การดึงดูดผู้บริโภคจีนเป็นจุดมุ่งหมายสำคัญของหลายบริษัท ในหลายอุตสาหกรรม ซึ่งรวมถึงอุตสาหกรรมภาพยนตร์ด้วย และเครื่องมือหนึ่งที่ค่ายภาพยนตร์ใช้และดูจะเป็นที่ชื่นชอบของแฟน ๆ ก็คือการทำโปสเตอร์ให้มี 'ความจีน' ยิ่งขึ้น
จำนวนประชากรและกำลังซื้อเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้จีนกลายเป็นตลาดสำคัญของทุกอุตสาหกรรมในโลก ซึ่งในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา สตูดิโอผู้ผลิตภาพยนตร์ก็เริ่มเลือกที่จะสร้าง 'กิมมิก' เล็ก ๆ น้อย ๆ สำหรับผู้ชมชาวจีน ด้วยการออกโปสเตอร์โปรโมตเวอร์ชันพิเศษ ที่ใส่ 'ความเป็นจีน' ลงไปอย่างเต็มที่ โดยทั้งหมดนี้ล้วนเป็นแผนดึงดูดความสนใจ เพื่อให้ชาวจีนอยากที่จะตีตั๋วชมผลงาน ซึ่งมักมาในรูปแบบการนำตัวละครในเรื่องมาวาดใหม่ ให้เป็นลายเส้นจีน อยู่ท่ามกลางบรรยากาศจีน ๆ หรืออยู่ในสถานที่สำคัญของประเทศจีน
อย่างล่าสุด ที่เพิ่งผ่านเทศกาลตรุษจีนมา สตูดิโอใหญ่อย่างดิสนีย์ก็ออกโปสเตอร์ภาพยนตร์ปี 2019 ทั้งหมด ในเวอร์ชันงานศิลปะจีน โดยไม่มีตัวละครใดของเรื่องในภาพเลย วาดเพียงสัญลักษณ์ที่พอจะทำให้รู้ว่าเป็นเรื่องใดบ้างก็เท่านั้น ซึ่งค่ายอื่นอย่าง โซนี่ พิคเจอร์ส ก็ไม่น้อยหน้า มีการออกโปสเตอร์ตรุษจีนพร้อมตัวละครจากภาพยนตร์ดังทุกเรื่องรวมอยู่ในภาพเดียว เช่น เวนอม สไปเดอร์-แมน และแองกรีเบิร์ด ถือเป็นสีสันและการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีต่อผู้บริโภคในช่วงเทศกาลสำคัญเช่นนี้
สำนักข่าว CGTN ของจีนรายงานว่า ในปี 2018 ที่ผ่านมา รายได้บ็อกซ์ออฟฟิศจีนเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 9 % มาอยู่ที่ 60,980 ล้านหยวน หรือเกือบ 300,000 ล้านบาท และภาพยนตร์ที่ทำรายได้มากที่สุด 10 อันดับแรก เป็นภาพยนตร์ต่างชาติถึงเกือบครึ่งหนึ่ง แต่ตัวเลขรายได้กลับยังไม่แข็งแรงและมากเท่าที่สตูดิโอดังจากฮอลลีวูดต้องการ เนื่องจากภาพยนตร์จีนเริ่มมีคุณภาพสูงขึ้นเรื่อย ๆ และกลายเป็นที่นิยมขึ้น แม้แต่ในตลาดนอกประเทศ นอกจากนี้ ยังทำเงินในประเทศได้ดีต่อเนื่อง จนถือได้ว่าเป็นคู่แข่งสำคัญของภาพยนตร์ฮอลลีวูดไปโดยปริยาย
ด้วยเหตุผลด้านรายได้บ็อกซ์ออฟฟิศและความเป็นคู่แข่งกันระหว่างผลงานจากในปละนอกประเทศนี้ ทำให้การประชาสัมพันธ์โดยการผนวกรวมความเป็นตะวันตกเข้ากับความเป็นจีนจึงเป็นแนวทางดึงดูดความสนใจผู้ชมที่ดี โดยหนึ่งในวิธีออกแบบโปสเตอร์ภาพยนตร์ให้ 'จีน' ขึ้น เช่น
1) ใช้เทคนิคภาพการตัดกระดาษแบบจีน เน้นการใช้กระดาษสีแดงตัดกับพื้นขาว เพราะสีแดงคือสีแห่งโชค ความสุข และการเฉลิมฉลอง โดย Spider-Man: Into the Spider-Verse ก็เลือกใช้ดีไซน์นี้ สำหรับโปรโมตผลงานในจีนเมื่อไม่กี่เดือนที่แล้ว
2) การทำให้ตัวละครในเรื่องกลายเป็นตัวละครใน 4 วรรณกรรมคลาสสิกของจีน นั่นก็คือ ความฝันในหอแดง , สามก๊ก , ไซอิ๋ว และซ้องกั๋ง ซึ่งถือเป็นหัวใจหลักของงานเขียนจีนและยังคงมีความสำคัญอย่างยิ่งในวัฒนธรรมสมัยใหม่ ในลักษณะเดียวกับที่งานของ ดันเต และ เชกสเปียร์ มีคุณค่าต่อวรรณกรรมในยุโรป ซึ่ง Stand by Me Doraemon ก็เป็นหนึ่งในผลงานที่เลือกจะโปรโมตด้วยดีไซน์นี้
3) การวาดด้วยหมึกจีน ซึ่งเป็นรูปแบบที่เห็นได้มากที่สุดในงานที่ชาวตะวันตกต้องการแสดงความเป็นจีน ซึ่งมักออกมาในรูปแบบของภูมิทัศน์ ภูเขา แม่น้ำ และน้ำตก ไม่เช่นนั้นก็เป็นภาพที่สะบัดพลิ้วไหวคล้ายกับควัน ที่ทำให้หมึกจีนโดดเด่นจากพื้นหลังสีขาวและสะดุดตายิ่งขึ้น โดย Venom ก็มีโปสเตอร์ลักษณะนี้ออกมาด้วย
4) การนำเสนอมรดกทางวัฒนธรรม เช่นที่ Maze Runner: The Death Cure ทำ โดยการนำศิลปะของจีนแบบต่าง ๆ มาเป็นเขาวงกต แทนที่เขาวงกตจริงที่ปรากฏในภาพยนตร์ ไม่ว่าจะเป็นขนมไหว้พระจันทร์ ตราประทับ หน้าต่าง และจานชามเครื่องสังคโลก ซึ่งก็ออกมาดูดีและมีเสน่ห์อย่างไม่น่าเชื่อ
5) การใช้สถานที่สำคัญมาเป็นส่วนหนึ่งของโปสเตอร์ เช่น การได้เห็นสไปเดอร์-แมน เดินอยู่ตามจุดหมายปลายทางที่นักท่องเที่ยวนิยม เป็นต้น
ทั้งหมดนี้ล้วนเป็น 'กิมมิก' ที่สตูดิโอหวังจะใช้เอกระตุ้นให้ผู้ชมชาวจีนซื้อตั๋วเข้าไปดูภาพยนตร์กันมากขึ้น จนกลายเป็นอีกหนึ่งการแข่งขันด้านความคิดสร้างสรรค์ที่แฟน ๆ รอคอยจากค่ายยักษ์ใหญ่ ทั้งในช่วงที่ผลงานจะเข้าฉาย และตามเทศกาลสำคัญไปเสียแล้ว