ไม่พบผลการค้นหา
นักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ชี้การใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐในจับกุมผู้ชุมนุมหลายกรณีเป็นการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐาน ทั้งจับกุมยามวิกาล การควบคุมตัวในสถานที่ซึ่งไม่ชอบด้วยกฎหมาย และใช้กำลังควบคุมม็อบอย่างไม่ได้สัดส่วน และเกินความจำเป็น ขอรัฐหยุดใช้อำนาจนอกกรอบ กม. หยุดใช้ความรุนแรง และยุติการดำเนินคดีที่ไม่เป็นธรรม

ภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน แถลงข่าวขอให้รัฐหยุดใช้อำนาจนอกกรอบกฎหมาย หยุดใช้ความรุนแรง หยุดดำเนินคดีที่ไม่เป็นธรรม โดยมีองค์กรที่อยู่ในภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนเข้าร่วมแถลงข่าวประกอบด้วย คอรีเยาะ มานุแช นายกสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน , เยาวลักษณ์ อนุพันธ์ุ ผู้อำนวยการศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน , วีรวัฒน์ อบโอ ตัวแทนจากมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน , รัฐศักดิ์ อนันตริยกุล ตัวแทนจากสมาพันธ์นักกฎหมายเพื่อสิทธิเสรีภาพ , สมชาย อามีน ตัวแทนจากสมาคมนักกฎหมายคุ้มครองสิทธิและสิ่งแวดล้อม , พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม และยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน(iLaw)

พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ กล่าวว่า กรณีที่เกิดขึ้นกับกลุ่มผู้ชุมนุมที่เป็นประเด็นในเวลานี้คือ การจับกุมกลุ่มผู้ชุมนุมทั้งที่มีหมายจับ และไม่มีหมายจับ โดยเป็นการควบคุมตัวไปยังสถานที่ซึ่งไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ประเด็นนี้ทำให้เห็นว่าการทำหน้าที่ของรัฐ ผ่านการทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจ และเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง ไม่ได้วางอยู่บนฐานของการเคารพสิทธิของประชาชน โดยเฉพาะการนำตัวผู้ชุมนุมไปควบคุมตัวไว้ยังสถานที่ห่างไกล เช่น กองบังคับการตำรวจตะเวนชายแดน ซึ่งตั้งอยู่ในจังหวัดปทุมธานี ทำให้ผู้ชุมนุมที่ถูกควบคุมตัวไม่สามารถได้รับสิทธิขั้นพื้นฐาน เช่น การสื่อสารให้ญาติได้รับทราบ หรือการติดต่อสื่อสารกับทนายความ

พรเพ็ญ ระบุด้วยว่า นอกจากการถูกตัดขาดจากการได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานแล้ว ในหลายกรณียังพบว่า ผู้ชุมนุมที่ถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวถูกละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานด้วย เช่น ระหว่างที่ถูกควบคุมตัวขึ้นรถถูกเจ้าหน้าที่ใช้ถุงดำคลุมหัว หรือใช้ผ้าคาดปิดตาระหว่างเดินทาง นอกจากนี้ยังรวมถึงการไม่แจ้งข้อกล่าวหาให้ผู้ถูกควบคุมตัวทราบ และการไม่เปิดเผยหรือระบุตัวตนของเจ้าหน้าที่รัฐผู้ทำการจับกุม

"เราต้องการให้เจ้าหน้าที่เคารพสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้ชุมนุม ผู้ถูกจับกุมในทุกกรณีไม่ว่าจะเป็นข้อหาทางการเมือง หรือข้อหาที่ยังสุ่มเสี่ยงที่จะตีความว่าผิดกฎหมายบ้านเมืองหรือไม่ และเราต้องการที่จะยุติการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐที่ผิดกฎหมายอย่างชัดเจน" พรเพ็ญ กล่าว

วีรวัฒน์ อบโอ กล่าวถึงกรณีการจับกุมตัวผู้ชุมนุมว่า ช่วงที่ผ่านมามีหลายกรณีที่เจ้าหน้าที่มักเข้าจับกุมในยามวิกาล เช่น การจับกุม นิว ศิริชัย นาถึง นักศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทั้งนี้การใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ตำรวจ จะต้องเป็นไปตามความมุ่งหมายของกฎหมาย ซึ่งกรณีที่มีการเข้าจับกุม นิว ในยามวิกาลนั้น จะทำได้ก็ต่อเมื่อมีเหตุผลรองรับเท่านั้น และก็ต้องเป็นไปตามขั้นตอนทางกฎหมายด้วย โดยการขออนุญาต หรือขอคำสั่งจากศาลเป็นพิเศษ

อย่างไรก็ตาม วีรวัฒน์ ย้ำว่า กรณีการถูกจับกุมจากการทำกิจกรรมทางการเมือง นั้นเป็นเพียงการออกมาแสดงความคิดเห็น ตามสิทธิเสรีภาพที่ประชาชนสามารถทำได้ ฉะนั้นผู้ที่ถูกออกหมายจับจากการกระทำดังกล่าว ไม่ควรถือเป็นเหตุผลให้เจ้าหน้าที่เข้าไปจับกุม หรือ ตรวจค้น ในยามวิกาลได้ และการใช้กฎหมายของเจ้าหน้าที่รัฐควรตั้งอยู่บนฐานของการเคารพสิทธิ และเป็นไปโดยความมุ่งหมายของกฎหมายเท่านั้น

ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ กล่าวถึงประเด็นสำคัญอีกหนึ่งเรื่องคือ การใช้เสรีภาพในการชุมนุม และการควบบคุมการชุมนุมโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ ว่า ช่วงที่ผ่านมักปรากฎในภาพข่าวว่า มีเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดควบคุมฝูงชนจัดกำลังเตรียมการควบคุมการชุมนุมอยู่บ่อยครั้ง ทั้งที่ผู้ชุมนุมกลุ่มราษฎรได้ประกาศไว้ตั้งแต่เดือน ธ.ค. 2563 ว่า ในช่วงนี้จะพักการชุมนุมออกไปก่อนเพราะมีสถานการณ์โควิดเกิดขึ้น อย่างไรก็ตามกิจกรรมการเเสดงออกทางการเมืองในเดือน ม.ค. 2564 มักจะเป็นกิจกรรมย่อยๆ เช่น การติดป้ายผ้า การรวมตัวหน้าสถานีตำรวจประมาณ 30-50 คน แต่ก็พบว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจมีท่าทีแบบใหม่ ในการควบคุมการชุมนุมอย่างเข้มงวด ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นการควบคุมโดยใช้กำลังที่ไม่ได้สัดส่วน และเกินความจำเป็น

ยิ่งชีพ กล่าวถึงกรรีตัวอย่างคือ วันที่ 16 ม.ค. 2564 ซึ่งการรวมตัวกันเขียนป้ายผ้าที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ โดยกลุ่มผู้ชุมนุมประมาณ 10 กว่าคนเท่านั้น แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจก็ใช้กำลังเข้าจับกุม และยึดป้ายผ้าดังกล่าวไป โดยอ้างว่าเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ว่าด้วยมาตรการควบคุมโรค ทั้งที่ผู้ชุมนุมมาทำกิจกรรมกันจำนวนไม่มาก แต่ในเจ้าหน้าที่รัฐมีจำนวนประมาณ 100 กว่าคน หลังจากไม่สามารถทำกิจกรรมที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ก็มีการประกาศนัดรวมตัวกันที่ สามย่านมิดทาวน์ ซึ่งมีผู้ชุมนุมมารวมตัวกันประมาณ 100 คน ส่วนเจ้าหน้าที่ตำรวจมีกำลังประมาณ 200 กว่าคน พร้อมโล่ห์ และกระบอง มีการตั้งแถวเดินเข้ามาจับกุมควบคุมตัวผู้ชุมนุมไปหลายคน โดยอ้างข้อกล่าวหาตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ซึ่งกรณีก็ถือเป็นการใช้กำลังที่ไม่ได้สัดส่วนกับการกระทำของผู้ชุมนุม และเกินความจำเป็น


ทั้งนี้ภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ได้ออกแถลงการณ์ เรียกร้องให้รัฐหยุดใช้อำนาจนอกกรอบกฎหมาย หยุดใช้ความรุนแรง หยุดดำเนินคดีที่ไม่เป็นธรรมด้วย โดยมีรายละเอียดดังนี้

แถลงการณ์ภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน

ในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ตำรวจได้เข้าสลายการชุมนุมของประชาชานมาอย่างต่อเนื่อง มีสถานการณ์การสลายการชุมชนและการควบคุมตัวผู้ชุมนุมหลายเหตุการณ์ที่ภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนเห็นว่าเป็นการใช้อำนาจเกินส่วนของเจ้าหน้าที่อันเป็นการละเมิดต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน เช่น

กรณีที่ 1 การควบคุมตัวผู้ชุมนุม ไปที่กองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดน ภาค 1 โดยไม่มีกฎหมายให้อำนาจไว้ คือ ตามกฎหมายแล้วเจ้าหน้าที่ตำรวจจะต้องควบคุมตัวผู้ต้องหาไปยังสถานีตำรวจที่มีอำนาจสอบสวน แต่กลับไม่เป็นเช่นนั้น เจ้าหน้าที่ตำรวจกลับควบคุมตัวผู้ต้องหาไปยังกองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดน ภาค 1 ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2563 ถึงปัจจุบัน เราพบกรณีนี้อย่างน้อย 2 คดีคือ เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2563 กรณีการ์ดวีโว่ ขายกุ้ง บริเวณสนามหลวง และเมื่อวันที่ 16 มกราคม 2564 กรณีเขียนป้ายผ้า 112 เมตร ที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิและสามย่าน ทั้งสองเหตุการณ์นี้เจ้าหน้าที่ตำรวจจำนวนมากใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุม และควบคุมตัวผู้ชุมนุมบางคนโดยการล็อคข้อมือ ด้วยสายเคเบิลไทด์ และยึดมือถือไปโดยที่ไม่ได้รับความยินยอม ทำให้ผู้ต้องหาไม่ได้รับสิทธิในการติดต่อทนายความ ญาติ และบุคคลที่ไว้วางใจในโอกาสแรกที่ถูกควบคุมตัว ทั้งนี้ข้อกล่าวหาที่แจ้งนั้นเป็นความผิดที่มีอัตราโทษน้อย เช่น ความผิดตาม พรก.ฉุกเฉินฯ ซึ่งถูกประกาศใช้ด้วยวัตถุประสงค์ในการควบคุมโรค แต่ถูกนำมาใช้อย่างเข็มงวดกับกลุ่มผู้เห็นต่างทางการเมือง ความผิดตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ และ พ.ร.บ.ความสะอาดฯ เป็นต้น

กรณีที่ 2 การจับตัวประชาชนในยามวิกาล โดยไม่มีเหตุอันสมควร กรณีนี้ภาคีฯ พบว่ามีจับกุมโดยมิชอบลักษณะนี้อย่างน้อย 3 กรณี คือ วันที่ 14 มกราคม 2564 ที่มีการจับกุมนิว สิริชัย แนวร่วมธรรมศาสตร์ฯ นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่หอพักใกล้บริเวณมหาลัยธรรมศาสตร์ ในยามวิกาล

กรณีอาร์ท ทศเทพ การ์ดวีโว่ ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจเชิญไปสถานีตำรวจภูธรบางแก้ว ตั้งแต่วันที่ 15 มกราคม 2564 ถึงวันที่ 17 มกราคม 2564 ซึ่งอาจถือได้ว่าเป็นการควบคุมตัวเกิน 48 ชั่วโมง ตามที่กฎหมายได้ให้อำนาจไว้ ผู้ถูกเชิญตัวเสี่ยงต่อการถูกบังคับให้สูญหาย

กรณีทีมงานฉายโปรเจกเตอร์ใส่ตึกศรีจุลทรัพย์ ถูกนำตัวไปสถานีตำรวจนครบาลสมเด็จเจ้าพระยา ในช่วงกลางดึกของวันที่ 23 มกราคม 2564 โดยตำรวจไม่ได้แจ้งข้อกล่าวหาใดๆ แจ้งแต่เพียงว่ามีพฤติการณ์ต้องสงสัยเท่านั้น พร้อมทั้งทำการค้นตัวและของทุกอย่าง และมีการนำบัตรในกระเป๋าสตางค์ทุกใบมาเรียงแล้วถ่ายรูปไว้ ซึ่งตลอดเวลามีการข่มขู่ว่าหากไม่ปฏิบัติตามจะแจ้งข้อหาขัดขืนคำสั่งเจ้าพนักงาน หรือ

กรณีล่าสุด ในวันที่ 28 มกราคม 2564 เจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจนครบาลปทุมวัน เป็นจำนวนกว่า 10 นาย เข้าจับกุมทีมงานของการ์ดภาคีเพื่อประชาชน โดยแจ้งข้อกล่าวหาว่าเป็นผู้ที่โยนระเบิดที่สามย่าน เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2564 โดยเป็นการเข้าจับกุมผู้ต้องหาที่บ้านพักในยามวิกาล เป็นต้น

กรณีที่ 3 เจ้าหน้าที่รัฐใช้ความรุนแรงเกินกว่าเหตุ ในการสลายการชุมนุม และควบคุมตัวผู้ชุมนุมที่ใช้สิทธิเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบ เช่น เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2563 กรณีที่การ์ดวีโว่ได้ทำการรื้อลวดหนามที่กางไว้บริเวณแยกอุรุพงษ์เป็นระยะเวลานาน จนส่งผลให้ประชาชนใกล้เคียงได้รับความเดือดร้อน แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจกลับเข้าใช้กำลังควบคุมตัวการ์ดวีโว่ ตลอดจนการใช้ความรุนแรงกับการ์ดวีโว่ในกรณีที่ไปขายกุ้ง บริเวณสนามหลวง ก่อนถูกนำตัวไปตชด.ภาค 1 และล่าสุดเมื่อวันที่ 25 มกราคม 2564 ที่หน้าสถานีตำรวจนครบาลพญาไท เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ใช้ความรุนแรงกับมวลชนที่ไปให้กำลังใจเพื่อนที่ถูกควบคุมตัวในสถานีตำรวจ จากเหตุการณ์แขวนป้ายผ้า save บางกลอย จนเป็นเหตุให้ผู้เข้าร่วมบางคนได้รับบาดเจ็บและเยาวชนหญิงคนหนึ่งหกล้มศรีษะฟาดพื้นได้รับบาดเจ็บจาการปฏิบัติติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ

จากกรณีที่กล่าวมาข้างต้นเห็นได้ว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจผู้มีหน้าที่ในการพิทักษ์สันติราษฎร์ได้นำกฎหมายในมือของตนมากลั่นแกล้งประชาชนด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม ด้วยการใช้พระราชบัญญัติรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. 2535 พระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 พระราชบัญญัติเครื่องกระจายเสียง รวมถึงพระราชกำหนดในสถานการณ์ฉุกเฉินฯที่ประกาศใช้เพื่อการควบคุมโรค ซึ่งกฎหมายต่างๆเหล่านี้ ล้วนเป็นกฎหมายที่เป็นลหุโทษหรือมีอัตราโทษเพียงเล็กน้อย ซึ่งความผิดเหล่านี้ไม่มีความจำเป็นใดๆที่เจ้าหน้าที่ตำรวจจะต้องใช้สนธิกำลังเจ้าหน้าที่จำนวนมากในการเข้าจับกุมหรือควบคุมตัวนำตัวไปที่สถานีตำรวจ มีการใช้เครื่องพันธนาการ อันเป็นการใช้อำนาจหน้าที่เกินสัดส่วนก้าวล่วงสิทธิเสรีภาพของประชาชน ทั้งนี้ แม้การจับกุมจะเป็นการจับกุมด้วยข้อหาที่ไม่ร้ายแรงแต่การใช้กฎหมายเล็กๆน้อยๆลักษณะนี้ เป็นการใช้กฎหมายเพื่อกลั่นแกล้งประชาชนให้ต้องได้รับความเดือดร้อนเกินสมควร และเป็นการขัดขวางต่อการใช้สิทธิเสรีภาพของประชาชนตามที่รัฐธรรมนูญได้บัญญัติไว้อย่างอย่างแรง

และวันที่ 28 มกราคม 2564 เจ้าหน้าที่ตำรวจ สถานีตำรวจนครบาลชนะสงคราม มีความเห็นสั่งฟ้องคดีของกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์ฯ ในการชุมนุม 19 กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร ทั้งๆที่ผู้ต้องหาพึ่งทำการไปรับทราบข้อกล่าวหาเพิ่มเติมเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา โดยไม่ได้ให้โอกาสแก่ผู้ต้องหาที่ร้องขอยื่นคำให้การเป็นหนังสือภายในกำหนดเวลา 30 วัน อีกทั้ง แจ้งว่าหากผู้ต้องหาไม่มาส่งตัวต่อพนักงานอัยการจะทำการออกหมายจับ และในวันเดียวกัน พนักงานอัยการสำนักงานคดีเยาวชนและครอบครัว 3 ส่งสำนวนคดีฟ้องต่อศาลกรณีนักเรียนเลวปราศรัยเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2563 บริเวณแยกราชประสงค์ต่อศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง โดยไม่ได้พิจารณาหนังสือร้องขอความเป็นธรรม ตัดโอกาสผู้ต้องหาที่เป็นเยาวชนในการชี้แจงข้อเท็จจริงเพื่อประกอบสำนวนการพิจารณาสั่งคดีของอัยการ

สังเกตได้ว่าหลังจากที่พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนเมื่อวันที่ 16 มกราคม 2564 ในกรณีที่ไปติดตามกรณีกลุ่มการ์ด We Volunteer โดยระบุในทำนองว่า หากจำเป็นต้องใช้กำลัง ก็สามารถกระทำได้ ให้ใช้กฎหมายในทุกข้อหา ไม่ลังเล สงครามยังไม่จบอย่าพึ่งนับศพทหาร และยังแถลงอีกว่าได้เตรียมพิจารณาดำเนินการทางวินัยกับเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ปล่อยปละละเลยให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้น การที่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติกล่าวต่อสาธารณะชนเช่นนี้ ชี้ให้เห็นได้ว่าผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติมองกลุ่มผู้ชุมนุมเป็นศัตรูในการสงคราม ซึ่งเป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะเจ้าพนักงานตำรวจที่จะต้องให้การคุ้มครองประชาชนและปฏิบัติตามกฎหมาย เพราะในสงครามจะไม่สนใจในเรื่องการปฏิบัติตามกฎหมาย ทำให้เห็นว่าเป็นการส่งเสริมการใช้อำนาจโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เช่น กรณีสงครามยาเสพติด เมื่อปี 2546 พวกเราภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนขอตั้งคำถามต่อผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติว่า คำแถลงของท่านนั้นเป็นการส่งสัญญาณการอนุญาตให้ผู้ใต้บังคับบัญชาใช้กำลังกับกลุ่มผู้ชุมนุมทุกรูปแบบใช่หรือไม่ และหากผู้ใต้บังคับบัญชาฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามจะถูกดำเนินการทางวินัยใช่หรือไม่

กรณีที่ 4 การแจ้งความดำเนินคดีกับประชาชนด้วยข้อกล่าวหาที่ร้ายแรงไม่เป็นธรรม ไม่ตรงกับข้อเท็จจริง เช่นในกรณีการตั้งข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 แก่ประชาชนผู้ออกมาใช้สิทธิเสรีภาพในการชุมนุม ซึ่งเป็นข้อหาที่เกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐ หรือความสงบสุขของประชาชน ซึ่งมีหลายกรณีพฤติการณ์ของผู้ถูกกล่าวหาไม่เข้าองค์ประกอบความผิดแต่อย่างใด โดยในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา มีจำนวนคดีกว่า 41 คดี อาทิ กรณีทราย เจริญปุระ ที่ได้เข้าร่วมการชุมนุมอย่างสงบ และมุก พิมพ์สิริ ที่ขึ้นพูดปราศรัยโดยมีเนื้อหากล่าวถึงรายงานพิเศษของสหประชาชาติในการใช้กฎหมายมาตรา 112 ทั้งสองคนถูกตั้งข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และมาตรา 116 จากเหตุการณ์เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2563 บริเวณหน้ากรมทหารราบที่ 11

ด้วยเกียรติภูมิของเจ้าหน้าที่รัฐ พวกเราเชื่อเหลือเกินว่าเจ้าหน้าที่รัฐที่มีหน้าที่บังคับใช้กฎหมายเพื่อปกป้องสิทธิเสรีภาพของประชาชนเป็นสำคัญ และต้องส่งเสริมให้ประชาชนได้ใช้สิทธิตามกฎหมายบัญญัติรับรองไว้ แต่จากเหตุการณ์ต่างๆที่กล่าวมาข้างต้น เราเห็นว่าการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่รัฐนั้นเป็นไปในทิศทางลิดรอนและทำลายสิทธิเสรีภาพของประชาชน อย่างร้ายแรง ไม่ว่าจะเป็นการใช้กฎหมายที่มีความร้ายแรงเกินกว่าเหตุ กลั่นแกล้งโดยการสร้างภาระให้ประชาชนเกินสมควร ทำให้ประชาชนไม่มีพื้นที่ปลอดภัยในการแสดงออกทางการเมือง แม้จะเป็นการแสดงออกด้วยความสงบ ปราศจากอาวุธก็ตาม สะท้อนถึงความ “ไม่เห็นหัวประชาชน” ที่มุ่งแต่จะบังคับใช้กฎหมายเพื่อปิดปากประชาชนไม่ให้พูดถึงหรือแสดงออกถึงความล้มเหลวในการบริหารประเทศของรัฐบาล

การออกมาใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออก และสิทธิเสรีภาพในการชุมนุม ของประชาชน เป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นในสังคมประชาธิปไตย จำเป็นต้องได้รับการปกป้องไม่ให้ถูกทำให้เสื่อมค่า การกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐดังกล่าวข้างต้น เป็นการละเมิดต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน และลดทอนศักดิ์ศรีและเกียรติภูมิในวิชาชีพในฐานะเจ้าหน้าที่ของรัฐ ที่พึงรับใช้ประชาชน และละเมิดต่อรัฐธรรมนูญอันเป็นกฎหมายสูงสุดที่ได้บัญญัติรับรองสิทธิเสรีภาพของประชาชนไว้

ภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ขอประณามทุกความรุนแรงในนามของกฎหมายที่เจ้าหน้าที่รัฐได้กระทำต่อประชาชนรัฐต้อง “หยุดการใช้อำนาจเกินสัดส่วนอันเป็นการละเมิดต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน หยุดใช้ความรุนแรงกับประชาชน และต้องหยุดการดำเนินคดีที่ไม่เป็นธรรมต่อประชาชน” ทันที ภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนจะไม่เพิกเฉยในอันที่จะเป็นการส่งเสริมให้วัฒนธรรมการพ้นผิดลอยนวลพ้นผิดของเจ้าหน้าที่ดำรงอยู่ต่อไป เจ้าหน้าที่คนใดที่บังอาจกระทำการอันเป็นการละเมิดต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนจะต้องถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย ต้องรับผิดชอบต่อทุกความเสียหายที่เกิดขึ้นกับประชาชน และเราไม่ยอมรับข้ออ้างของเจ้าหน้าที่ชั้นผู้น้อยที่ว่า จำเป็นจะต้องกระทำการใดที่ละเมิดต่อประชาชนด้วยเหตุที่ไม่สามารถขัดคำสั่งของผู้บังคับบัญชาได้ คำสั่งที่ผิดกฎหมายเมื่อนำมาปฏิบัติก็ย่อมเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายเช่นกัน