สังคมไร้เงินสดในจีนกำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว และสิ่งที่ขับเคลื่อนการกระจายตัวของเทคโนโลยีดังกล่าว นอกจากจะมาจากผู้ให้บริการแล้ว ยังรวมถึงกลุ่มผู้ใช้ นั่นคือ มิลเลนเนียลจีน ที่เป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญที่ทำให้การไม่ใช้เงินสดเป็นไปได้
ก่อนจะไปดูที่วัยรุ่นและมิลเลนเนียลจีน มาดูบริการล่าสุดที่เป็นข่าวกันสักนิด นั่นก็คือ คาเฟ่แมวในหางโจว มณฑลเจ้อเจียง ของจีน ที่ไม่มีแคชเชียร์ และให้ผู้ใช้บริการยิงคิวอาร์โค้ดที่อยู่บนเสื้อแมวแทนการจ่ายผ่านแคชเชียร์ ซึ่งนี่เป็นตัวอย่างของร้านไร้เงินสด ที่นับวันจะยิ่งเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อย ๆ
ไม่เพียงแต่บริการแบบคาเฟ่แมวเท่านั้น แต่การจับจ่ายของสดในจีนก็พัฒนาจนไม่รับเงินสดแล้วเช่นกัน ยกตัวอย่างจากแหล่งข่าวของ Financial Times ฟรีดา ไช่ ที่ให้ข้อมูลในบทความล่าสุดว่า ตัวเธอไปเรียนเมืองนอกเมื่อปี 2013 ซึ่งตอนนั้นจีนเพิ่งเข้าสู่ยุคฟินเทค ยังไม่มีบริการใดเป็นชิ้นเป็นอัน แต่ 3 ปีถัดมา เธอกลับมาบ้านแล้วพบว่าเธอไม่สามารถซื้อแตงโมได้ด้วยเงินสดอีกต่อไป เพราะทางร้านยืนยันจะรับจ่ายผ่านวีแชตเพย์เท่านั้น ซึ่งไช่ยอมรับว่า ตอนนี้เธอจำแทบไม่ได้แล้วด้วยซ้ำว่ากดเอทีเอ็มครั้งสุดท้ายเมื่อไร น่าจะเกิน 1 ปีมาแล้ว
บริการโมบายล์เพย์เมนต์ในจีนเกิดขึ้นและเติบโตเร็วมาก โดยภายใน 5 ปี ก็สามารถครอบคลุมได้ทั่วประเทศ และกระจายมายังประเทศอื่นแล้ว และอุตสาหกรรมฟินเทคจีนก็ทำรายได้ปีที่แล้วไปถึง 654,000 ล้านหยวน หรือกว่า 3 ล้านล้านบาท และการใช้จ่ายผ่านโมบายล์เพย์เมนต์ในจีนประเทศเดียว ก็สูงกว่าการใช้จ่ายผ่านบัตรวีซาและมาสเตอร์การ์ดรวมกันทั้งโลก
นอกจากนี้ สถิติยังชี้ว่า การใช้จ่ายแบบดิจิทัลในจีนปีที่แล้ว ผ่านอาลีเพย์และวีแชต ก็สูงกว่าเพย์พัล ซึ่งเป็นบริการจ่ายเงินออนไลน์ที่ใหญ่ที่สุดจากสหรัฐฯ แล้วด้วย ที่น่าตกใจคือรายได้ปีที่แล้วของเพย์พัลที่อยู่ที่ 451,000 ล้านดอลลาร์ หรือ 15 ล้านล้านบาท มีมูลค่าเท่า ๆ กับยอดใช้จ่ายผ่านผู้ใช้บริการจากจีนในปีนี้ '1 เดือน' ซึ่งถือเป็นการเติบโตอย่างก้าวกระโดดอย่างมากจากปีที่แล้ว
กลุ่มผู้ใช้หลักของบริการเหล่านี้ ก็คือคนรุ่น ฟรีดา ไช่ หรือมิลเลนเนียล แต่ที่น่าสนใจกว่าการขับเคลื่อนสังคมไร้เงินสดของมิลเลนเนียลก็คือ คนรุ่นพ่อรุ่นแม่ของมิลเลนเนียลก็ไม่ได้ปิดกั้น แต่ตอบสนองต่อเทคโนโลยีอย่างดี โดยกลุ่มอายุ 40 ถึง 60 ปี ในเมืองใหญ่ ๆ ของจีนเริ่มหันมาใช้บริการแบบนี้มากขึ้นเรื่อย ๆ และไช่เองก็เปิดเผยว่า พ่อแม่ของเธอเริ่มบ่น เมื่อที่จอดรถไม่มีโมบายล์เพย์เมนต์แล้ว ส่วนกลุ่มคนที่อายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป เป็นกลุ่มที่ยังต้องการใช้เงินสด และน่าจะไม่เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการใช้เงินในอนาคตแล้ว
ปัจจุบัน มีมุกตลกของชาวกรุงปักกิ่งที่มักกล่าวว่า พกที่ชาร์จมือถือไว้ ดีกว่าพกกระเป๋าสตางค์เสียด้วยซ้ำ น่าจับตาว่าการผูกโยงทุกอย่างไว้ในมือถือ จะทำให้เกิดปัญหาเมื่อระบบรวนหรือไม่ และประเทศใดจะกลายเป็นสังคมไร้เงินสดได้ในระดับเดียวกับจีนอีก