ไม่พบผลการค้นหา
วงเสวนา "ไทยไม่ทน" จตุพร ฟันธงแก้รัฐธรรมนูญไม่สำเร็จ เรื่องลวงโลกของรัฐบาลและ ส.ว. แนะ ปชช.ลดข้อเรียกร้องเหลือ "ประยุทธ์ออกไป" ด้าน 'พิภพ' อัด 'ประยุทธ์' ทรยศมวลชน อยากอยู่ยาว

ที่ห้องประชุมชั้น 3 สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย กลุ่มสภาที่สาม ร่วมกับคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 จัดงานเสวนา “ไทยไม่ทน: จาก รสช. คปค. คสช. ถึง 3 ป. มรดกรัฐประหารที่ตกค้างในแผ่นดินไทย"

จตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) กล่าวว่า การยึดอำนาจจะมาคู่กับการสืบทอดอำนาจโดยรัฐธรรมนูญทุกยุคทุกสมัย และหลักคิดของเผด็จการไม่ได้แตกต่างกัน โดยการแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 50 เดินมาถึงจุดนี้อีกเช่นกัน ช่วงที่เข้าสู่การพิจารณาจากวาระที่ 2 เข้าวาระที่ 3 ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยแบบครึ่งๆ กลางๆ มาครั้งนี้ก็เช่นกัน

การแก้ไขรัฐธรรมนูญจึงเป็นเพียงละครฉากหนึ่งที่หลอกกันไปมา และไม่เชื่อว่ารัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันนี้จะมีการแก้ไขได้สำเร็จ

เรื่องนี้เป็นเรื่องลวงโลกของรัฐบาลและ ส.ว.เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องเดียวที่จะต่ออายุให้กับพวกเขา เพราะที่มาและองคาพยพทั้งหมดก็มาจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ดังนั้นประชาชนต้องคิดกันใหม่เราจะถูกแบ่งแยกและทำลายเพื่อผู้ปกครองแบบนี้กันอีกหรือไม่ เราต้องสามัคคีประชาชนหากสามัคคีได้เร็ว ก็จะรวมตัวกันสู้ โดยเอาข้อเรียกร้องเพียงข้อเดียว คือ "ประยุทธ์ออกไป" หากทำได้สำเร็จข้อเรียกร้องอื่นก็จะได้ตามมา 


พิภพ อัด "ทรยศมวลชน"

พิภพ ธงไชย อดีตแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กล่าวว่า รัฐธรรมนูญเป็นเสมือนตราสังของสังคมไทย ตั้งแต่เกิดรัฐประหาร 2490 หลังจากนั้นรัฐธรรมนูญก็ถูกฉีกมาโดยตลอด โดยอาศัยการเคลื่อนไหวของประชาชนเป็นข้ออ้าง และรัฐธรรมนูญ 2560 ก็เกิดจากการฉีกรัฐธรรมนูญของ 2550

ในวันนี้ที่มีความผันผวนเรื่องรัฐธรรมนูญว่าจะแก้ไขได้หรือไม่จะต้องมีการลงประชามติก่อนหรือไม่ เหล่านี้ก็ยังอยู่ในยุทธศาสตร์ที่ว่าด้วยการอยู่ยาวตามคำพูดของ บวรศักดิ์ อุวรรณโณ และสิ่งที่ พล.อ.ประยุทธ์ได้ทำกับมวลชนซึ่งไม่ว่าจะเป็นจาก นปช. และ กปปส. โดยอาศัยมวลชนเป็นข้ออ้างในการรัฐประหารรัฐบาลของยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และจากนั้นมวลชนถูกข้อกล่าวหาขึ้นศาล ดังนั้นขอกล่าวหา พล.อ.ประยุทธ์ว่า "ทรยศมวลชน"


แนะลงวาระ 3 ก่อนประชามติ

ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กล่าวว่า ช่วงที่มีการเกิดเหตุการณ์นองเลือดในปี 35 ซึ่งรัฐธรรมนูญ 2534 เป็นที่มาของการนองเลือด ในความพยายามแรกของการร่างรัฐธรรมนูญคือมีการตั้ง ส.ว. แม้จะไม่มีอำนาจเลือกนายกรัฐมนตรี แต่ถูกซ่อนไว้ในบทเฉพาะกาล ทำให้ พล.อ.สุจินดา คราประยูร ได้เป็นนายกรัฐมนตรี และผู้ร่างรัฐธรรมนูญในขณะนั้นเป็นคนเดียวกับผู้ที่ร่างรัฐธรรมนูญ 2560 ที่กำหนดให้ ส.ว.มีอำนาจโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี และที่ร้ายแรงไปกว่านั้น รัฐธรรมนูญ 2534 ยังไม่มีองค์กรอิสระและยังไม่มีศาลรัฐธรรมนูญ

ในปัจจุบันเมื่อมีองค์กรอิสระและมีศาลรัฐธรรมนูญ คำถามคือ ใครให้ความเห็นชอบบุคคลที่เข้ามาดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระและศาลรัฐธรรมนูญ คำตอบก็คือ ส.ว.และคนที่เลือก ส.ว. คือ คสช. อย่างนี้แล้วจะมีการตรวจสอบกันได้อย่างไร  

ส่วน กรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเกี่ยวกับ หน้าที่และอำนาจของรัฐสภาในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งจะต้องมีการทำประชามติสอบถามประชาชนก่อนว่าเห็นด้วยหรือไม่ ส่วนตัวมองว่า ขณะนี้เป็นการแก้ไขมาตรา 256 ไม่ใช่การแก้ไขรัญธรรมนูญทั้งฉบับ ดังนั้นขั้นตอนการทำประชามติที่จะต้องไปสอบถามประชาชนนั้น ต้องเกิดขึ้นหลังจากที่รัฐสภาลงมติในวาระ 3 เสร็จแล้วค่อยไปทำประชามติถามประชาชนว่าเห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่