Echolocation หรือการสะท้อนเสียงเพื่อหาตำแหน่งวัตถุของค้างคาวเป็นสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์ศึกษามาเป็นเวลานานแล้ว ล่าสุดมีการค้นพบเพิ่มเติมว่าค้างคาวบางสายพันธุ์สามารถสะท้อนเสียงได้ซับซ้อนกว่าสายพันธุ์อื่น ๆ และใกล้เคียงกับระบบนำทางที่มนุษย์สร้างขึ้นอีกด้วย
นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยวอชิงตัน ในสหรัฐฯ ศึกษาพบว่า ค้างคาวผลไม้อียิปต์สามารถส่งสัญญาณเสียงสะท้อนเพื่อหาตำแหน่งของวัตถุ หรือ Echolocation ได้ซับซ้อนว่าค้างคาวสายพันธุ์อื่น โดยจะส่งเสียง 'คลิก' ที่เกิดจากการเคาะลิ้น ได้หลากหลายรูปแบบ หลายความถี่และหลายทิศทาง คล้ายกับระบบนำทางที่มนุษย์สร้างขึ้น ซึ่งการค้นพบนี้อาจนำไปสู่การพัฒนาจักรกลหรือยานยนต์ไร้คนขับที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
การเคาะลิ้นของค้างคาวชนิดนี้ไม่ต่างกับระบบการส่งเรดาร์และโซนาร์ ซึ่งเป็นการส่งสัญญาณความถี่ และจับคลื่นที่สะท้อนกลับมา ซึ่งนักวิจัยใช้วิธีเก็บข้อมูลโดยเครื่องจับสัญญาณบนตัวค้างคาว ประกอบกับกล้องอินฟราเรดแบบสโลว์โมชัน และไมโครโฟนความไวสูง โดยใช้ 'ถ้ำค้างคาว' ที่ออกแบบพิเศษ ที่ตั้งอยู่ ณ มหาวิทยาลัยจอนส์ ฮอปกินส์ เป็นสถานที่เก็บข้อมูล
การทดลองขั้นต่อไปคือต้องหาคำตอบว่าค้างคาวผลไม้อียิปต์สร้างเสียงคลิก หรือ การเคาะลิ้น จากสมองส่วนใด โดยใช้การ CT Scan และสร้างโมเดล 3 มิติ เพื่อให้ข้อมูลด้านชีววิทยาเหล่านี้ เป็นประโยชน์ในเชิงวิศวกรรมต่อไป