หลังจากที่ทางการจีนพยายามผลักดันให้เอกชนเข้ามาร่วมพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศเชิงพาณิชย์ ล่าสุด บริษัทเอกชนจีนได้ประสบความสำเร็จในการปล่อยจรวดขึ้นสู่อวกาศเป็นครั้งแรก โดยจะเน้นบริการทดสอบการบินเพื่อการวิจัยทางวิทยาศาสตร์เป็นหลัก
'วัน สเปซ (One Space)’ บริษัทผู้พัฒนาจรวดเพื่อการค้าของจีน ประสบความสำเร็จในการส่งจรวด ‘โอเอส-เอ็กซ์ ฉงชิ่ง เหลี่ยงเจียง สตาร์ (OS-X Chongqing Liangjiang Star)’ ขึ้นสู่อวกาศ ในเวลา 7.33 น. ของเช้าวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา (17 พ.ค. 61) บริเวณฐานปล่อยจรวดทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศจีน
โดยจรวดเอกชนลำแรกของจีนที่ได้ขึ้นสู่อวกาศนี้เดินทางด้วยความเร็ว 273 กิโลเมตร มีความเร็วเหนือเสียงห้าเท่า และบินตามวิถีโคจรที่ตั้งไว้ได้นาน 306 วินาที ซึ่งจรวดรุ่น OS-X นี้พัฒนาขึ้นเพื่อเน้นให้บริการทดสอบการบิน ที่จะช่วยในการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ต่อไป
หลิน กุ้ยปิง (Lin Guipin) รองคณบดีวิทยาลัยวิทยาศาสตร์การบินและวิศวกรรม แห่งมหาวิทยาลัยการบินและอวกาศยานศาสตร์ กรุงปักกิ่งเผยว่า ขณะจรวดบินสู่อวกาศด้วยความเร็วสูงจะเกิดภาวะต่าง ๆ เช่น aerodynamic heating ซึ่งเป็นภาวะที่อากาศเสียดสีกับผิวของกาศยานขณะที่บินด้วยความเร็วสูง โดยทีมงานสามารถนำมาจำลองภาวะไร้น้ำหนักที่ยานอวกาศกำลังท่องอวกาศได้อย่างใกล้เคียงความเป็นจริงยิ่งขึ้น
นอกจากนั้น บริษัทยังเผยว่า ทีมงานใช้เวลาเพียงหนึ่งปีเท่านั้นในการสร้างจรวดและนำออกมาปล่อยที่ฐานส่งโดยชู ชาง (Shu Chang) ซีอีโอและผู้ก่อตั้ง ‘วัน สเปซ’ เผยว่า ความสำเร็จในการปล่อยจรวดครั้งนี้เป็นเพียงก้าวแรกของบริษัทเท่านั้น ซึ่งพวกเราสามารถยิงจรวดที่เพิ่งสร้างขึ้นสู่อวกาศได้สำเร็จเป็นครั้งแรกด้วยการยิงเพียงครั้งเดียว โดยครั้งต่อไป เราจะก้าวให้ไกลยิ่งขึ้น และท้าทายยิ่งกว่าเดิม เช่น การผลิตจรวด 100 ลำพร้อมกัน