ไม่พบผลการค้นหา
ยกคำร้องขอประกันตัวชั่วคราว 'แกนนำราษฎร' หลังศาลอุทธรณ์พิเคราะห์มีอัตราโทษสูง จากการปราศรัยก้าวล่วงสถาบันพระมหากษัตริย์ ด้านศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ประมวลคดีการชุมนุมปี 63-64

นรเศรษฐ์ นาหนองตูม ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ทวีตภาพและข้อความระบุใจความว่า ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งไม่ให้ประกันตัว 4 แกนนำราษฎร ประกอบด้วยอานนท์ นำภา, พริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือ เพนกวิน, สมยศ พฤกษาเกษมสุข และ ปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม หรือ หมอลำแบงค์ คดีความผิดมาตรา 112 กรณีชุมนุมเมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2563 โดยศาลเห็นว่ามีอัตราโทษสูงอาจหลบหนีได้

โดยเอกสารคำสั่งที่แนบมา มีเนื้อหาระบุว่า "พิเคราะห์ความหนักเบาแห่งข้อหาและพฤติการณ์แห่งคดีแล้ว เห็นว่า ความผิดตามฟ้องมีอัตราโทษสูง การกระทำตามฟ้องมีลักษณะเป็นการร่วมกันกระทำความผิดของกลุ่มบุคคลอันอาจก่อให้เกิดความเสียหายหรือความวุ่นวายขึ้น และส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง 

"โดยจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ขึ้นปราศรัยด้วยถ้อยคำที่นำมาซึ่งความเสื่อมเสียสู่สถาบันพระมหากษัตริย์อันเป็นที่เทิดทูนและเคารพสักการะ กระทบกระเทือนจิตใจของปวงชนชาวไทย ผู้จงรักภักดีอย่างไม่เกรงกลัวต่อกฎหมาย และมีลักษณะชักนำประชาชนให้ล่วงละเมิดต่อกฎหมายของแผ่นดิน" 

นอกจากนี้ยังปรากฎพฤติการณ์ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ว่าถูกกล่าวหาดำเนินคดีเกี่ยวกับความผิดในลักษณะทำนองเดียวกันนี้ในคดีอื่นอีก ส่วนจำเลยที่ 4 เคยต้องโทษตามคำพิพากษาถึงที่สุดว่าได้กระทำความผิด ในลักษณะทำนองเดียวกันนี้มาก่อน อีกทั้งคดีนี้จเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ถูกจับกุมตามหมายจับกรณีมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่า

หากอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวในระหว่างพิจารณาแล้ว จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 อาจจะก่อให้เดิดเหตุอันตรายหรือความเสียหายประการอื่นอีก และน่าเชื่อว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 อาจจะหลบหนี จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ในระหว่างพิจารณา คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวนั้นชอบแล้ว ให้ยกคำร้อง 

ด้านเพจศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ยุติการดำเนินคดีกับผู้ใช้เสรีภาพในการแสดงออก เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบ และประกันสิทธิในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม


ร่วม 200 คดีชุมนุม เยาวชนต่ำกว่า 18 ปี โดนคดี 112
ชุมนุม เยาวชนปลดแอก อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ภาณุพงศ์
  • การชุมนุมเยาวชนปลดแอก 18 ก.ค. 2563

โดยระบุว่า ภายหลังจากสถานการณ์โควิดระบาดรอบแรกในปี 2563 ผ่านไป แม้ยังอยู่ภายใต้การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วราชอาณาจักร แต่การชุมนุมทางการเมืองเพื่อเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลาออก ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ และปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ได้ดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้มีการดำเนินคดีต่อประชาชนซึ่งออกมาใช้เสรีภาพในการชุมนุมเป็นจำนวนมาก จากการรวบรวมของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

ตั้งแต่เริ่มการชุมนุมของ “เยาวชนปลดแอก” เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2563 จนถึงวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2564 มีประชาชนที่ถูกดำเนินคดีจากสถานการณ์ชุมนุมทางการเมืองและการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ไปแล้วอย่างน้อย 358 คน ในจำนวน 198 คดี ในจำนวนนี้เป็นเยาวชนอายุไม่เกิน 18 ปี ถูกดำเนินคดีไปแล้วอย่างน้อย 10 ราย


นายกฯ กลับลำงัดทุกมาตราปิดปาก

ในจำนวนคดีดังกล่าวมีการตั้งข้อกล่าวหาที่รุนแรง อาทิเช่น คดีประมวลกฎหมายอาญามาตรา 110 “ประทุษร้ายเสรีภาพพระราชินี” จากกรณีขบวนเสด็จ คดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 “ยุยงปลุกปั่น” และการนำประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 “หมิ่นประมาทกษัตริย์” กลับมาใช้อีกครั้ง ทั้งที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เคยให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนในวันที่ 15 มิถุนายน 2563 ใจความว่าในช่วงสองสามปีที่ผ่านมาไม่มีการใช้มาตรา 112 เพราะพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระเมตตา

แต่ต่อมา 19 พฤศจิกายน 2563 พลเอกประยุทธ์ได้ออกแถลงการณ์นายกรัฐมนตรีว่าจะดำเนินคดีกับผู้ชุมนุมในทุกมาตรา ทำให้ตั้งแต่ 24 พฤศจิกายน 2563 จนถึงวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2564 มีผู้ถูกดำเนินคดีจากการแสดงออกและการชุมนุมทางการเมืองในข้อหาตามมาตรา 112 แล้วทั้งสิ้นอย่างน้อย 59 ราย ใน 44 คดี อีกทั้งเมื่อวันที่ 19 มกราคม 2564 ศาลอาญาได้มีคำพิพากษาลงโทษจำคุกอัญชัญ เป็นระยะเวลา 43 ปี 6 เดือน จากการแชร์คลิปวิจารณ์สถาบันกษัตริย์ 29 คลิป นับเป็นอัตราโทษที่รุนแรงอย่างไม่เคยมีมาก่อน


ตั้งข้อหาเกินจริง-ออกหมายจับผิด

สถิติคดีสิทธิเสรีภาพที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วกว่ายุคคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ภายในระยะเวลาเจ็ดเดือน แสดงถึงสถานการณ์การละเมิดที่รุนแรง การใช้กฎหมายและกระบวนการยุติธรรมเป็นเครื่องมือจำกัดเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนในฐานะองค์กรให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายกับประชาชนที่ใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกทางการเมือง มาตั้งแต่ภายหลังการรัฐประหาร 2557 พบว่าปัญหาในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมของรัฐบาล ที่มาจากการเลือกตั้งภายใต้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 รุนแรงไม่ต่างจากยุค คสช. อาทิเช่นปัญหาดังต่อไปนี้

1. การตั้งข้อกล่าวหาเกินจริง และออกหมายเรียกหรือหมายจับผิดบุคคลศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนพบว่าท่ามกลางคดีที่เพิ่มขึ้นจำนวนมากในระยะเวลาอันรวดเร็วนี้มีทั้งคดีที่ตั้งข้อกล่าวหาเกินจริงในหลายคดี และขัดต่อเสรีภาพในการแสดงออกและเสรีภาพในการชุมนุม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการดำเนินคดีมาตรา 116 กับการใช้เสรีภาพชุมนุมโดยสงบ งตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ข้อ 21 หรือ การดำเนินคดีมาตรา 112

ซึ่งกลไกสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาตินั้นมีความเห็นว่า “กฎหมายหมิ่นประมาทกษัตริย์ไม่ควรมีที่ทางในประเทศประชาธิปไตย” หรือบางคดีนั้นไม่เข้าองค์ประกอบทางกฎหมายที่จะดำเนินคดีแต่อย่างใด เช่น คดีโพสต์ข้อความ “กล้ามาก เก่งมาก ขอบใจ” ของสมบัติ ทองย้อย, คดีใส่ครอปท็อปเดินพารากอน หรือ การออกหมายเรียกหมายจับที่ไม่รัดกุม

เช่น กรณีออกหมายจับคดีมาตรา 112 ของ “เดฟ” ชยพล นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งไม่ได้อยู่ในพื้นทีเกิดเหตุตามข้อกล่าวหา หรือกรณีออกหมายเรียก คดีชุมนุม 19 ก.ย. ของ “โต้ง ดาวดิน” ซึ่งไม่ได้ไปร่วมชุมนุม การดำเนินคดีลักษณะดังกล่าวนั้นสร้างภาระต่อประชาชนในการต่อสู้คดีโดยไม่จำเป็น และทำให้กระบวนการทางกฎหมายกลายเป็นเครื่องมือในทางการเมือง


111 รายถูกคุมตัว ตชด.

2. การควบคุมตัวผู้ถูกจับในสถานที่ซึ่งมิใช่ที่ทำการของพนักงานสอบสวน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญานั้น เมื่อเจ้าหน้าที่จับกุมบุคคลแล้ว จะต้องรีบนำตัวไปยังที่ทำการพนักงานสอบสวนในท้องที่ที่ถูกจับทันที อย่างไรก็ตามศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนพบว่าตั้งแต่วันที่ 13 ตุลาคม 2563 จนถึงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2564 มีผู้ถูกจับกุมอันเนื่องจากการชุมนุมทางการเมืองในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ถูกนำตัวไปควบคุมที่กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดนภาค 1 (บก.ตชด. ภาค 1) จังหวัดปทุมธานีแล้ว อย่างน้อย 111 ราย

ซึ่งการนำตัวผู้ต้องหาไปควบคุมในที่อื่นที่ไม่ใช่สถานที่ทำการพนักงานสอบสวนในท้องที่นั้นนอกจากจะขัดต่อกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาแล้ว ยังส่งผลให้ผู้ต้องหาขาดหลักประกันสิทธิ ประชาชนทั่วไปไม่สามารถตรวจสอบการควบคุมตัว หรือสามารถเข้าถึงได้โดยง่าย ทำให้สุ่มเสี่ยงว่าจะเกิดการละเมิดในรูปแบบอื่นๆ อาทิเช่น การซ้อมทรมาน หรือการบังคับบุคคลสูญหายได้

เพนกวิน แกนนำราษฎร ชูสามนิ้ว สภ.คลองหลวง
  • พริษฐ์ ชิวารักษ์

นอกจากนี้การควบคุมตัวที่ บก.ตชด. ภาค 1 ยังห่างไกลพื้นที่กรุงเทพชั้นในกว่าห้าสิบกิโลเมตร ทำให้ทนายความและญาติผู้ต้องหาเดินทางไปถึงได้ล่าช้า แต่เมื่อไปถึงต้องจอดรถไว้ด้านนอกและนั่งรถที่เจ้าหน้าที่จัดให้ซึ่งห้องควบคุมตัวนั้นลึกเข้าไปในค่ายกว่าหนึ่งกิโลเมตร ทั้งการขออนุญาตเข้าภายใน บก.ตชด. ภาค 1 นั้นในหลายคดีมีความล่าช้าอย่างยิ่ง

อาทิเช่น คดีชุมนุม 13 ก.พ. ทนายความต้องใช้ระยะเวลารอคำสั่งอนุญาตประมาณหนึ่งชั่วโมง หรือ คดีชุมนุม 13 ต.ค. ทนายความต้องใช้ระยะเวลารอคำสั่งอนุญาตห้าชั่วโมง ทั้งที่มาตรา 7/1 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ให้การรับรองสิทธิของ “ผู้ถูกจับ” ในการเข้าถึงทนายความนับตั้งแต่มีการจับกุม


ความผิดปกติของกระบวนการ

3. การจำกัดสิทธิในการเข้าถึงทนายความ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนพบว่าสถานที่ทำการพนักงานสอบสวนในหลายท้องที่นั้น มีการตั้งกล้องเพื่อบันทึกภาพเคลื่อนไหวระหว่างการรับทราบข้อกล่าวหา และบันทึกภาพโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยไม่ได้ขออนุญาตผู้ต้องหาหรือทนายความ และไม่อาจทราบได้ว่าบุคคลใดบ้างเป็นผู้เข้าถึงภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหวดังกล่าว และมีความเกี่ยวข้องกับคดีมากน้อยเพียงใด

ในขณะที่การใช้โทรศัพท์มือถือของผู้ต้องหาและทนายความนั้นเป็นไปอย่างเข้มงวด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเข้ารับทราบข้อหาที่กองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดนภาค 1 นั้น เจ้าหน้าที่ตำรวจจะไม่อนุญาตให้นำเข้าห้องประชุม หากทนายความไม่ฝากโทรศัพท์มือถือไว้กับเจ้าหน้าที่ หรือแจ้งว่าจะไม่อนุญาตให้เข้ามาในบก.ตชด. ภาค 1 อีก หากไม่ให้ความร่วมมือ ในขณะที่เจ้าหน้าที่ยังสามารถใช้โทรศัพท์มือถือถ่ายภาพกระบวนการได้อย่างปกติ โดยไม่ได้มีระเบียบหรือกฎหมายใดให้อำนาจเจ้าหน้าที่กระทำการดังกล่าว


การกระทำเข้าข่ายบังคับสูญหาย

4. การปกปิดชะตากรรมของผู้ถูกควบคุมตัว ในคดีมาตรา 112 ของสิริชัย นาถึง นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งถูกควบคุมตัวตั้งแต่เวลาประมาณ 20.50 น. แต่เจ้าหน้าที่ไม่อนุญาตให้ติดต่อทนายความ พร้อมยึดโทรศัพท์มือถือไป และให้โทรหาทนายความเพียงสั้นๆ ช่วงเวลาประมาณ 23.00 น. ก่อนจะขาดการติดต่อไป โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจสภ.คลองหลวงแจ้งเพื่อนสิริชัยว่าได้ย้ายตัวสิริชัยไปยัง บก.ตชด. ภาค 1 แต่เมื่อเพื่อนของสิริชัยไปตรวจสอบกลับไม่พบตัว

ซึ่งทนายความได้พบตัวสิริชัยที่หอพักเวลาประมาณ 01.30 น. ห้วงเวลาตั้งแต่ถูกจับกุมซึ่งเจ้าหน้าที่ไม่ให้แจ้งทนายความหรือญาติ และปกปิดสถานที่ในการควบคุมตัวเกือบห้าชั่วโมงนั้น อาจตีความได้ว่าสิริชัยนั้นอยู่ภายนอกความคุ้มครองของกฎหมาย และเข้าข่ายการบังคับให้สูญหายตามอนุสัญญามิให้บังคับบุคคลสูญหาย (CED) ได้


แกนนำส่อโดนคัดค้านการประกัน
อานนท์ แฟลชม็อบ ธรรมศาสตร์ สนามหลวง 533_8892870347735930248_n.jpg
  • อานนท์ นำภา

5. การไม่ให้สิทธิในการปล่อยตัวชั่วคราวศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนพบว่าในคดีกว่า 198 คดี ผู้ต้องหา 358 คน นั้น แม้หลายคดีศาลไม่ได้อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างการฝากขังในชั้นสอบสวนเมื่อช่วงเดือนตุลาคม แต่ปัจจุบันผู้ต้องหาได้ปล่อยตัวชั่วคราว หรือไม่อนุญาตให้ฝากขังแล้ว คดีส่วนใหญ่ยังอยู่ในชั้นสอบสวนหรือชั้นพนักงานอัยการ อย่างไรก็ตาม

ล่าสุดในคดีการชุมนุม 19 กันยา และคดีการชุมนุม Mob Fest ซึ่งอัยการได้ยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2564 ศาลอาญามีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว โดยระบุว่าคดีมีอัตราโทษสูง พฤติการณ์แห่งคดีเป็นเรื่องร้ายแรง การกระทำของจำเลยเป็นการกระทำซ้ำๆ ต่างกรรมต่างวาระ หากอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว จำเลยอาจไปก่อเหตุลักษณะเดียวกันกับความผิดที่ถูกกล่าวหาอีก

"ทำให้ พริษฐ์ ชิวารักษ์, อานนท์ นำภา, สมยศ พฤกษาเกษมสุข และ ปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม ต้องถูกคุมขังระหว่างการพิจารณาจนกว่าศาลจะอนุญาตให้ปล่อยตัวหรือศาลพิจารณาพิพากษายกฟ้อง ซึ่งไม่มีกำหนดแน่ชัดว่าทั้งสี่คนจะถูกคุมขังถึงเมื่อใด"

สถานการณ์ดังกล่าวอาจรวมไปถึงกรณีของ ภาณุพงศ์ จาดนอก, ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล และ จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา อีกสามแกนนำซึ่งอัยการอาจยื่นฟ้องในคดีเดียวกัน ตามนัดหมายฟังคำสั่งในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ นี้ รวมทั้งคดีของแกนนำและผู้ชุมนุมอีกหลายร้อยรายในอนาคต

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเห็นว่าการคุมขังบุคคลระหว่างการพิจารณานั้น ขัดต่อหลักการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะมีคำพิพากษาถึงที่สุด (Presumption of Innocence) หลักการดังกล่าวถือเป็นหัวใจของกฎหมายอาญาในการคุ้มครองสิทธิผู้ต้องหาและจำเลย ซึ่งได้รับรองไว้ทั้งในมาตรา 29 แห่งรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 และตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ข้อ 14 (2) การคุมขังจำเลยนั้นย่อมทำให้จำเลยไม่สามารถต่อสู้คดีได้อย่างเต็มที่ และเปรียบว่าศาลได้ตัดสินไปแล้วว่าจำเลยกระทำความผิด


ข้อเรียกร้องถึงเสาหลักความยุติธรรม

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเห็นว่า ท่ามกลางความขัดแย้งและเห็นต่างทางการเมืองกระบวนการยุติธรรมสมควรเป็นเสาหลักหนึ่งในการค้ำยันสังคม ซึ่งหากกระบวนการยุติธรรมนั้นพังทลาย กลายเป็นเครื่องมือทางการเมือง และหมดความน่าเชื่อถือต่อประชาชนไปเสียแล้ว สังคมก็ไม่อาจดำรงอยู่ได้อย่างปกติสุข ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนจึงขอเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

1. ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจยุติการตั้งข้อกล่าวหาที่เกินจริงและไม่เป็นธรรม และปฏิบัติตามกฎหมายในการนำตัวบุคคลไปยังที่ทำการพนักงานสอบสวน ไม่ใช่กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดนภาค 1 และเคารพสิทธิในการเข้าถึงทนายความของผู้ถูกจับและผู้ต้องหา

2. ให้พนักงานอัยการพิจารณาสั่งไม่ฟ้องหรือถอนฟ้องคดีต่อผู้ที่ใช้เสรีภาพในการแสดงออกหรือเสรีภาพชุมนุมโดยสงบ คดีที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ รวมถึงคดีที่ไม่เข้าองค์ประกอบทางกฎหมายอย่างชัดแจ้ง

3. ให้ศาลพิจารณาการปล่อยตัวชั่วคราวบนฐานหลักการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์ตามหลักกฎหมายอาญา

อ่านเพิ่มเติม