งานวิจัยชี้ ผู้ใช้งานเฟซบุ๊กจะยอมปิดบัญชีและเลิกใช้ หากได้รับเงิน 1,000 ดอลลาร์ หลังทำการสำรวจอาการเสพติดการใช้เฟซบุ๊กของกลุ่มตัวอย่าง
สำนักข่าว RT ของรัสเซียรายงานว่า ตลอดปี 2018 ที่ผ่านมา เฟซบุ๊กต้องเผชิญกับการต่อสู้กับคดีความมากมาย ไม่ว่าจะเป็นกรณีการรั่วไหลของข้อมูลผู้ใช้งานหลายสิบล้านคน ความไม่เป็นกลางทางการเมือง การถูกกล่าวหาว่าเป็นเครื่องมือทางการเมือง รวมไปถึงการควบคุมตลาดใหญ่ในแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียแต่เพียงผู้เดียว จนส่งผลกระทบทางลบอย่างมากต่อความน่าเชื่อถือและมูลค่าของหุ้น
PLOS One บริษัทวิจัยในแคลิฟอร์เนียได้ทำการศึกษาการให้ค่าต่อเฟซบุ๊กในตัวของผู้ใช้งานแต่ละคน โดยการใช้วิธีสร้างแบบจำลองของการประมูลขึ้นมา กำหนดให้จำนวนเงินเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อกลุ่มตัวอย่างนั้นเลือกที่จะหยุดใช้เฟซบุ๊ก เป็นระยะเวลาที่แตกต่างกัน เช่น บางคนอาจเลือกที่จะหยุดใช้เฟซบุ๊กต่อเนื่องกันหลายชั่วโมง หรือบางคนอาจเลือกหยุดใช้ตลอดทั้งปี ซึ่งการวิจัยนี้มีการศึกษากลุ่มตัวอย่างหลากหลายกลุ่มเป็นจำนวนทั้งสิ้น 1,258 คน แต่ละคนทำการสุ่มเลือกว่าตนเองจะสามารถหยุดใช้เฟซบุ๊กได้เป็นระยะเวลานานเท่าใด
ผลวิจัยแสดงให้เห็นว่า ค่าเฉลี่ยของคุณค่าทางโซเชียลมีเดียที่ถูกตีออกมาเป็นจำนวนเงินคือมากกว่า 1,000 ดอลลาร์ต่อปี นั่นหมายความว่า การจะให้ผู้ใช้คนหนึ่งยอมหยุดเล่นเฟซบุ๊กได้นั้น เขาต้องได้รับเงินค่าตอบแทนเป็นจำนวน 1,000 ดอลลาร์ หรือมากกว่านั้น ในแต่ละปี ซึ่งสำนักข่าว RT ชี้ว่า นั่นเป็นมูลค่าที่สูงกว่าตัวเลขที่เฟซบุ๊กให้ค่ากับผู้ใช้งานแต่ละคนมาก เพราะผู้ใช้งานแต่ละคนมีค่าทางโซเชียลมีเดียราว 250 ดอลลาร์ต่อคนเท่านั้นสำหรับเฟซบุ๊ก