องค์การอวกาศยุโรปเตรียมปล่อยดาวเทียมดวงแรกที่เน้นการสำรวจกระแสลมโลก ซึ่งจะช่วยพัฒนาระบบพยากรณ์อากาศต่อไปในอนาคต
องค์การอวกาศยุโรปวางแผนที่จะปล่อยดาวเทียม ‘อีโอลัส (Aeolus)’ เพื่อสำรวจกระแสลมโลก ที่จะช่วยพัฒนาการพยากรณ์อากาศบนโลกได้ในระยะสั้น และยังจะช่วยให้เข้าใจการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดจากน้ำมือมนุษย์ได้ดียิ่งขึ้น
สำหรับชื่อ ‘อีโอลัส’ มาจากชื่อเทพผู้พิทักษ์ลมตามตำนานเทพปกรณัมกรีก โดยดาวเทียมนี้จะช่วยให้นักอุตุนิยมวิทยามีข้อมูลกระแสลมจากทั่วโลก แม้ในพื้นที่ห่างไกลและไม่มีสถานีตรวจวัดอากาศบนพื้นโลก ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะช่วยให้การพยากรณ์อากาศแม่นยำยิ่งขึ้น โดยหลังจากที่ปล่อยดาวเทียมอีโอลัสขึ้นสู่วงโคจร จะมีการดาวน์โหลดข้อมูลไปยังสถานีตรวจวัดอากาศที่หมู่เกาะสฟาลบาร์ (Svalbard) ในประเทศนอร์เวย์
อีโอลัส เป็นดาวเทียมดวงที่ห้าขององค์การอวกาศยุโรปที่ใช้ในภารกิจสำรวจโลก โดยก่อนหน้านี้ได้ปล่อยดาวเทียมที่ใช้สำรวจแรงโน้มถ่วงโลก สนามแม่เหล็กโลก ความชื้นของดิน ความเข้มข้นของเกลือในทะเล และน้ำแข็งบนโลกที่เรียกว่า ‘ไครโอสเฟียร์ (cryosphere)’
เดิมทีองค์การอวกาศยุโรปวางแผนจะปล่อยดาวเทียมในวันนี้ (21 ส.ค.) ที่ฐานปล่อยของบริษัท ‘แอเรียนสเปซ (Arianespace)’ ในเฟรนช์กีอานาของฝรั่งเศส ในเวลา 21.00 น. ตามเวลามาตรฐานกรีนิช ตรงกับเวลาประมาณตี 4 ของวันพุธที่ไทย แต่ด้วยสภาพลมที่ไม่เหมาะสม ทำให้ทีมงานได้เลื่อนเวลาปล่อยดาวเทียมไปอีกหนึ่งวัน โดยจะปล่อยขึ้นสู่วงโคจรในวันที่ 22 สิงหาคมนี้ ในเวลา 18.20 น. ตามเวลาของประเทศเฟรนช์กีอานา ซึ่งตรงกับเวลา 4.20 น. ในวันพฤหัสบดีที่ไทย
Source