ช่วงเทศกาลสงกรานต์นอกจากจะเป็นวันขึ้นปีใหม่ของไทยแล้ว รัฐบาลยังประกาศให้ทุกวันที่ 13 เมษายนของทุกปีเป็นวันผู้สูงอายุด้วย ในช่วงวันหยุดยาวแบบนี้ Day Break มีเทคนิคการดูแลอาหารให้กับผู้สูงอายุมาฝาก
ในปี 2583 หรืออีก 21 ปีข้างหน้า องค์การสหประชาชาติ ประเมินว่าประเทศไทยจะมีสัดส่วนประชากรผู้สูงอายุ สูงถึงร้อยละ 33 จะกลายเป็นประเทศที่มีผู้สูงอายุมากที่สุดในอาเซียน ดังนั้นจึงเป็นเรื่องจำเป็นที่เราต้องเรียนรู้การก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแบบมีคุณภาพ เริ่มต้นกับเรื่องที่ใกล้ตัวมากที่สุดนั่นคือ 'อาหาร' ที่ต้องรับประทานในทุกวัน
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. จึงแนะนำสูตรอาหารที่เรียกว่า 2 : 1 : 1 โดยแบ่งจานอาหารออกเป็น 4 ส่วนเท่าๆ กัน 2 ส่วนแรกเป็น ผัก 1 ส่วน เป็น ข้าวหรือแป้ง และอีก 1 ส่วนสุดท้าย เป็น เนื้อสัตว์ที่ไม่ติดมัน ส่วนรสชาติของอาหารต้องลดหวาน มัน เค็ม ด้วย
ซึ่งสัดส่วนของน้ำตาล เกลือ และไขมัน ที่ดีต่อสุขภาพของผู้สูงอายุ และคนในครอบครัวทุกเพศทุกวัย คิดคำนวณได้ตามสูตรนี้ นั่นคือ น้ำตาลไม่เกิน 6 ช้อนชา น้ำมันไม่เกิน 6 ช้อนชา และเกลือไม่เกิน 1 ช้อนชาต่อวัน
สำหรับผู้สูงอายุควรรับประทานอาหารตามธรรมชาติ ปรุงแต่งน้อย หรืออาหารสุขภาพ เน้นการเลือกข้าวกล้องแทนข้าวขาว เพราะมีสารอาหารมากกว่า พร้อมเลือกรับประทานเนื้อปลา สัปดาห์ละ 3-4 ครั้ง เพราะมีโปรตีนที่มีคุณภาพ เลือกรับประทานไข่ได้วันละ 1 ฟอง โดยเน้นไข่ต้ม ไข่ตุ๋น เลี่ยงไข่ดาวและไข่เจียว
สำหรับผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคไขมันในเลือดสูง ให้ลดเหลือ 3-4 ฟองต่อสัปดาห์ เลือกโปรตีนจากถั่วเมล็ดแห้งทุกชนิด ดื่มนมรสจืดหรือนมพร่องมันเนย 1 กล่อง หรือ 1 แก้วต่อวัน เพื่อเสริมสร้างแคลเซียม และรับประทานผักและผลไม้เป็นประจำ เน้นอาหารที่ต้ม ย่าง ยำ ตุ๋น หรือนึ่ง และควรรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่
นอกจากนี้ผู้สูงอายุควรเคลื่อนไหว ออกแรง หรือมีกิจกรรมทางกายระดับปานกลางที่ทำให้หายใจแรงขึ้น แต่ไม่จำเป็นถึงขั้นหายใจหอบ โดยสะสมให้ได้ อย่างน้อยวันละ 30 นาที สัปดาห์ละ 5 วัน อาจเป็นการออกกำลังกายรวดเดียว 30 นาที หรือแบ่งเป็นช่วงๆ ช่วงละ 10-15 นาที รวมถึงต้องนอนหลับให้เพียงพอ อย่างน้อย วันละ 5-6 ชั่วโมง เพื่อให้ช่วงช่วงชีวิตของผู้สูงอายุ มีคุณภาพและสุขภาพแข็งแรง