เมื่อวันที่ 16 พ.ค. 2565 ที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง เครือข่ายรามคำแหงเพื่อประชาธิปไตย และภาคีฝ่ายต่างๆ ร่วมกันจัดงาน "รำลึก 30 ปี พฤษภาทมิฬ" พร้อมเสวนาในประเด็น "รัฐธรรมนูญต้องมาจากประชาชน" เพื่อรำลึกวีรชนที่ร่วมต่อสู้ในเหตุการณ์เมื่อปี 2535 ช่วงแรกได้มีพิธีสงฆ์เพื่อทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่วีรชนผู้ล่วงลับ จากนั้นมีการกล่าวรำลึกจากศิษย์เก่า ศิษย์ปัจจุบันและองค์กรต่างๆ ก่อนเริ่มวงเสวนา
ไทกร พลสุวรรณ นักเคลื่อนไหวทางการเมือง ในฐานะศิษย์เก่า ม.รามฯ กล่าวว่า วันนี้เครือข่ายรามคำแหงฯ ไม่เคยลืมการเสียสละของวีรชนที่แสดงเจตจำนงเพื่อปกป้องประชาธิปไตยและต่อต้านเผด็จการทหารเมื่อ 30 ปีที่แล้ว ซึ่งเหตุการณ์วันนั้นทำให้สูญเสียชีวิตประชาชนจำนวนมาก เพียงเพราะการแย่งชิงอำนาจของนักการเมืองและผู้มีอำนาจในกองทัพ จนนำมาสู่เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ
พร้อมกันนี้เปรียบเทียบว่า ผู้นำทหารวันนั้น พล.อ.สุจินดา คราประยูร เคยกล่าวไว้ว่า "ยอมเสียสัตย์เพื่อชาติ" เพราะเคยบอกจะไม่กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีก แต่ไม่เหมือนนายกฯ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ตระบัดสัตย์จนนับครั้งไม่ได้ ทำให้ประชาชนวันนี้ก็ยังนิ่งไม่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลง และการเปรียบเทียบ 2 ยุคของ 2 ผู้นำเผด็จการวันนี้ ทุกสิ่งทุกอย่างเปลี่ยนไป แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่เคยเปลี่ยนคือจิตวิญญาณประชาชนที่ไม่ย้อมก้มหัวให้เผด็จการทหาร ซึ่งวันนี้ประชาชนเห็นธาตุของระบบเผด็จการทหารและนักการเมืองที่สมคบคิดกันเพื่อเอื้อประโยขน์แก่พวกตนเอง
ฉะนั้นถึงเวลาแล้วที่ประชาชนต้องรวมตัวกันเพื่อสร้างความสามัคคีประชาธิปไตย และกำจัดระบอบเผด็จการทหารให้หมดไปจากประเทศนี้เสียที ซึ่งสิ่งที่จะทำได้คือ ต้องเปลี่ยนแปลงโครงสร้างรัฐเพื่อประชาชน ไม่ใช่เฉพาะคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง
ขณะที่ จตุพร พรหมพันธ์ ประธาน นปช. กล่าวว่า วันนี้ครบรอบ 30 ปีพฤษภาทมิฬ แต่ประเทศก็ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น ประเทศไทยยังอยู่ในวงจรอุบาทสลับอำนาจนักการเมืองกับทหารมาโดยตลอด ซึ่งนี่เป็นสาเหตุที่ทำให้ประเทศล้าหลัง ซึ่งตนอยากให้ทุกฝ่ายเห็นบทเรียนของ 30 ปีนี้ เพราะถ้าประชาชนสามัคคีกัน จะไม่มีอำนาจเผด็จการที่ไหนพังพลังของประชาชนได้ "พลังมือเปล่า มันใหญ่กว่าพลังที่มีอาวุธทั้งปวง" ดังนั้นต้องกลับมาทบทวนว่าเมื่อ 30 ปีที่แล้วเราสร้างเอกภาพให้เกิดขึ้นในประชาชนอย่างไร ควรจะกลับมาเพื่อประเทศนี้เสียใหม่เริ่มต้นใหม่ เปลี่ยนแปลงใหม่ไม่เช่นนั้น ประเทศเราก็จะถอยหลังต่อไป
จตุพร มองว่า วันนี้เลวร้ายกว่าปี 30 ปีที่เราโค่นล้มรัฐบาล รสช. เพราะประชาชนวันนั้นแข็งแกร่งเป็นหนึ่งเดียว ฉะนั้นมองว่าวันนี้ควรปลุกประชาชนทำให้กล้าเปลี่ยนนักการเมืองสยบยอม เพราะถ้าประชาชนสามัคคีกัน 100 ประยุทธ์ ก็เอาไม่อยู่ ซึ่งเป็นเรื่องที่ยากมากในยุคนี้
"ความหวังทั้งหมดอยู่ที่ประชาชน ถ้าประชาชนพร้อมเปลี่ยนแปลง ประเทศก็พร้อมเปลี่ยนแปลง ถ้าไม่พร้อมเปลี่ยนแปลงประเทศก็ยังคงมืดมน"
ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า รัฐธรรมนูญปี 2534 กับ 2560 เป็นคนเดียวกัน และชื่อก็คล้ายๆกัน รสช. กับ คสช. ซึ่งมีรูปแบบก็คล้ายกันคือการสืบทอดอำนาจของคนเก่าและใช้กลไกแบบเก่าๆ แต่รัฐธรรมนูญ ตั้งแต่ประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญมา 20 ฉบับ รธน.ปี 60 เป็น รธน.ที่เลวร้ายที่สุดตั้งแต่เรามี รธน.มาซึ่งประเทศไทยถอยหลังไปเยอะ ฉะนั้นตนมองว่าการแก้ที่ง่ายและเร็วที่สุดหลังเลือกตั้งควรตัดอำนาจ ส.ว.เลือกนายกฯ จากนั้นค่อยแก้เรื่องอื่น เพราะเราประเทศไทยโดยยึดหลัก 1 คน 1 เสียง และเชื่อว่าโอกาสการร่าง รธน.ใหม่จะมีโอกาสเกิดขึ้นในอีก 2 ปี เมื่อ ส.ว.หมดวาระ ตนจึงมองว่าความตื่นตัวในวันนี้คือรากฐานของประชาชน ซึ่งคราวนี้อยู่ที่ว่าจะทำอย่างไร ไม่ให้ประชาธิปไตยล้มเหลวอีก
"เผด็จการปกครองเราไม่ได้ ถ้าเราปกครองเป็น เผด็จการปกครองเราไม่ได้ ถ้าเราปกครองตัวเองได้"
ทั้งนี้ มองว่า หลังเลือกตั้งประชาชนควรกดดันให้ ส.ว.ให้สภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) เป็นคนเลือกนายกฯ และผลเป็นอย่างควรเป็นไปตามนั้น