เผยผลสำรวจสารเคมีตกค้างใน 'ผัก-ผลไม้' ที่เรารับประทานกันทุกวัน พบสารพิษตกค้างเกินมาตรฐานสูงถึง 41%
เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ร่วมกับองค์กรเครือข่ายต่างๆ ลงพื้นที่เก็บตัวอย่างผักและผลไม้ที่คนไทยนิยมบริโภค ทั้งจากห้างค้าปลีกและตลาดสดตามภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศ โดยเก็บตัวอย่างมากว่า 286 ตัวอย่าง เป็นผัก 15 ชนิด ผลไม้ 9 ชนิด และนำไปส่งตรวจที่ห้องแล็บมาตรฐาน ISO ที่สหราชอาณาจักร ผลปรากฏว่า พบสารพิษตกค้างเกินมาตรฐานสูงถึง 41%
ผักที่มีสารตกค้างมากสุด ก็คือ 'ผักกวางตุ้ง' โดยพบ 10 จาก 12 ตัวอย่าง รองลงมาก็คือ 'ผักคะน้า' ที่พบสารตกค้าง 9 ใน 12 ตัวอย่าง รองลงมาอีกก็เป็น 'กะเพรา ผักชี พริก'
ส่วนผลไม้ที่พบสารตกค้างมากที่สุดเป็น 'ส้มเขียวหวาน' โดยพบ 100% รองลงมาเป็น 'ชมพู่' ที่เกินค่ามาตรฐาน 11 จาก 12 ตัวอย่าง นอกนั้นก็เป็น 'ฝรั่ง องุ่น' ที่พบสารตกค้างเช่นกัน
ที่น่าตกใจมากกว่านั้นคือ ผลสำรวจชี้ชัดว่า ผักผลไม้ในห้างค้าปลีกมีสารพิษตกค้างเกินมาตรฐานมากกว่าตลาดสดทั่วไป โดยพบถึง 44% ขณะที่ในตลาดสดพบ 39% ซึ่งความเข้าใจของผู้บริโภคส่วนใหญ่ คิดว่าผักผลไม้ในห้างค้าปลีก มีความปลอดภัยกว่ามาก เพราะผ่านการคัดเลือกและมีฉลากรับรองมาตรฐานติดอยู่
ส่วนสารตกค้างที่พบมากที่สุด มีชื่อว่า 'คาร์เบนดาซิม' หรือ สารฆ่าเชื้อรา ซึ่งโดนแบนในสหรัฐฯมาแล้วหลายสิบปี เพราะมีผลต่อระบบสืบพันธุ์หรือทำให้เป็นหมันนั่นเอง นอกเหนือจากนี้ยังพบสารพิษที่ยกเลิกใช้ไปแล้ว เช่น เมทามิโดฟอส สารที่ยังไม่อนุญาตให้ขึ้นทะเบียน เช่น คาร์โบฟูราน และเมโทมิล
หลังจากนี้ เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช เตรียมผลการตรวจวิเคราะห์ดังกล่าว เข้าหารือกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ให้จัดการแก้ปัญหาสารพิษที่ตกค้าง และตรวจพบเป็นอันดับต้นๆ เพื่อหาแนวทางให้ประชาชนมีสุขภาพที่ดีจากสิ่งแวดล้อมและอาหารที่ปลอดภัยมากขึ้น