สหรัฐฯ ระบุตัวตนด้วย 'จังหวะหัวใจ'
วารสาร MIT Technology Review รายงานว่ากระทรวงกลาโหมของสหรัฐฯ หรือ เพนตากอน ได้พัฒนาเทคโนโลยีระบุตัวตนทางชีวภาพ ด้วยการคัดแยกความแตกต่างของจังหวะการเต้นของหัวใจในแต่ละคน โดยเทคโนโลยีนี้มีชื่อว่า Jetson ซึ่งใช้แสงเลเซอร์ตรวจจับแรงสั่นสะเทือนที่เกิดขึ้นบนผิวหนังจากการเต้นของหัวใจ ซึ่งผลการทดสอบพบว่ามีความแม่นยำในการระบุตัวตนมากถึง 95 เปอร์เซ็นต์ และสามารถตรวจจับคนที่อยู่ในระยะไกลได้ถึง 200 เมตร
เจ้าหน้าที่จากเพนตากอนอธิบายว่า มนุษย์ทุก ๆ คน มีจังหวะการเต้นของหัวใจที่ไม่เหมือนกัน และเป็นสิ่งที่ไม่สามารถเลียนแบบหรือเปลี่ยนแปลงได้ ทำให้การระบุตัวตนด้วยวิธีนี้มีความแม่นยำมากกว่าการตรวจลายนิ้วมือหรือสแกนใบหน้าซึ่งสามารถปลอมแปลงได้ แต่เทคโนโลยีตัวนี้ ยังคงมีข้อจำกัดในการใช้งาน เพราะแสงเลเซอร์สามารถตรวจจับการเต้นของหัวใจได้เฉพาะคนที่ใส่เสื้อผ้าที่ไม่หนามาก อย่างเสื้อยืด หรือเสื้อเชิ้ต หากมีใครใส่เสื้อผ้าที่หนากว่านั้นอย่างชุดสูท หรือ เสื้อกันหนาว ระบบจะไม่สามารถตรวจสอบได้ นอกจากนี้ระบบยังต้องใช้เวลานานถึง 30 วินาที ในการตรวจสอบ จึงไม่สามารถระบุตัวตนของผู้ที่เคลื่อนไหวไปมาได้ ยกเว้นผู้ที่นั่งอยู่กับที่หรือยืนนิ่ง ๆ เป็นเวลา 30 วินาที จึงจะระบุตัวตนได้อย่างแม่นยำ
การระบุตัวตนทางชีวภาพเป็นสิ่งที่เราพบเห็นได้ทั่วไปในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นการสแกนลายนิ้วมือเพื่อเข้าทำงาน หรือการสแกนใบหน้าเพื่อปลดล็อกสมาร์ตโฟน ซึ่งมีความแม่นยำในระดับหนึ่ง แต่สำหรับหน่วยงานด้านความมั่นคงอย่างเพนตากอนจำเป็นต้องพัฒนาเทคโนโลยีนี้อย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันการปลอมแปลงอัตลักษณ์ของกลุ่มอาชญากรหรือกลุ่มก่อการร้าย
อียูออกกฎห้ามรถยนต์ไฟฟ้า 'เสียงเบา'
รถยนต์พลังงานไฟฟ้ากำลังเป็นที่นิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะนอกจากจะประหยัดค่าใช้จ่ายแล้ว ยังเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ทำให้ผู้ซื้อรถยนต์คันใหม่หันมาซื้อรถยนต์ไฟฟ้ากันมากขึ้น โดยเฉพาะในยุโรปที่ให้ความสำคัญกับเรื่องการลดมลภาวะในอากาศ ซึ่งเอกลักษณ์ของรถยนต์ไฟฟ้าอีกอย่างหนึ่งคือมีเสียงเครื่องยนต์ที่เงียบมาก ที่ดูเหมือนว่าจะเป็นเรื่องที่ดี เพราะช่วยลดมลภาวะทางเสียงด้วย แต่กลับกลายเป็นว่าเสียงเครื่องยนต์ที่เงียบจนเกินไปทำให้เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้งขึ้น เพราะคนเดินถนนหรือขี่จักรยาน ไม่ได้ยินเสียงรถที่กำลังวิ่งเข้ามา
สหภาพยุโรป จึงออกกฎหมายใหม่ว่ารถยนต์ไฟฟ้าที่วางขายในกลุ่มประเทศสมาชิกของอียู ต้องปล่อยเสียงเครื่องยนต์ปลอม ๆ ออกมา เมื่อขับขี่ด้วยความเร็วไม่เกิน 19 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เนื่องจากรถยนต์ไฟฟ้าจะเงียบเป็นพิเศษเมื่อขับขี่ด้วยความเร็วต่ำ อียูจึงกำหนดให้ต้องปล่อยเสียงเครื่องยนต์ปลอม ๆ ออกมา ทั้งตอนเดินหน้าและถอยหลัง เพื่อให้คนเดินถนนหรือคนขี่จักรยานได้ยินและทันระวังตัวว่ามีรถยนต์อยู่ใกล้ ๆ
รถยนต์ไฟฟ้าส่วนมาก มีโหมดสปอร์ต ที่ให้ผู้ขับขี่เลือกได้หากต้องการอารมณ์การขับขี่ที่เหมือนกับรถยนต์ทั่วไป ซึ่งจะมีเสียงประกอบการขับขี่ที่เร้าใจมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเสียงสตาร์ตเครื่องยนต์ เสียงเร่งความเร็ว เสียงเปิดปิดประตู ซึ่งไม่ใช่เสียงที่เกิดขึ้นจริง ๆ แต่เป็นเสียงที่รถยนต์ติดตั้งโปรแกรมเอาไว้
ซัมซุงขอเวลาอีกไม่นาน Galaxy Fold มาแน่!
หลังจากที่ซัมซุงเลื่อนการวางจำหน่าย Galaxy Fold สมาร์ตโฟนพับหน้าจอรุ่นแรกของบริษัท ในเดือนเมษายนที่ผ่านมา และมีการคาดการณ์ว่าหลังจากการตรวจสอบและแก้ไขหน้าจอพับที่มีปัญหาได้สำเร็จ Galaxy Fold น่าจะพร้อมวางจำหน่ายในเดือนกรกฎาคมนี้ อย่างไรก็ตาม แม้ตอนนี้จะเป็นเดือนกรกฎาคมแล้ว แต่ยังคงไม่มีการประกาศออกมาเป็นทางการจากซัมซุงว่าสมาร์ตโฟนรุ่นนี้จะพร้อมวางจำหน่ายเมื่อไร ซึ่ง ดีเจ โคห์ (DJ Koh) ซีอีโอของซัมซุง ให้สัมภาษณ์กับเว็บไซต์ TechRadar ว่าขณะนี้ทางซัมซุงกำลังทดสอบประสิทธิภาพการทำงานในทุก ๆ ด้าน ของ Galaxy Fold กว่า 2,000 เครื่อง ซึ่งทำให้ซัมซุงพบเจอปัญหาเพิ่มเติม บางปัญหาเป็นสิ่งที่เจ้าหน้าที่ไม่เคยคาดคิดมาก่อนว่าจะมี และเมื่อปัญหาทุกอย่างได้รับการแก้ไขทั้งหมดแล้ว เมื่อนั้นเขาจึงจะประกาศวันวางจำหน่าย Galaxy Fold อย่างเป็นทางการ แต่ตอนนี้ ทางซัมซุงต้องขอเวลาอีกนิดหนึ่ง
ซัมซุงอาจจะต้องเร่งทำงานกันให้มากขึ้น เนื่องจากหัวเว่ย เพิ่งประกาศว่า Mate X ซึ่งเป็นสมาร์ตโฟนพับหน้าจอรุ่นแรกของบริษัท ที่เลื่อนการวางจำหน่ายในเดือนนี้ออกไปเหมือนกัน กำลังอยู่ในช่วงทดสอบความพร้อมขั้นสุดท้าย และหัวเว่ยมั่นใจว่าจะสามารถเริ่มวางจำหน่ายได้อย่างช้าที่สุด ในเดือนกันยายนนี้ แต่ถ้าการทดสอบผ่านไปด้วยดี ก็จะสามารถเริ่มวางจำหน่ายได้เร็วกว่านั้น