รายงานจากหน่วยงานด้านอาหารของสหประชาชาติระบุว่า เมื่อปีที่ผ่านมาประชากรโลกกว่า 821 ล้านคนกำลังเผชิญกับภาวะอดอยากและหิวโหย และเป็นปีที่สามที่ตัวเลขเพิ่มขึ้นติดต่อกัน
สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากนครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม ว่าโครงการอาหารโลก (WFP) และองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ซึ่งเป็นหน่วยงานจัดการด้านอาหารและโภชนาการของสหประชาชาติ ได้รายงานว่าภาวะอดอยากและหิวโหยของประชากรโลกยังอยู่ในขั้นวิกฤติ โดยสถิติเมื่อปีที่แล้วอยู่ที่มากกว่า 821 ล้านคนทั่วโลก เพิ่มขึ้น 10 ล้านคนจากปี 2017 ซึ่งอยู่ที่ประมาณ 811 ล้านคน โดยถือเป็นปีที่สามติดต่อกันนับจากปี 2015 หลังจากที่ภาวะนี้ห่างหายไปนานหลายทศวรรษ ดังนั้นแนวโน้มการมีจำนวนเพิ่มขึ้นเช่นนี้ทำให้ เดวิด บีสลีย์ หัวหน้าโครงการอาหารแห่งสหประชาชาติระบุว่า โลกอาจไม่สามารถบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในการขจัดความหิวโหย ภายในปี 2030 แน่นอน
นอกจากนี้ในรายงานยังระบุอีกด้วยว่า หนึ่งสาเหตุหลักของความอดอยากและความหิวโหยของประชาชนที่ส่งผลให้วิกฤติยิ่งขึ้น คือการที่กลุ่มหัวรุนแรงใช้ความหิวโหยและการควบคุมอาหารเป็นอาวุธในการควบคุมประชาชนในพื้นที่ให้อยู่ภายใต้การปกครอง และต่อรองในการจ้างสมาชิกใหม่ด้วย ทั้งนี้ ประชาชนในแอฟริกาที่อยู่ในภาวะทุพโภชนาการมีถึงราว 20 เปอร์เซ็นต์ รองลงมาคือทวีปเอเชีย ประมาณ 12 เปอร์เซ็นต์ ตามด้วยลาตินอเมริกาและแคริบเบียนเกือบ 7 เปอร์เซ็นต์ รวมทั้งหมดแล้วมากกว่า 2,000 ล้านคน
อย่างไรก็ตาม ภูมิภาคที่พัฒนาแล้วอย่างอเมริกาเหนือและยุโรป ก็ยังประสบกับปัญหา "ความไม่ปลอดภัย" หรือ "ความไม่มั่นคง" ทางอาหารเช่นกัน โดยยังคงมีหลายประเทศต้องแก้ไขปัญหาที่ประชาชนได้รับประทานอาหาร "ที่ไม่ปลอดภัย" มากขึ้นด้วย นอกจากนี้ WFP ยังแสดงความกังวลด้วยว่า ภาวะทุพโภชนาการบนโลกที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้นจะส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตของเด็กประมาณ 149 ล้านคนอีกด้วย