รัฐบาลท้องถิ่นรัฐมหาราษฏระ ของอินเดีย เตรียมเปิดให้บริการไฮเปอร์ลูปเชื่อมต่อ 2 เมืองสำคัญในปี 2021 ซึ่งจะช่วยประหยัดเวลาจากเดิมได้ถึง 2 ชั่วโมงครึ่ง
อินเดียเตรียมสร้างไฮเปอร์ลูปเชื่อมระหว่าง 2 เมืองใหญ่ในรัฐมหาราษฏระ คือ นครมุมไบ และเมืองปูเน มีกำหนดเปิดให้บริการในปี 2021 ซึ่งถ้าแล้วเสร็จจะทำให้ผู้โดยสารสามารถเดินทางระหว่าง 2 เมือง ระยะทาง 150 กิโลเมตร ภายในเวลา 25 นาที จากเดิมที่ต้องใช้เวลานานกว่า 3 ชั่วโมง หากเดินทางด้วยรถยนต์หรือรถไฟ โดยโครงการนี้เกิดจากข้อตกลงระหว่างรัฐมหาราษฏระ ของอินเดีย และบริษัทเวอร์จิน ไฮเปอร์ลูป วัน (Virgin Hyperloop One) ของเซอร์ ริชาร์ด แบรนสัน ซีอีโอเครือบริษัทเวอร์จิน และมหาเศรษฐีชาวอังกฤษ
เบื้องต้น มีการคาดการณ์ว่าในแต่ละปี ไฮเปอร์ลูปเส้นทางนี้จะรับส่งผู้โดยสารได้มากถึง 150 ล้านคน และสร้างกำไรในเชิงเศรษฐกิจและสังคมเป็นมูลค่าราว 55,000 ล้านดอลลาร์ หรือ 1 ล้าน 7 แสน 3 หมื่นล้านบาท ซึ่งรวมถึงอัตราการเกิดอุบัติเหตุที่ลดลง และประหยัดเวลาเดินทาง รวมถึงลดต้นทุนการปฏิบัติการต่าง ๆ ซึ่งจะช่วยลดปัญหาการจราจรติดขัด และลดการปล่อยแก๊สเรือนกระจกขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศได้มากถึง 86,000 ตัน เมื่อดำเนินการครบ 30 ปี
หลังจากนี้ จะมีการศึกษาความเป็นไปได้ด้านต่าง ๆ เป็นระยะเวลา 6 เดือน ซึ่งหากผ่านขั้นตอนดังกล่าวก็จะเริ่มการก่อสร้างรางไฮเปอร์ลูปได้ทันที โดยคาดว่าจะเสร็จสมบูรณ์ตามแผนภายใน 3 ปี