ท่ามกลางการแข่งขันทางธุรกิจที่ต้องมีการวัดผลอย่างแม่นยำ บริษัทใหญ่อย่างอาลีบาบากลับเลือกที่จะบอกพนักงานให้ไม่ใช้ชีวิตการทำงาน 'เพื่อ KPI' โดยนี่เป็นแนวคิดหลักที่ แดเนียล จาง ผู้สืบทอดตำแหน่งจาก แจ็ก หม่า บอกกับลูกน้องของเขา
แดเนียล จาง หรือ จางหย่ง ซีอีโอของ อาลีบาบา กรุ๊ป ได้ขึ้นกล่าวต่อที่ประชุมภายในว่าด้วยการวางกลยุทธ์ด้านการบริการเป็นครั้งแรกว่า พนักงานในระดับผู้จัดการของบริษัทไม่ควรจดจ่ออยู่แต่กับตัวชี้วัดประสิทธิภาพการทำงานเพียงอย่างเดียว โดยย้ำว่า 'ถ้าเราอยู่เพื่อ KPI และทำงานทุกอย่างเพื่อ KPI ที่ดีแล้ว อาลีบาบาจะจบกัน'
เนื้อหาดังกล่าวมาจากการประชุมภายในผู้บริหารระดับสูง 500 ตำแหน่งของอาลีบาบาเมื่อเดือนที่แล้ว เพื่อให้ จาง ได้นำเสนอทิศทางด้านธุรกิจ หลังจากที่ หม่า เลือกเขาเป็นผู้สืบทอดตำแหน่ง ซึ่งสื่อมวลชนที่ดำเนินกิจการภายใต้การดูแลของอาลีบาบาอย่าง South China Morning Post เพิ่งนำมารายงานต่อสาธารณะ
ทั้งนี้ KPI ย่อมาจาก Key Performance Indicator หรือก็คือ ตัวชี้วัดสมรรถนะหลัก ที่วัดจากผลการปฏิบัติงานที่เกิดขึ้นจริง เพื่อแสดงผลสำเร็จของการวัดตามวัตถุประสงค์ขององค์กร ซึ่งเป็นวิธีที่บริษัทจำนวนมากเลือกใช้ในการประเมินพนักงาน และการทำงานของแต่ละแผนก
จาง เข้ามามีบทบาทในอาลีบาบามากขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในช่วงที่ดำรงตำแหน่งประธานด้านการเงิน หรือ ซีเอฟโอ ของเว็บไซต์ 'เถาเป่า มาร์เก็ตเพลส' เว็บไซต์ขายสินค้าออนไลน์ในเครืออาลีบาบา ซึ่งขณะนั้นมียอดผู้ใช้งานเพียงวันละ 10 ล้านคน และยังไม่ได้เป็นธุรกิจที่ทำเงินเลยด้วยซ้ำ แต่ปัจจุบันกลับมีผู้เข้าใช้งานวันละเกือบ 190 ล้านคน ทำให้ จาง ได้รับความสนใจมากขึ้นและถูกขนานนามว่าเป็น 'ผู้เปลี่ยนโฉมหน้าการชอปปิงของคนจีน'
โดยในปี 2009 จาง เป็นผู้คิดวิธีที่จะสร้างวันชอปปิงครั้งใหญ่ในจีน เช่นวัน Black Friday ของชาวอเมริกัน ที่เป็นวันลดราคาสินค้าแบบถล่มทลายในช่วงหลังวันขอบคุณพระเจ้า โดยได้เลือกเอาวันคนโสดของจีน ซึ่งตรงกับวันที่ 11 เดือน 11 มาเป็นวันเปิดตัวแคมเปญลดราคาสินค้าแบบถล่มทลาย ด้วยยอดขายสินค้ากว่า 249 ล้านบาท มากกว่าปกติที่ขายได้ราว 48 ล้านบาทต่อวันเท่านั้น จนล่าสุดในปีที่แล้ว สามารถทำรายได้สูงเป็นประวัติการณ์ถึง 820,000 ล้านบาท ซึ่งนั่นเป็นตัวเลขที่มากกว่าวันลดราคาครั้งใหญ่ของสหรัฐฯ ทั้งวัน Black Friday และวัน Cyber Monday รวมกันเสียอีก
บริษัทอาลีบาบาเอง ไม่ได้มีทีท่าว่าจะประสบความสำเร็จมากตั้งแต่แรก และมีเส้นทางธุรกิจที่ยาวนาน ก่อนจะเป็นที่รู้จักไปทั่วโลกอย่างทุกวันนี้ โดยตั้งแต่ปี 1999 ที่ก่อตั้ง บริษัทเริ่มจากการเป็นสตาร์ตอัป ที่ผู้ร่วมก่อตั้ง 18 คน ทำงานกับ หม่า ในอพาร์ตเมนต์ของเขาในเมืองหางโจว ประเทศจีน จนกระทั่งกลายเป็นบริษัทที่มี Market Cap หรือ มูลค่าตามราคาตลาด สูงที่สุดในเอเชีย ที่ 427,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือเกือบ 14 ล้านล้านบาท อย่างทุกวันนี้ และทำให้ หม่า กลายเป็นคนร่ำรวยที่สุดในประเทศจีน
หม่า เคยกล่าวว่า เขาหวังจะเห็นอาลีบาบามีอนาคตยาวไกลไปอีกอย่างน้อย 102 ปี โดยมีเป้าหมายคือ การทำให้ธุรกิจเป็นเรื่องง่าย และเกิดขึ้นได้ทุกที่ทั่วโลก ซึ่งเขาได้วางโครงสร้างเป็นพันธมิตรกับหลายบริษัทใหญ่ เพื่อให้สิ่งที่เขาคิดไว้นี้เป็นความจริงได้ง่ายขึ้น ตลอดจนป้องกันไม่ให้การตัดสินใจสำคัญในบริษัทตกอยู่ในมือผู้บริหารไม่กี่คน
แดเนียล จาง พร้อมด้วย เจฟฟ์ จาง ผู้บริหารด้านเทคโนโลยี และ เอริก จิง ผู้บริหารด้านการเงิน เป็น 3 ใน 36 พันธมิตร ที่อาลีบาบาเข้าไปจับมือทำธุรกิจด้วย ภายใต้โครงสร้างที่ หม่า สร้างขึ้น และมีอำนาจลงความเห็นเลือกแนวทางที่ได้เสียงข้างมากภายในบอร์ดบริหาร เท่ากับว่า จาง เป็นหนึ่งในผู้ที่ได้รับการยอมรับมาตั้งแต่ก่อนจะถูกเสนอชื่อดำรงตำแหน่งแทน หม่า มาระยะหนึ่งแล้ว
จาง ระบุว่า พนักงานของอาลีบาบาต้องคำนึงถึงการใช้ลูกค้าเป็นที่หนึ่ง พนักงานเป็นที่สอง และผู้ถือหุ้นเป็นที่สาม ตามหลักที่ หม่า วางไว้ ขณะเดียวกัน พนักงานทั้งหลายก็ต้องใช้ชีวิตให้ได้ตามที่ตัวเองคาดหวัง ไม่ใช่ตามที่ผู้อื่นคาดหวัง และต้องไม่ย่อท้อเมื่อเจออุปวรรคด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อมีการปรับโมเดลธุรกิจ และมีโปรเจกต์ใหม่ที่ไม่เคยลองทำมาก่อน
จาง กล่าวว่า 'ธุรกิจของอาลีบาบาหลายส่วนเป็นเหมือนเดิมมา 10 ปีแล้ว และถ้าเรายังทำเหมือนเดิมแบบนี้ต่อไป อีกสัก5 ปี เราก็จะไม่มีอนาคต' โดยเขาระบุเพิ่มเติมด้วยว่า สิ่งที่เขากลัวที่สุด คือ การที่อาลีบาบากลายเป็นเหมือนกับ Robot on Loop หรือ หุ่นยนต์ที่ทำงานซ้ำเดิมวนไปเรื่อย ๆ
สำหรับด้านการแข่งขันกับคู่แข่งในธุรกิจอินเทอร์เน็ตในจีนนั้น จาง กล่าวว่า ลูกจ้างอาลีบาบาควรจะรู้สึกผ่อนคลาย เพราะแม้ว่าบริษัทจะเดินหมากในเกมธุรกิจพลาดไปบ้าง ความผิดพลาดเหล่านั้นก็ยังมีคู่แข่งทำตาม เพราะฉะนั้น อาลีบาบาควรทำธุรกิจด้วยความสุข มี Happy Attitude และจำไว้ว่า 'ไม่มีใครชนะศึกได้ด้วยการทำตามผู้อื่น'
หลังจากนี้ ต้องรอดูกันว่าทิศทางของอาลีบาบาจะคงอยู่ตามที่ จาง แถลงเช่นนี้ เพียงแค่ช่วงที่ หม่า ยังช่วยดูแล 12 เดือนนี้หรือไม่ และบรรยากาศการทำธุรกิจและวิสัยทัศน์ของอาลีบาบาจะเปลี่ยนไปมากน้อยขนาดไหน เมื่อขึ้นอยู่กับ แดเนียล จาง เพียงคนเดียว