คาดแอปเปิล ผลิตแม็คบุ๊กแบบทัชสกรีน
แอปเปิล ซุ่มพัฒนาแม็คบุ๊กโปรโตไทป์รุ่น เออาร์เอ็ม (ARM) แบบทัชสกรีน พร้อมรองรับเครือข่าย LTE
บีจีอาร์ (BGR) เว็บไซต์ข่าวเทคโนโลยีต่างประเทศ รายงานว่า แอปเปิลกำลังซุ่มพัฒนาแม็คบุ๊กโปรโตไทป์รุ่น เออาร์เอ็ม (ARM) ซึ่งจะมาพร้อมกับฟีเจอร์หน้าจอแบบทัชสกรีน รองรับการเชื่อมต่อเครือข่าย LTE และรวมเอาระบบปฏิบัติการแม็คโอเอส และไอโอเอสเข้าไว้ด้วยกัน
ก่อนหน้านี้ในตลาดคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ก คู่แข่งคนสำคัญอย่าง เดลล์ (Dell) ประกาศเตรียมผลิต 'เซอร์เฟซโฟน' ซึ่งเป็นลูกครึ่งระหว่างสมาร์ตโฟนและแล็ปท็อป ที่จะนำโปรเซสเซอร์ Snapdragon 850เข้ามาใช้งาน ซึ่งโปรเซสเซอร์ดังกล่าว ถูกพัฒนามาจาก Snapdragon 845 ที่ใช้ในสมาร์ตโฟนรุ่นท็อป และในรุ่นนี้ถูกออกแบบมาเพื่อคอมพิวเตอร์เออาร์เอ็ม ที่ใช้ระบบปฏิบัติการวินโดวส์ 10 โดยเฉพาะ
นอกจากนั้น ยังมีข่าวลือออกมาว่า ควอลคอม ผู้ผลิตชิปเซ็ต กำลังซุ่มพัฒนาโปรเซสเซอร์ Snapdragon 1000 มารองรับอุปกรณ์ที่ทำงานด้วยระบบปฏิบัติการวินโดวส์ 10 ซึ่งคาดว่าจะเปิดตัวในช่วงปลายปีนี้ หรือต้นปีหน้า และคาดว่า เอซุส (Asus) จะเป็นเจ้าแรก ๆ ที่นำมาใช้ผลิตแล็ปท็อปรุ่น 'ไพรมัส' (Primus)
อย่างไรก็ตาม ทางแอปเปิลกำลังเร่งผลิตโปรเซสเซอร์สำหรับไอโฟนตัวใหม่ที่จะเปิดตัวเร็ว ๆ นี้ ซึ่งสื่อต่างประเทศคาดการณ์ว่า แอปเปิลคงไม่พลาดที่จะผลิตชิปสำหรับแม็คบุ๊กรุ่น เออาร์เอ็มด้วย ซึ่งถ้าหากไม่มีอะไรผิดพลาด คาดว่าแอปเปิลจะเปิดตัวแม็คบุ๊กรุ่นดังกล่าวภายในปี 2020
'เฟซบุ๊ก' เลิกทำปุ่มแสดงอารมณ์ตามเทศกาล
ลิซ่า สแตร็ตตัน (Lisa Stratton) โฆษกของเฟซบุ๊ก ออกมาชี้แจงกับเว็บไซต์ บิสซิเนส อินไซเดอร์ (Business Insider) ว่า เฟซบุ๊กจะไม่เพิ่มปุ่มแสดงอารมณ์ หรือ Reaction button ในช่วงเทศกาลพิเศษ หรือวาระสำคัญต่าง ๆ อีกต่อไป โดยก่อนหน้านี้ เฟซบุ๊กเคยทดสอบฟีเจอร์นี้ให้ผู้ใช้งานกดแสดงอารมณ์ในโพสต์ต่าง ๆ เมื่อปี 2016 เช่น ปุ่มไลก์ ปุ่มหัวใจ ปุ่มหัวเราะ ปุ่มว้าว ปุ่มเศร้า และปุ่มโกรธ
นอกจากนี้ เฟซบุ๊กยังมีปุ่มพิเศษตามช่วงเทศกาลและวาระสำคัญต่าง ๆ เช่น ปุ่มแสดงอารมณ์ครบรอบ 50 ปี ภาพยนตร์สตาร์เทรค ปุ่มดอกไม้สีม่วงในช่วงวันแม่ รวมถึงปุ่มธงสีรุ้ง สำหรับแสดงความรักและการยอมรับผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ หรือ LGBTQ ซึ่งตรงกับช่วงเดือนมิถุนายน แต่มาในปีนี้ เฟซบุ๊กประกาศอย่างเป็นทางการแล้วว่าจะไม่เพิ่มปุ่มพิเศษเหล่านี้อีกต่อไป แต่จะหันไปเพิ่มฟีเจอร์อื่น ๆ บนเฟซบุ๊กแทน เช่น กรอบรูปโปรไฟล์ ตัวหนังสือหรือพื้นหลังโพสต์แบบพิเศษ รวมทั้งฟิลเตอร์เออาร์สำหรับใช้ในเมสเซนเจอร์อีกด้วย คุณผู้ชมที่สนใจ สามารถเข้าไปเล่นฟีเจอร์ดังกล่าวในเฟซบุ๊กได้แล้ว
'อินสตาแกรม' เผยสาเหตุที่หน้าฟีดกวนใจผู้ใช้งาน
หลังจากที่อินสตาแกรม ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มแชร์รูปภาพได้ปรับอัลกอริทึมใหม่ไปเมื่อปี 2016 ทำให้ผู้ใช้งานมีความเป็นส่วนตัวในโพสต์มากขึ้น และแสดงรูปภาพที่คิดว่าผู้ใช้สนใจ แทนการแสดงภาพที่โพสต์ล่าสุดบนหน้าฟีด จนทำให้ผู้ใช้หลายคนไม่พอใจ ล่าสุด อินสตาแกรมได้อธิบายการทำงานของอัลกอริทึมนี้ผ่านทางเว็บไซต์เทคครันช์
โดยอินสตาแกรมเผยว่า การที่ผู้ใช้งานเห็นโพสต์ของเพื่อนลดลงกว่าครึ่งหนึ่ง แต่เห็นโพสต์ที่ตนเองสนใจได้มากขึ้นนั้น มาจาก 3 ปัจจัยหลัก คือ ข้อแรก อินสตาแกรมใช้แมชชีนเลิร์นนิงในการคาดเดาว่าผู้ใช้งานน่าจะสนใจโพสต์ไหน และจัดลำดับโพสต์ให้เห็นตามพฤติกรรมการเสพคอนเทนต์ของผู้ใช้งาน ข้อสองคือ จัดเรียงตามเวลาการโพสต์ในอัปเดตเสมอ และข้อสุดท้าย อินสตาแกรมจะแสดงโพสต์ของเพื่อนสนิทหรือคนคุ้นเคยมากขึ้น โดยอิงจากการใช้งานของผู้ใช้ ไม่ว่าจะเป็นการคอมเมนต์หรือแท็กอีกฝ่าย
นอกจากนี้ อินสตาแกรมยังเผยว่า ความถี่ในการเปิดแอปฯ ยังเป็นอีกหนึ่งปัจจับที่ถูกนำมาใช้วิเคราะห์ผู้ใช้งาน และหากผู้ใช้งานติดตามผู้คนที่หลากหลาย แอปฯ จะเลือกแสดงโพสต์แบบสุ่ม ซึ่งจะทำให้ผู้ใช้งานจะเห็นโพสต์แบบเจาะจงบัญชีน้อยลง
โดยอินสตาแกรมยืนยันว่าไม่ได้ซ่อนโพสต์ในหน้าฟีดแต่อย่างใด ซึ่งหากผู้ใช้งานเลื่อนฟีดลงไปเรื่อย ๆ ก็จะเห็นโพสต์ที่ติดตามอยู่ทั้งหมด และสำหรับผู้ใช้งานที่โพสต์ภาพติด ๆ กันอย่างต่อเนื่อง อินสตาแกรมจะเลือกคอนเทนต์อื่นมาคั่นระหว่างภาพ เพื่อที่จะได้ไม่รกหน้าฟีดของผู้ที่ติดตามผู้ใช้งานคนนั้นนั่นเอง
Source
YouTube/Apple
Vimeo/Instagram