPG

ผศ.ดร.อนุสรณ์ อุณโณ

ส่วนพื้นที่กรุงเทพมหานครไม่ค่อยได้รับผลกระทบ เนื่องจากเป็นพื้นที่กลาง และยังมีความเกรงใจระดับหนึ่ง บวกกับในแง่ของการเคลื่อนไหว ก็ไม่ผูกชัดรวมไปถึงไม่ใช่ฐานการเมืองของเสื้อแดงหรือพรรคเพื่อไทย

แน่นอนว่าคำสั่งจากคสช.ต้องมีผลต่อเวทีวิชาการไม่มากก็น้อย โดยผศ.ดร.อนุสรณ์ เล่าว่าการจัดเสวนาทางวิชาการ ก็มีการห้ามงานที่พูดถึงการทำรัฐประหารหรือเผด็จการ เลยมีการขยับเพดาน เนื่องจากถ้าหากว่าพื้นที่ทางวิชาการไม่สามารถจะพูดถึงเรื่องปัญหาที่มันเกิดขึ้น ก็จะไม่เหลือพื้นที่ใดๆอีก

จะเห็นได้ว่าขบวนการทางการเมือง 'กึ่งจัดตั้ง' ไม่ว่าจะเป็น 'สี' อะไร ก็ถูกสลายอยู่ในลักษณะถอยร่นกันไปหมด ขณะที่แกนนำบางส่วนก็หนีไปต่างประเทศ ด้านนักวิชาการที่เคยออกมาเคลื่อนไหว ต่างเข้าสู่ที่ 'ซ่อนเร้น' 

"เพราะฉะนั้นมีเพียงพื้นที่ทางวิชาการในมหาวิทยาลัยที่พอทำได้ แต่ถึงมีแม้จะมีคำสั่งขึ้นมาแต่เราก็พยายามที่จะขยับ ด้วยการตั้งชื่องานเสวนาในทำนองวิชาการ ต่อมาในระยะหลังก็มีการขยับมากขึ้น ทำให้หัวข้อที่แหลมคมและท้าทาย ก็มีการต่อรองกันมาโดยลำดับ" ผศ.ดร.อนุสรณ์ กล่าว

ยกตัวอย่างเช่น มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็มีข้อตกลงกันเพราะเดิมทีต้องขออนุญาตสถานีตำรวจในพื้นที่ ก็กลายเป็นว่าไม่ต้องแล้ว ถ้าเกิดเป็นงานเสวนาทางวิชาการและไม่ขยับออกไปนอกรั้วธรรมศาสตร์ก็สามารถจัดได้ นอกจากการพยายามเข้ามาควบคุมความเคลื่อนไหวในแวดวงวิชาการ โดยเฉพาะงานเสวนาที่ท้าทายและแหลมคม รวมถึงการเรียนการสอน

"ในมหาวิทยาลัยที่ต่างจังหวัดและใน กทม.บางแห่ง ที่มีการจัดเรียนการสอนในบางวิชาที่เป็นวิชาการเมือง พอประกาศรายชื่อวิทยากรที่เข้าใจว่าจะวิพากษ์วิจารณ์คสช. ก็มีการนำกำลังตำรวจมาปิดล้อมตึก ไม่ให้วิทยากรเข้าไปในตึก ก็เป็นเหตุให้การเรียนการสอนในรายวิชานั้น ก็จัดไม่ได้ไปโดยปริยาย หรือมีการนำกำลังทหารหรือตำรวจมาสอดส่องบันทึกภาพถึงแม้จะอนุญาตให้จัด แต่ก็ทำให้ผู้เข้าร่วมงานอยู่ในบรรยากาศอึดอัด"

_MG_9962.JPG

ผศ.ดร.อนุสรณ์ อุณโณ


อีกกรณีที่มีการคุกคาม คือการลงรายชื่อในแถลงการณ์ เนื่องจากภายหลังการทำรัฐประหาร กลุ่มต่างๆก็หยุดการเคลื่อนไหว เหลือเพียงบางกลุ่มนั้นคือ 'นักศึกษา' ที่ลุกขึ้นมาอยู่แถวหน้าในการเคลื่อนไหวต่อต้านท้าย ซึ่งในระยะแรกก็มีการเคลื่อนไหวในเชิงสัญลักษณ์ อาทิชุมนุมครบรอบ 1 ปี รัฐประหาร การกินแซนวิส อ่านหนังสือ 1984 นำไปสู่การดำเนินคดีจับกุมคุมขัง ทำให้นักวิชาการก็เข้าไปเรียกร้องให้มีการปล่อยตัว ด้วยการออกแถลงการณ์และลงนาม โดยฉบับแรกมีนักวิชาการลงนาม 286 คน 

ทำให้หน่วยงานความมั่นคงตระหนกว่าจะมีนักวิชาการที่จะกล้าลงนามกันมากขนาดนี้ จึงไปสู่ขั้นตอนของการเข้าไปปราม โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยตามต่างจังหวัดที่มีค่ายทหารตั้งอยู่ด้วย ตั้งแต่การให้เข้าข่ายปรับทัศนคติ หรือโทรศัพท์ไปหาผู้บริหารมหาวิทยาลัยให้ปราม โดยรวบรวมบันทึกไว้ขณะนั้นได้ประมาณ 10 กรณี

ทำให้นักวิชาการที่อยู่ต่างจังหวัด 'ขอสนับสนุนอยู่ห่างๆ' เนื่องจากไม่สามารถต้านทานแรงประทะเหล่านี้ได้ ก็เป็นให้การเคลื่อนไหวในการสนับสนุนประชาธิปไตยชะลอตัวไป 

แม้ว่าบรรยากาศเริ่มผ่อนคลาย แต่ในการลงพื้นที่ของพลเอกประยุทธ์ ในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี ก็มีรายงานจากเพื่อนนักวิชาการว่า "ทหารมาขอนัดคุย เพื่ออยากจะเช็คว่าจะมีการเคลื่อนไหวหรือไม่" สะท้อนให้เห็นถึงความกังวลต่อนักวิชาการ ที่ถือเป็นกลุ่มเดียวที่ยังไม่สามารถปราบได้อย่างราบคาบ เพราะยังมีระยะห่างในการต่อรองกันได้ 

เมื่องานวิจัยต้องเชื่อมโยงนโยบาย คสช.

ขณะที่งานวิจัยหรือการเรียนการสอน ผศ.ดร.อนุสรณ์ ได้อธิบายการแทรกซึมเข้ามาในกระบวนการเรียนการสอนและงานวิชาการ ว่าสิ่งหนึ่งที่ถือเป็นแทรกแซงทางวิชาการ การแทรกแซงหลักสูตรการเรียนการสอน

โดยเฉพาะช่วง 2 ปีแรกหลังรัฐประหาร รัฐบาลคสช.มีความพยายาม ที่จะแทรกซึมเข้าไปในหลักสูตร โดยการอาศัยความสัมพันธ์ส่วนตัว ไปกำหนดให้บรรจุรายวิชาที่มีลักษณะสรรเสริญเยินยอทหาร ซึ่งมหาวิทยาลัยบางแห่งมีรายวิชา 'ว่าด้วยทหารกับการพัฒนา' ในแง่หนึ่งก็เป็นแทรกตัวเข้ามาเพื่อที่จะครอบงำพื้นที่ทางวิชาการ

ขณะเดียวกันในระยะหลังมีระเบียบที่ชัดเจนว่า ถ้าจะขอทุนสนับสนุนงานวิจัยจากหน่วยงานวิจัยของรัฐ จะต้องโยงกลับไปหาแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี หรือประเทศไทย 4.0 ซึ่งเป็นพยายามที่จะเอาความคิดของรัฐบาลเข้ามากำกับกระบวนการผลิตสร้างความรู้ในแวดวงวิชาการ ถือว่าเป็นการไม่เปิดให้วิพากษ์วิจารณ์ที่จะเกิดขึ้นได้ 

"เรารู้ดีว่ายุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี หรือ ประเทศไทย 4.0 สิ่งเหล่านี้มันถูกคิดขึ้นคล้ายๆค่อนข้างจะหยาบ ไม่ได้มีความรัดกุม มันจำเป็นต้องถูกวิพากษ์วิจารณ์ แต่เมื่อมันไม่สามารถวิจารณ์ได้ แต่กลับมีความพยายามสร้างความรู้ให้มาหนุนเสริมสร้างความแข็งแกร่ง ก็ถือว่าเป็นการริดรอนเสรีภาพ และพยายามที่จะครอบงำทางวิชาการ" 

อีกกรณีที่น่าสนใจคือสิ่งที่เกิดขึ้นในจังหวัดเชียงใหม่ที่มีลักษณะเฉพาะ เพราะนักวิชาการที่เชียงใหม่ถูกจับตามาตั้งแต่ต้น หลังรัฐประหารใหม่จำนวนมากที่นักวิชาการถูกเรียกไปปรับทัศนคติในค่ายทหาร เนื่องจากหลายคนถูกมองว่ามีส่วนเกี่ยวข้องหรือสนับสนุนมวชนคนเสื้อแดง หรือแม้กระทั่งผูกพันกับพรรคเพื่อไทย

ประยุทธ์ ทหาร Cover Template.jpg

ประยุทธ์ จันทร์โอชา

ภายหลังการจัดงาน 'ไทยศึกษา' ก็มีความพยายามที่จะเข้ามาควบคุมตั้งแต่ต้น กระทั่งในวันงานก็มีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบเต็มไปหมด และคอยสอดส่องบันทึกก่อความเดือดร้อน สร้างความหวาดวิตกต่อผู้ร่วมงาน จนมีคนที่ทนไม่ไม่ไหวออกไปชูป้าย "เวทีวิชาการไม่ใช่ค่ายทหาร" จนมีการฟ้องร้องคดีไป

ซึ่งวันนั้นกลุ่มนักวิชาการก็ถือโอกาสอาศัยเวทีวิชาการนานาชาติ ในการอ่านแถลงการณ์เรียกร้องให้รัฐบาลทหารคืนสิทธิเสรีภาพทางวิชาการ รวมไปถึงสิทธิของประชาชน แต่สิ่งที่ประหลาดคือการอ่านแถลงการณ์ไม่ถูกดำเนินคดี ทั้งที่วันนั้นเป็นการสื่อสารทางการเมืองอย่างชัดเจน 

แม้ว่าปัจจุบันถือว่าคลี่คลายไปเยอะแล้ว เมื่อรัฐบาลมีท่าทีให้มีการเลือกตั้งเกิดขึ้น อย่างน้อยก็กลางปีหน้า และมีการแต่งองค์ทรงเครื่องจัดทัพ เพื่อเข้าสู่สนามการเลือกตั้ง เพื่อจะทำอย่างไรในการคงอำนาจได้ต่อ จึงส่งผลให้บรรยากาศของการคุกคามในทางวิชาการลดลง

อย่างไรก็ตามผศ.ดร.อนุสรณ์ กลับเชื่อว่า เมื่อเกิดการเลือกตั้งเข้ามาจริงๆ การละเมิดและการคุกคามสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น 'ก็คงจะเกิดขึ้นอีก' เพราะอย่าลืมว่าการเลือกตั้งครั้งนี้มันเกิดขึ้น ภายใต้กฎระเบียบที่พิกลพิการ อาทิ ห้าพรรคการเมืองหาเสียง จึงเชื่อได้ว่าต้องมีคนถูกตั้งข้อหาถูกตัดสิทธิ ถึงเวลานั้นพื้นที่ทางวิชาการอาจจะมีความจำเป็น และเป็นแนวประทะใหญ่ที่สำคัญอีกครั้งนึง

เรื่องง่ายที่เกิดขึ้นยากในสังคมที่ไม่ปกติ

สำหรับทางออกของประเทศตอนนี้ ผศ.ดร.อนุสรณ์ มองว่ามันง่ายนิดเดียวแต่คงทำยากคือการคืนสภาวะปกติให้กับสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือผ่านการเลือกตั้งที่เสรีบริสุทธ์ยุติธรรม ซึ่งจะทำให้สังคมเดินหน้าต่อไปได้ เพราะสังคมนี้มันเป็นสังคมที่เคลื่อนตัวมานานแล้ว และมันถอยหลังกลับไปไม่ได้ กลุ่มคนมันอยู่ด้วยความแตกต่าง ไม่ว่าจะเป็นทางความคิด ทางผลประโยชน์ ทางเศรษฐกิจ หรือทางอำนาจทางการเมือง 

"ซึ่งพื้นที่แห่งเดียวที่คนต่อรองได้อย่างเสมอภาคคือระบอบประชาธิปไตย ทีทุกคนมีหนึ่งสิทธิหนึ่งเสียงเท่าๆกัน แต่ที่ผ่านมาพอมันถูกริบ เอาประชาธิปไตยไปมันก็ไม่เหลือกลไกลที่ให้แต่ละคนมาร่วมเจรจาต่อลองกันโดยเสมอหน้า ความแตกต่างนั้นมันถูกทำให้หดแคบหรือหายไป กลายเป็นว่ามีเพียงคนไม่กี่กลุ่มที่มากำหนดชะตากรรมของประเทศ ซึ่งในระยะสั้นคุณอาจจะเห็นความสงบแต่ในระยะยาวมันเป็นความพังทลายเสียมากกว่า อย่างที่เห็นในหลายเรื่องที่แก้ไม่ได้ เช่นปัญหาเศรษฐกิจ มันไม่สามารถที่จะใช้รูปแบบหรือการบริหารประเทศแบบนี้ได้"

สำคัญที่ว่ากลุ่มของชนชั้นนำที่พยายามจะรื้อฟื้นสถานะบทบาทอำนาจของพวกเขากลับมาอีกครั้งนึง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิ่งที่ผ่านการรัฐประหาร จะยินดีคืนให้เมื่อไหร่นี่คือโจทย์ใหญ่ อย่างไรก็ตามคิดว่าคงไม่พ้นพวกเราคนตัวเล็กๆ ที่จะต้องร่วมมือกันประสานเสียงส่งไปให้พวกเขารู้ว่าเราเองก็เป็นเจ้าของประเทศนี้ เราเกิดมาบนแผ่นดินนี้ เรามีสิทธิศักด์ศรีเท่าเทียมกันในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง ทำไมเราจะต้องอยู่ภายใต้การกดขี่ข่มเหงของคนกลุ่มน้อย มันจำเป็นที่เราจะต้องประสานพลังและเปล่งเสียงให้พวกเขาได้ยิน

อ่านเพิ่มเติม

พิชิตศักดิ์ แก่นนาคำ
ผู้สื่อข่าว Voice Online
91Article
1Video
0Blog