แม้จะอยู่บนอวกาศ แต่นักบินอวกาศชาวเยอรมันสามารถบังคับหุ่นยนต์ฮิวแมนนอยด์ให้ปฏิบัติภารกิจบนพื้นโลกได้สำเร็จ ซึ่งเทคโนโลยีนี้อาจนำไปใช้ในการสร้างศูนย์บนดาวอังคารได้ในอนาคต
อเล็กซานเดอร์ แกรสต์ (Alexander Gerst) นักบินอวกาศชาวเยอรมัน ซึ่งเป็นหัวหน้าผู้บังคับบัญชาการของสถานีอวกาศนานาชาติ หรือ ISS และกำลังปฏิบัติภารกิจอยู่บนห้วงอวกาศในขณะนี้ ประสบความสำเร็จในการสั่งการให้หุ่นยนต์ทำงานตามคำสั่งได้ผ่านทางแท็บเล็ต
สำหรับหุ่นยนต์ฮิวแมนนอยด์ที่คล้ายมนุษย์ตัวนี้มีชื่อว่า ‘จัสติน’ และเคยปฏิบัติภารกิจร่วมกับแกรสต์มาแล้วสามครั้ง โดยปราศจากความช่วยเหลือใด ๆ จากทีมงานภาคพื้นดิน ซึ่งศูนย์อวกาศแห่งเยอรมนีหวังจะพัฒนาหุ่นยนต์นี้เพื่อเตรียมความพร้อมในการนำมนุษย์ขึ้นไปบนดาวอังคาร นอกจากนั้น เทคโนโลยีนี้ยังนำมาใช้บนโลกได้อีกด้วย เช่น การนำไปใช้ในการก่อสร้างหรือซ่อมแซมพื้นที่ที่อันตรายสำหรับมนุษย์
ในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ศูนย์อวกาศแห่งเยอรมนีได้เปิดตัวโครงการ ‘สไมล์ (SMiLE)’ ซึ่งเป็นการนำหุ่นยนต์มาช่วยดูแลผู้ป่วยสูงวัย และผู้ที่มีข้อบกพร่องทางร่างกาย
โดยแกรสต์เริ่มปฎิบัติภารกิจบนยาน ISS เป็นครั้งที่สองตั้งแต่วันที่ 6 มิถุนายนที่ผ่านมา และก่อนที่จะกลับมายังพื้นโลกในเดือนธันวาคมนี้ เขาจะร่วมปฏิบัติการทดลองทั้งสิ้น 67 ภารกิจ ซึ่งมุ่งเน้นที่จะแก้ไขปัญหาด้านการจัดการสุขภาพ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่โลกดิจิทัล