เมื่อวันที่ 15 พ.ย. 2563 จตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) กล่าวในรายการลมหายใจพีซทีวี เวทีทัศน์ ว่า จะมีสถานการณ์หลากหลายทางการเมืองถัดจากนี้ไป เนื่องจากในวันที่ 17-18 พฤศจิกายนนี้สภาจะมีการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญทั้ง 7 ฉบับ โดยแบ่งเป็นของฝ่ายรัฐบาล 1 ร่าง และของฝ่ายค้าน 5 ร่าง รวมถึง ของไอลอว์ 1 ร่าง
สถานการณ์จะทำให้การเมืองแคบมากขึ้น วงในเชื่อว่า สภาจะผ่านอนุมัติเพียงแค่ 2 ร่างเท่านั้นหรืออาจจะร่างเดียว คือ ร่างของรัฐบาลที่แก้ไขมาตรา 256 ให้มี ส.ส.ร.ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งทั้งหมดรวมถึงยกเว้นหมวด 1 และ 2
ส่วนร่างของพรรคฝ่ายค้านคือแก้ไขมาตรา 256 ไม่แตะหมวด 1 หมวด 2 และ ส.ส.ร.มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด นอกจากนี้ร่างที่แก้ไขรายมาตราอีก 4 ร่างของพรรคฝ่ายค้านคงจะถูกตีตก รวมถึงร่างสุดท้ายคือร่างของไอลอว์ ซึ่งเป็นเงื่อนไขหลักของผู้ชุมนุม
“เมื่อวานนี้ จตุภัทร์ บุญภัทรรักษาหรือ ไผ่ ดาวดินได้นัดหมายว่าวันที่ 17 พฤศจิกายนนี้จะเดินทางไปที่รัฐสภา ขณะเดียวกันหากฟังจากประธานสภาก็พิจารณาเรียงตามรายฉบับ แต่อย่างไรก็ตามนั้น ส.ว.จะต้องใช้เสียง 84 คือ 1 ใน 3 นั้นก็จะโหวตคว่ำ เหมือนกับร่างที่เป็นรายมาตรา นี่คือกระดานการเมืองที่ไม่มีทางจะเป็นอย่างอื่น เพราะเงื่อนไขตามรัฐธรรมนูญมาตรา 256 ที่ มีชัย ฤชุพันธุ์ได้ออกแบบไว้นั้น ไม่ได้ออกแบบไว้สำหรับการแก้ไข แต่ออกแบบไว้เพื่อส่งให้คณะรัฐประหารชุดใหม่ไว้ฉีกเท่านั้น”
จตุพร กล่าวว่า แม้ว่าสภาจะโหวตรับ 2 ร่างก็ตาม แต่ประชาชนจะไม่พอใจ บรรดานิสิตนักศึกษานักเรียนเมื่อเห็นว่าร่างของไอลอว์ถูกตีตก แม้จะมีการอธิบายว่าให้รับหลักการไปก่อนแล้วค่อยไปพิจารณากันในวาระ 2 แต่ตนดูท่าทีทั้ง ส.ว. และพรรครัฐบาลคงให้ผ่านเพียงแค่ 2 ร่าง และตีตกร่างของไอลอว์
ทั้งนี้ที่ผ่านมา ร่างของประชาชนในการเสนอแก้ไขกฎหมาย หรือการเสนอกฎหมายก็ตาม ไม่เคยประสบความสำเร็จแม้แต่เพียงครั้งเดียว ส่วนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในฉบับปี 50 ร่างของภาคประชาชนก็ถูกตีตกไป ดังนั้นประเทศไทยจึงไม่เคยมีการแก้ไขกฎหมายที่เสนอโดยประชาชนสำเร็จแม้แต่ฉบับเดียว
จตุพร กล่าวว่า แม้ 2 ร่างจะผ่าน การประชุมรัฐสภานัดถัดไปก็จะต้องบรรจุเรื่องที่ ส.ว.และ ส.ส.พรรคพลังประชารัฐยื่นญัตติผ่านสภาเพื่อขอให้ ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยร่างที่ตัวเองเสนอไปนั้นขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่
“เท่ากับว่าเป็นครั้งแรกในประเทศไทยที่ตัวเองสงสัยตัวเอง และก่อนหน้านี้ในสภาสมัยที่ผ่านมานั้นหลังจากอภิปรายจบก็เกิดแนวความคิดกันว่า ตั้งคณะกรรมาธิการเพื่อศึกษา ร่างของตัวเองและร่างของคนอื่นหลังจากอภิปรายเสร็จสิ้น ซึ่งตอนที่ตนอยู่ในสภาก็ไม่เคยพบเคยเห็น เพราะบรรดาสมาชิกรัฐสภา ไม่ว่ามาจากการเลือกตั้งหรือแต่งตั้ง จะได้รับร่างก่อนที่จะอภิปรายคือจะต้องศึกษา ต้องรู้อะไรกันเสร็จ อภิปรายจบต้องโหวตเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ หรืองดออกเสียงเท่านั้น แต่สภาชุดนี้กลับเสนอตั้งกรรมาธิการเพื่อศึกษาว่าร่างที่อภิปรายจบไปแล้วนั้นหมายความว่าอย่างไร เอาคนปัญญาอ่อนมานั่งประชุมพร้อมกันโดยมิได้นัดหมายกันหรืออย่างไร”
จตุพร กล่าวว่า ผู้มีอำนาจไม่ได้ต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญตั้งเเต่ต้น ในการประชุมสมัยวิสามัญที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ ได้พูดต่อสภาว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะเสร็จสิ้นในเดือนธันวาคมนี้ แต่กลับมี ส.ส. ส.ว.ในซีกรัฐบาลเตรียมยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความอีก อย่างนี้จะเสร็จทันเดือนธันวาคมหรือไม่ และอย่าอ้างว่าสั่งใครไม่ได้ หากประยุทธ์สั่งใครไม่ได้ ตนก็อยากร้องขอให้สั่งตัวเอง ให้ลาออก
จตุพร กล่าวถึงกรณีกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญนัดอ่านคำวินิจฉัยในวันที่ 2 ธันวาคมนี้ ปม พล.อ.ประยุทธ์อยู่บ้านพักในค่ายทหาร ว่า เรื่องนี้มีลักษณะคล้ายๆ กับสมัคร สุนทรเวช อดีตนายกฯ จัดรายการชิมไปบ่นไป ส.ว.ในขณะนั้นก็ไปยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคุณสมบัติ จนท้ายที่สุดถูกตีความว่าเป็นลูกจ้าง
วิษณุ รองนายกฯ ฝ่ายกฎหมาย พูดว่าหากนายกรัฐมนตรี พ้นจากตำแหน่งคณะรัฐมนตรีก็พ้นทั้งคณะ ทั้งนี้ในอดีตวิษณุเป็นรองนายกฯ ในสมัยรัฐบาล ดร.ทักษิณ ชินวัตร และก็ไปดึงบวรศักดิ์ อุวรรณโณ มาเป็นเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ก่อนการยึดอำนาจปี 2549 มีคนสองคนส่งสัญญาณลาออก คือ วิษณุ ลาออกจากรองนายกรัฐมนตรีและบวรศักดิ์ ลาออกจากเลขาธิการคณะรัฐมนตรี
หลังจากนั้นอีกไม่กี่วันก็มีการยึดอำนาจ เมื่อยึดอำนาจเสร็จก็ได้รับการแต่งตั้งเป็นทั้งคู่มีบทบาทที่สำคัญเพราะฉะนั้นหาจะดูรัฐบาลก็บอกให้ดูวิษณุ และวิษณุออกอาการแบ่งรับแบ่งสู้ ซึ่งก็ไม่เหมือนทุกครั้ง แต่ครั้งนี้ออกอาการ กระอึกกระอัก แต่คนก็อธิบายว่ารอด 99% แต่จตุพรขอเล่นเปอร์เซ็นต์ที่เหลือว่าไม่รอดในวันที่ 2 ธันวาคมนี้