จีนปล่อยดาวเทียมอุตุนิยมวิทยา เพื่อพัฒนาระบบพยากรณ์อากาศให้แม่นยำยิ่งขึ้น และช่วยเอื้อประโยชน์ด้านอุตุนิยมวิทยาให้กับประเทศจีนที่ร่วมโครงการเส้นทางสายไหมในศตวรรษที่ 21
เมื่อวานนี้ (5 มิ.ย. 61) ทางการจีนได้ปล่อยดาวเทียมอุตุนิยมวิทยา ‘Fengyun-2H (เฟิงอวิ๋น-ทูเอช)’ ไปกับจรวด ‘Long March-3A (ลองมาร์ช-ทรีเอ)’ ในเวลา 21.07 น. ตามเวลาที่กรุงปักกิ่ง ที่ศูนย์ส่งดาวเทียมเมืองซีชาง ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน
โดยองค์การอุตุนิยมวิทยาโลก และองค์การความร่วมมือด้านอวกาศแห่งเอเชียและแปซิฟิก ได้ขอให้จีนปรับตำแหน่งของดาวเทียมนี้จากเดิมอยู่ที่ 86.5 องศาลองติจูดตะวันออก ขยับไปเป็น 79 องศาลองติจูดตะวันออก ซึ่งทำให้ดาวเทียม Fengyun ทุกรุ่นครอบคลุมทั่วบริเวณของประเทศจีน รวมไปถึงประเทศที่อยู่ในเส้นทางสายไหมแห่งศตวรรษที่ 21 รวมไปถึงมหาสมุทรอินเดีย และบางประเทศในแอฟริกา
การปรับตำแหน่งดาวเทียมครั้งนี้ยังจะช่วยให้ได้ข้อมูลทางอุตุนิยมวิทยาที่กว้างขึ้น ที่จะนำไปสู่การพัฒนาระบบพยากรณ์อากาศให้แม่นยำยิ่งกว่าเดิม และยังจะช่วยให้รับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศได้ รวมถึงลดความสูญเสียที่จะเกิดจากภัยธรรมชาติได้เช่นกัน เนื่องจาก Fengyun-2H ติดตั้งเครื่องวัดการแผ่รังสี และเครื่องตรวจจับสภาพอากาศ จึงสามารถส่งภาพก้อนเมฆและไอน้ำ และข้อมูลสภาพอากาศไปยังลูกค้าในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกได้แบบเรียลไทม์
โดยประเทศที่อยู่ในเส้นทางสายไหมใหม่มักอยู่บริเวณภูเขาสูง ทะเลทราย มหาสมุทร และไม่มีข้อมูลทางอุตุนิยมวิทยามากนัก จึงทำให้ไม่สามารถป้องกันภัยธรรมชาติได้อย่างทันท่วงที ทางการจีนจึงเสนอที่จะนำข้อมูลที่ได้จากดาวเทียม Fengyuan ไปให้ประเทศเหล่านี้ รวมถึงประเทศสมาชิกขององค์การความร่วมมือด้านอวกาศแห่งเอเชียและแปซิฟิก โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย