ไม่พบผลการค้นหา
กทม. เตรียมยื่นอุทธรณ์สู้ 'คดีป้าทุบรถ' ชี้คำพิพากษาศาลปกครอง ขัดแย้งกับข้อเท็จจริงที่ได้พิจารณา

ความคืบหน้ากรณีป้าทุบรถ หลังศาลปกครองกลาง แผนกคดีสิ่งแวดล้อมมีคำพิพากษาให้ กทม.ดำเนินการรื้อถอนตลาดโดยรอบที่พักอาศัยของผู้ฟ้องร้องที่พักอาศัยในซอยศรีนครินทร์ 55 แขวงหนองบอน พื้นที่เขตประเวศจำนวน 5ตลาด ได้แก่ ตลาดสวนหลวง ตลาดรุ่งวาณิชย์ ตลาดเปิ้ลมาร์เก็ต ตลาดยิ่งนรา และตลาดร่มเหลือง ภายในระยะเวลาที่กำหนด 60วัน และกทม.ต้องจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ฟ้องร้องในการเสียความสงบสุขรวม 4ราย เป็นเงินรายละ 368,400 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้นจำนวน 1,473,600บาท อีกทั้งยังมีคำพิพากษาให้กทม.ดำเนินการตามกฎหมายในกรณีอื่นๆ 

ล่าสุดนายวันชัย ถนอมศักดิ์ รองปลัดกรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวถึงผลการพิจารณาของคณะกรรมการพิจารณาแนวทางการดำเนินการว่า จากการพิจารณาของคณะกรรมการฯที่ได้จัดตั้งขึ้นนั้นมีกรอบการพิจารณาใน 3 ด้านคือ 

1.กรณีการอนุญาตก่อสร้างอาคารที่เกี่ยวเนื่องกับสำนักการโยธา ซึ่งในพื้นที่ดังกล่าว จะเกี่ยวเนื่องกับ พ.ร.บ.จัดสรรที่ดิน โดยในพื้นที่โครงการที่1 กำหนดการจัดสรรที่ดินในปี 2526 โดยมีข้อกำหนดการจัดสรรที่ดินโดยไม่มีสิ่งปลูกสร้าง เพื่อการอยู่อาศัย ส่วนในโครงการที่ 2 ซึ่งเป็นพื้นที่ของผู้ฟ้องร้อง ได้มีการจัดสรรที่ดินในปี 2530 ซึ่งกำหนดการจัดสรรที่ดินโดยไม่มีสิ่งปลูกสร้าง แต่ไม่ได้กำหนดการห้ามเป็นพื้นที่อาคารพาณิชย์ ดังนั้นการตรวจสอบข้อเท็จจริงที่ปรากฎ สำนักการโยธา ผู้อนุญาตการก่อสร้างอาคารพาณิชย์โดยรอบบ้านผู้ฟ้องร้อง จึงได้อนุญาตก่อสร้างอาคารตามกฎหมายประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 286 พ.ศ. 2515 ขึ้น ซึ่งในกรณีดังกล่าวถือเป็นการดำเนินงานที่ขัดแย้งกับความเห็นของศาลปกครองที่เกิดขึ้น

2.การดำเนินงานภายใต้อำนาจหน้าที่ของสำนักงานเขตประเวศ ที่จะมีส่วนเกี่ยวข้องกับกฎหมายใน พ.ร.บ. ควบคุมอาคาร พ.ร.บ. สาธารณสุข และ พ.ร.บ. รักษาความสะอาดและสิ่งแวดล้อม โดยที่ผ่านมา การดำเนินการดูแลอาคารและพื้นที่โดยรอบบ้านผู้ฟ้องร้องนั้น สำนักงานเขตประเวศได้ดำเนินการตามกรอบกฎหมายต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ซึ่งกรณีที่ตลาดทั้ง 5 แห่งมีการกระทำที่ผิดตามกฎหมายดังกล่าวมาตั้งแต่ปี 2553 นั้น เขตฯ ได้ทำการฟ้องร้องดำเนินคดี และเอาผิดตามกฎหมายมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเอาผิดตามกฎหมายไปแล้วกว่า 55 ครั้ง

3.กรณีที่ศาลมีคำพิพากษาให้ กทม.จ่ายค่าเสียหายเป็นค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ฟ้องร้องในการเสียความสงบสุขรวม 4ราย เป็นเงินรายละ 368,400 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้นจำนวน 1,473,600 บาทซึ่งในกรณีการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนการละเมิดนั้น ผู้ฟ้องร้องได้เรียกร้องค่าเสียหายรวม 256ล้านบาท แต่ศาลพิเคราะห์ให้ กทม. ชดใช้ในอัตราดังกล่าวรวมกว่า 1.4ล้านบาท ซึ่งกทม.พิจารณาเห็นว่า ค่าเสียหายฐานละเมิดนั้น ผู้ที่กระทำละเมิดกับผู้ร้องนั้น ไม่ใช่กทม.

เนื่องจากที่ผ่านมา กทม.ก็ดำเนินการตามกรอบกฎหมายมาต่อเนื่องในทุกกรณี ซึ่ง กทม.ไม่ควรต้องเป็นผู้จ่ายค่าสินไหมทดแทน ซึ่งผู้ที่ทำการละเมิดผู้ฟ้องร้องนั้น ทั้งตลาดโดยรอบ และผู้ที่กระทำการจอดรถหน้าบ้านผู้ฟ้องร้อง ต้องมีส่วนเกี่ยวข้อง รับผิดชอบในทางละเมิดร่วมด้วยหรือไม่ อีกทั้งแต่หากศาลพิเคราะห์เห็นว่า กทม.เป็นผู้ดำเนินการละเมิดนั้น การพิจารณาอัตราค่าเสียหายนั้น กรอบพิจารณาควรเป็นเช่นใด เนื่องจากตลาดที่เปิดโดยรอบ ก็เป็นการเปิดดำเนินการในวันเสาร์อาทิตย์เพียงเท่านั้น แต่ศาลได้คำนวณค่าเสียหายที่เกิดขึ้นในทุกวันตั้งแต่ปี 2553 เป็นต้นมา คิดรวม 365 วัน ตลอดระยะเวลา 7 ปี แต่ตลาดเปิดขายจริงเพียงเฉพาะวันเสาร์-อาทิตย์เท่านั้น นับ 1 ปี มีเพียง 102 วัน ดังนั้นหากจะให้ กทม. รับผิดชอบค่าเสียหาย กทม. ยินดีจ่ายเยียวยาให้ แต่ต้องมีการแบ่งสัดส่วนตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏ

นายวันชัยกล่าวต่อว่า ด้วยผลการพิจารณาข้อเท็จจริงที่ผ่านมาของคณะกรรมการ และคำพิพากษาของศาลปกครองกลางที่เกิดขึ้น ซึ่งจะขัดแย้งกับข้อเท็จจริงที่ กทม. ได้พิจารณา ในกรณีต่างๆ ตนในฐานะประธานคณะกรรมการพิจารณาฯ จึงมีความเห็นว่า กทม.ควรอุทรณ์คำพิพากษาของศาลในทุกประเด็น ส่วนเจ้าหน้าที่กทม.ผู้ที่เกี่ยวข้อง กรณีมีการพิจารณาความผิดทางวินัยในการละเลยการปฏิบัติหน้าที่นั้น ต้องอิงตามผลการพิจารณาคำพิพากษาของศาล ดังนั้น หากมีการอุทธรณ์การพิจารณาความผิดของข้าราชการ กทม. ที่มีส่วนเกี่ยวข้องก็ควรชะลอเพื่อรอการพิจารณาของศาลที่ชัดเจนอีกครั้ง

ขณะที่ พล.ต.อ. อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวว่า เมื่อคณะกรรมการฯ ที่จัดตั้งขึ้น มีผลการพิจารณาเห็นควรให้กทม.อุทรณ์คำพิพากษาของศาลปกครองกลางในคดีดังกล่าวนั้น กทม. ก็จะต้องเสนอความเห็นไปยังอัยการ ซึ่งหากอัยการมีความเห็นสอดคล้องกันก็จะดำเนินการอุทรณ์ต่อศาล โดย กทม. ต้องดำเนินการอุทธรณ์ตามกรอบเวลาที่กำหนดภายในวันที่ 15 มิ.ย. 2561 นี้

ส่วนกรณีการดำเนินการตามคำสั่งศาลให้ทำการรื้อย้ายอาคารตลาดโดยรอบทั้ง 5 แห่งนั้น ได้กำหนดการดำเนินการใน 60 วัน ซึ่งทางเขตประเวศ ก็จะต้องเข้าดำเนินการตามระเบียบ ปิดประกาศแจ้งเจ้าของตลาด ดำเนินการรื้อถอนอาคาร ภายใน 60 วัน แต่หากครบกำหนดแล้วยังไม่มีการดำเนินการใดๆ กทม. จึงจะเป็นผู้เข้าจัดการตามขั้นตอนของกฎหมายและในพื้นที่โดยรอบบ้านผู้ฟ้องร้อง ที่มีกลุ่มผู้ค้ากลับมาตั้งวางแผงค้าอีกครั้งนั้น ทางเขตประเวศได้เข้าจัดการตามกฎหมาย และชี้แจงทำความเข้าใจต่อผู้ค้าไปแล้วว่าไม่สามารถดำเนินการได้ และ กทม. ได้จัดหาพื้นที่ค้าให้แก่ผู้ค้าในบริเวณอื่น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: