ไม่พบผลการค้นหา
ประธาน นปช. ย้อน 10 ปี เหตุการณ์สลายชุมนุม นปช. เผยแกนนำเสื้อแดงยอมรับข้อเสนอ ส.ว.ยุติชุมนุมกลางดึก 18 พ.ค.2553 แต่ถูก ศอฉ.ลุยกระชับพื้นที่ แยกราชประสงค์ ชี้คนเสื้อแดงถูกสังหารก่อนเกิดเหตุเผาห้าง รับเจ็บปวดสู้ไม่ได้ ตลอด 10 ปีที่ทวงความยุติธรรม ฝ่ายเสียชีวิตกลับเป็นฝ่ายผิด ยก 6 ศพวัดปทุมฯ ถูกสังหารทีละศพจากการช่วยเหลือกัน ประชด รบ.อย่าเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

เมื่อวันที่ 18 พ.ค. 2563 นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เฟซบุ๊กไลฟ์ผ่านรายการ PEACE TALK หัวข้อ "รอยอดีตเดือนพฤษภา" โดยระบุว่า 18 พ.ค. มีหลายเหตุการณ์มากที่เป็นรอยต่อทางประวัติศาสตร์ สำหรับเหตุการณ์พฤษภาฯ 2535 ความตายของประชาชนส่วนใหญ่เกิดขึ้นในวันนี้ เนื่องจากฝ่ายปราบปรามเชื่อว่า ถ้าจับแกนนำได้แล้ว เมื่อการชุมนุมไร้แกนนำก็จะยุติ แต่ไม่ได้เป็นเช่นนั้น เพราะการชุมนุมไร้แกนนำได้นำไปสู่การล้อมปราบในคืนวันที่ 18 พ.ค. 2535 จนมีคนตายร่วมสูญหายร่วม 80 ชีวิต บาดเจ็บกว่า 6,000 คน

จากนั้นวันที่ 19 พ.ค.ตนนำการชุมนุมปักหลักต่อสู้ที่ ม.รามคำแหง จนต่อเนื่องมาถึงวันที่ 21 พ.ค. ซึ่ง ในหลวงรัชกาลที่ 9 เรียกแกนนำผู้ชุมนุมกับฝ่ายทหารเพื่อยุติความขัดแย้ง ถัดจากนั้นอีก 3 วัน พล.อ.สุจินดา คราประยูร ประกาศลาออกจากนายกรัฐมนตรี นอกจากนี้ วันที่ 18 พ.ค.เป็นรอยต่อสำคัญก่อนถึงวันที่ 19 พ.ค. ซึ่งเป็นคำตอบกับผู้คนทยอยออกมาอธิบายเหตุการณ์กันทุกปี และทุกปีอีกเช่นกันตนจะเจียมเนื้อเจียมตัวการพูดความจริงมาตลอด เพราะยิ่งพูดความจริงก็กลับเป็นคนผิดยิ่งขึ้น ตนยอมรับสภาพว่า ตนสู้ไม่ได้จริงๆ

การพยายามอธิบายภายหลังเหตุการณ์คณะก้าวหน้ายิงแสงเลเซอร์ตามหาความจริงนั้น ตนอยู่ในจุดที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ จึงต้องลุกขึ้นมาอธิบายเหตุการณ์ หากอธิบายไม่ระมัดระวังแล้ว ย่อมเกิดความย่อยยับอีกเช่นเคย เพราะความจริงจะเป็นเช่นไรนั้น ทุกคนที่เกี่ยวข้องย่อมรู้ดีหมด แต่เป็นความจริงที่คนพูดความจริงต้องกลายเป็นคนผิดเสมอ

ในคืนวันที่ 18 พ.ค.2553 นั้น พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ขณะนั้น พา ส.ว. ซึ่งรับภารกิจจากนายประสพสุข บุญเดช ประธานวุฒิสภา ว่าจะใช้วุฒิสภาเป็นสถานที่ยุติความตายความขัดแย้งหนนี้ บรรดาแกนนำประชุมร่วมกัน แล้วเห็นพ้องว่าต้องยุติความตายกันได้แล้ว เพราะเกิดความตายขึ้นทุกวัน เพลงนักสู้ธุลีดินเปิดขึ้นหนึ่งครั้ง ก็มีคนตายหนึ่งศพ ซึ่งเป็นความตายรับกันไม่ไหวทางความรู้สึก

นายจตุพร ระบุว่า พล.อ.เลิศรัตน์ เคยระบุว่า แกนนำ นปช.ยอมรับยุติการชุมนุมเพื่อเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม และขณะร่วมแถลงข่าวกับแกนนำ นปช.นั้น แต่ ศอฉ.กลับสั่งเคลื่อนกำลังทุกทิศทางมาที่แยกราชประสงค์ ดังนั้น สะท้อนได้ว่า การต่อสู้ทางการเมืองไม่สามารถต่อสู้กับการใช้กำลังทหารทุกรูปแบบ และนำอาวุธสงครามทุกรูปแบบ สไนเปอร์ ขนมาปราบผู้ชุมนุม ซึ่งต้องการมาถึงเวทีราชประสงค์อยู่ดี เรารู้ชะตากรรมว่า อะไรกำลังจะเกิดขึ้น และเราไม่สามารถยับยั้งการปราบนี้ได้

นายจตุพร ระบุว่า ในวันที่ 19 พ.ค.2553 ต้องประกาศยุติชุมนุม และตกลงให้ประชาชนเดินทางกลับทางถนนพระราม 1 ผ่านสยามพารากอนนั้น ไม่ได้เป็นไปตามสัญญา คนจึงไปตายกันที่วัดปทุมวนาราม ดังนั้น ประวัติศาสตร์คืนวันที่ 18 พ.ค. 2553 จึงเป็นหัวใจ ซึ่งเกิดจากการสะสมความตายเรื่อยมาและไม่หยุด เป็นความตายที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ก่อการร้าย เป็นคนไม่จงรักภักดี เป็นพวกเผาบ้านเผาเมือง ทั้งที่ทุกศพตายก่อนไฟไหม้ทั้งสิ้น ยกเว้น 6 ศพวัดปทุมฯ ที่ตายพร้อมไฟไหม้

“ตลอดเวลาเราทวงความยุติธรรมให้กับคนตาย ซึ่งก็สู้ไม่ได้เลย และบรรดาสารพัดโฆษกออกมายกตัวอย่างนั้น เอาเถอะท่านเป็นฝ่ายชนะ ผมเป็นฝ่ายตาย เป็นฝ่ายติดคุก ดีไม่อธิบายว่า พวกผมตายกันเองตามวาทกรรมฆ่ากันเอง แต่พวกผมรักกันมาก เพราะ 6 ศพวัดปทุมฯ ถ้าไปดูสำนวนพลิกศพแล้ว จะรู้ว่าแต่ละศพเขาตายให้กัน ศพหนึ่งตาย ศพที่สองไปช่วยศพที่หนึ่ง ศพที่สามไปช่วยศพที่สอง ศพที่สี่ไปช่วยศพที่สาม ศพที่ห้าไปช่วยศพที่สี่ และศพที่หกไปช่วยศพที่ห้า นั่นหรือครับฆ่ากันเอง”

นายจตุพร กล่าวว่า เหตุการณ์ทั้งปวง พ่อแม่วีรชนอยู่ท่ามกลางความเจ็บปวด แกนนำต่อสู้ทำหน้าที่เยียวยาประคับประคองหัวใจ และต้องต่อสู้คดีในชั้นศาล เมื่อมีการพูดแต่เอาดีใส่ตัวเอาชั่วให้คนอื่น แต่ถามจริงเชื่อแบบนี้หรือ ความตายร่วม 100 ศพ เขาตายจากอะไร และ 6 ศพวัดปทุมฯ ชันสูตรแล้วไม่มีเขม่าดินปืน ตนพูดความจริงมาตลอดจนต้องเข้าคุก และยิ่งตามหาความจริงยิ่งเจ็บปวด เพราะฝ่ายตายเป็นฝ่ายผิด ด้วยเหตุนี้ วันที่ 18 พ.ค.จึงเป็นรอยต่อประวัติศาสตร์ที่สำคัญ และการยึดอำนาจในปี 2557 ก็เป็นรอยต่อจากปี 2553 

“ถามว่า ต้องยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินหรือไม่ ผมไม่มีอะไรต้องวิตก คุณจะใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินเป็นชาติก็ช่างหัวคุณ เรื่องเยียวยาไม่ครบ คุณรับผิดชอบอยู่แล้ว ผมไม่ได้รับผิดชอบ เราได้แสดงความเป็นห่วงในฐานะเป็นคนไทย และผมไม่เห็นช่องทางว่า ประเทศจะไปอย่างไร ดังนั้น จะใช้อีกเป็นชาติก็เรื่องของคุณ ยุบสภาเลือกตั้งใหม่ก็ไม่จบเมื่อใช้รัฐธรรมนูญเดิมไม่แก้ไข”

นายจตุพร ย้ำว่า การยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เป็นการเริ่มต้นของการพลิกฟื้น เพราะสถานการณ์โลกไม่ได้เอื้ออะไรเลย แล้วในประเทศลำบาก เราจะอยู่กันอย่างไร เพราะไม่ได้คิดแบบเอาใจเขามาใส่ใจเรา

"วันนี้ถ้ามีความเชื่อว่า จำเป็นต้องรักษา พ.ร.ก.ฉุกเฉิน คุณเอาไปเลยอย่ายกเลิก เพราะเรียกร้องมีการยกเลิกไม่ฟัง ก็ยุส่งเลย อย่ายกเลิก อยู่ไป กอด พ.ร.ก.ฉุกเฉินไว้ หากยังไม่เข้าใจความอดยากของประชาชน ก็ช่วยไม่ได้”

ประธาน นชป. ย้ำว่า วันที่ 19 พ.ค. นปช.จะทำบุญที่วัดนวลจันทร์ เพื่ออุทิศบุญกุศลให้วีรชนที่ตายจากการชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยเมื่อพฤษภา 2553 จึงขอเชิญชวนพี่น้องมาร่วมงาน ซึ่งเริ่มตั้งแต่ 07.00 น.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง