ไม่พบผลการค้นหา
ทีมอาสาสมัครแพทย์ DNA ชี้แจงข้อเท็จจริงหลังเกิดกระแสข่าวว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ได้ทำร้ายร่างกาย 'นิว' สมาชิก DNA แต่พบว่ารถล้มจึงเข้าไปช่วยพยุง รับเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นจริง แต่เกิดขึ้นหลังจากที่นิวถูกตีจนสลบ และการพยุงตัวนั้นเป็นส่วนหนึ่งของการจับกุมตัวขึ้นรถไป ค่าย ตชด. ภาค 1

ที่สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ทีมอาสาสมัครแพทย์ DNA จัดการแถลงข้อเท็จจริง กรณีที่หนึ่งในสมาชิก DNA ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดควบคุมฝูงชนรุมทำร้ายร่างกาย ระหว่างสลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 13 ก.พ. ที่ผ่านมา

ตูน สมาชิกทีม DNA เล่าถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นช่วงที่มีการชุมนุมเมื่อวันที่ 13 ก.พ. 2564 ว่า ทีม DNA ได้เข้าไปในพื้นที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเพื่อเตรียมการให้ความช่วยเหลือทางการแพทย์ แต่เมื่อมีการเคลื่อนขบวนไปยังศาลหลักเมือง ทีม DNA ก็ได้เคลื่อนย้ายตามไปด้วย โดยเข้าไปอยู่ในจุดที่กั้นไว้เป็นพื้นที่ SAFE ZONE ซึ่งอยู่ในพื้นที่สนามหลวง เพื่อกันตัวเองไม่ให้อยู่ใกล้กับแนวปะทะระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดควบคุมฝูงชน และมวลชน

ตูน กล่าวต่อว่า หลังจากที่แกนนำประกาศยุติการชุมนุม และช่วงที่เจ้าหน้าที่ตำรวจประกาศว่าจะสลายการชุมนุมภายใน 30 นาที ทีมแพทย์ได้เริ่มต้นเก็บของ เครื่องมือต่างๆ เพื่อออกจากพื้นที่ แต่ปรากฎว่า ผ่านไปไม่เกิน 10 นาที เจ้าหน้าที่ตำรวจก็เริ่มต้นสลายการชุมนุมทันที ทางทีม DNA จึงเร่งเก็บขน เพื่อถอยออกห่างจากพื้นที่แรกที่เจ้าหน้าที่ตำรวจได้เข้าควบคุมไว้ ต่อมาเมื่อเจ้าหน้าที่ได้กระชับพื้นที่เข้ามาเพิ่มอีกระยะหนึ่ง กอล์ฟหนึ่งในทีม DNA เหตุสุดวิสัยคือ รถจักรยานยนต์เสียสตาร์ทไม่ติด ขณะที่เจ้าหน้าที่วิ่งไล่เข้ามาพอดี จึงทำให้เขาตกอยู่ในวงล้อมของเจ้าหน้าที่

ตูน กล่าวต่อว่า เมื่อเธอทราบว่ามีทีมงานติดอยู่ในวงล้อมของเจ้าหน้าที่ตำรวจ จึงได้เข้าไปเพื่อขอให้เจ้าหน้าที่ปล่่อยตัวเขาออกมา แต่เมื่อเดินเข้าไปเพื่อที่จะพูดคุยกลับถูกเจ้าหน้าที่เข้ามาล้อมไว้เช่นเดียวกัน และมีจำนวนหน้าที่อีกจำนวนหนึ่งวิ่งเข้าไปหาสมาชิก DNA อีกคนคือ นิว (ผู้ซึ่งปรากฎอยู่ในภาพถ่ายที่ล้มลงนอนท่ามกลางวงล้อมของเจ้าหน้าที่) ซึ่งนิวได้พยายามแสดงตัวว่าเป็นทีมเเพทย์อาสา ตามแนวปฏิบัติที่ได้วางกันไว้ในกรณีที่อาจจะถูกควบคุมตัว หลังจากนั้นมีเจ้าหน้าที่คนหนึ่งบอกกับ นิว ว่าให้ค่อมรถจักรยานยนต์ไว้ โดยพูดชัดเจนว่า "ทีมแพทย์ค่อมรถมอเตอร์ไซด์ไว้" แต่จากนั้นเพียงเสี้ยววินาที มีเจ้าหน้าที่กลุ่มหนึ่งที่เพิ่งวิ่งมาถึง ได้เข้ามาถีบรถจนล้มลง และทำร้ายร่างกายนิว ทันทีโดยไม่ได้มีการสอบถามว่าเป็นใคร

ตูน กล่าวต่อว่า กรณีที่มีการอ้างว่า เจ้าหน้าที่ไม่ได้เข้าไปทำร้ายร่างกายแต่อย่างใด โดยภาพที่ปรากฎออกมาเป็นภาพที่เจ้าหน้าที่ตำรวจเห็นว่า นิว รถล้ม แล้วพยายามเข้าไปพยุงตัวขึ้นมานั้น ในความเป็นจริงแล้วเจ้าหน้าที่ตำรวจได้พยุงตัวนิวขึ้นมาจริง แต่เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหลังจากที่นิวโดนทำร้ายร่างกาย อย่างไรก็ตามการพยุงตัวนิวขึ้นมาก็ไม่ได้เป็นการเข้าให้การช่วยเหลือแต่อย่างใด หากแต่เป็นการเข้าควบคุมตัว และนำตัวไปควบคุมไว้ยัง ค่าย ตชด. ภาค 1

โดยสรุปแล้ว มีสมาชิก DNA ทั้งหมด 3 คนที่อยู่ในวงล้อมของเจ้าหน้าที่ตำรวจ คนแรกคือ กอลฟ์ ซึ่งรถเสียระหว่างออกจากพื้นที่ เขาถูกเจ้าหน้าที่ตำรรวจกระชากตัวลงจากรถ และปลดสิ่งของทุกสิ่งออกจากร่างกาย ซึ่งระหว่างนั้น ตูน ได้เดินเข้าไปในเผชิญหน้ากับเจ้าหน้าที่เพื่อยืนยันว่า กอลฟ์ เป็นสมาชิกทีมแพทย์จริง และคนที่สามคือ นิว ซึ่งถูกเจ้าหน้าที่รุมทำร้ายร่างกาย

เมื่อผู้สื่อข่าวถาม นิว ว่า จำเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้หรือไม่ เขาตอบว่า ระหว่างที่รอ ตูน ซึ่งเข้าไปเจรจากับเจ้าหน้าที่ตำตำรวจ พบว่ามีเจ้าหน้าที่ประมาณสองนายวิ่งเข้ามาหาเขา โดยเขายกมือทั้งสองข้างขึ้นพร้อมแสดงตัวเองว่าเป็นสมาชิกทีมแพทย์ DNA และหลังจากนั้นก็จำได้เพียงว่าตนเองถูกทำร้าย และรู้สึกตัวอีกทีคือช่วงที่ตนเองกำลังถูกจับกุม ด้าน ตูน ให้ข้อมูลว่า ผลการตรวจร่างกายพบว่า นิวมีรอยที่ถูกตีด้วยกระบองบริเวณไหล่ด้านขวา กลางหลัง ต้นแขน และบริเวณข้อเท้า ซึ่งหลังจากนี้จะเข้าเเจ้งความเอาผิดกับเจ้าหน้าที่ต่อไป

ทั้งนี้ในการแถลงข่าวมีการเล่าถึงที่มาของ ทีมเเพทย์อาสา DNA ด้วยว่า เกิดขึ้นจากการรวมตัวของเเพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่การเเพทย์ฉุกเฉิน และอาสาสมัครที่เข้ามาด้วยจิตใจที่ต้องการให้ความช่วยเหลือด้านการแพทย์ระหว่างการชุมนุม อย่างไรก็ตามทีม DNA ไม่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของแพทย์สภา ส่วนอุปกรณ์ทางการแพทย์นั้นได้รับมาจากการบริจาค และจัดหากันมาเอง โดยทีม DNA ยึดหลักแห่งวิชาชีพว่า จะให้ความช่วยเหลือโดยไม่เลือกว่าใครอยู่ฝ่ายใด และในนามของ DNA เองก็ไม่เคยแสดงความเห็นทางการเมือง

สำหรับสมาชิกที่เข้ามาร่วมงานกับทีม DNA นั้น ได้รับการคัดกรองมาอย่างดี มีการกระบวนการตรวจสอบประวัติ และติดตามการทำงานของสมาชิกทุกคนอย่างละเอียด และเมื่อมีการลงพื้นที่หน้างานไปแล้ว หากพบว่าสภาพกิจกรรมไม่ได้เป็นไปตามที่มีการเตรียมการไว้ หากมีความเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายขึ้น ทางทีมจะให้ผู้ประสานงานที่อยู่หน้างานสามารถตัดสินใจว่าจะมีแนวปฏิบัติอย่างไรต่อสถานการณ์นั้น ซึ่งทุกคนที่ทำงานในทีมพยาบาลควรได้รับการปกป้องเป็นพิเศษตามสนธิสัญญาเจนีวา ไม่ว่าบุคคลนั้นจะเป็นเเพทย์ พยาบาลหรือไม่ก็ตาม เพราะในการทำงานเพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ได้รับบาดเจ็บในการชุมนุม จำเป็นต้องมีทีมงานที่หลากหลาย หากมีเฉพาะแพทย์ หรือพยาบาลเท่านั้น ก็อาจจะไม่สามารถทำงานในส่วนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการช่วยเหลือ หรือให้บริการด้านการรักษาพยาบาลได้ เช่น การขนของ การขับรถ การเคลื่อนย้ายผู้ได้รับบาดเจ็บ และอื่นๆ