ศาลกัมพูชาตัดสินลงโทษจำคุก 8 ถึง 9 ปีแก่ผู้ต้องหาคดีค้ามนุษย์ 3 ราย ซึ่งเป็นนายหน้าจัดหาแรงงานกัมพูชาไปทำงานบนเรือประมงไทยในน่านน้ำทะเลอินโดนีเซีย ถูกบุกทลายไปเมื่อประมาณ 2 ปีที่แล้ว
เว็บไซต์พนมเปญโพสต์รายงานว่า ศาลจังหวัดเสียมเรียบของกัมพูชาตัดสินลงโทษจำคุก 8 และ 9 ปี แก่ผู้ต้องหาชาวกัมพูชา 3 ราย ซึ่งเป็นผู้จัดหาแรงงานกัมพูชาไปทำงานบนเรือประมงไทยบนเกาะอัมบนของอินโดนีเซีย ซึ่งถูกเจ้าหน้าที่รัฐบาลอินโดนีเซียบุกทลายเครือข่ายในเดือนมิถุนายน 2015 จนกลายเป็นข่าวใหญ่ไปทั่วโลก เพราะมีแรงงานต่างชาติได้รับผลกระทบเป็นจำนวนมาก
นายแมท ฟรีดแมน ผู้บริหารองค์กรไม่แสวงผลกำไร 'เดอะ แม่โขง คลับ' ซึ่งเคลื่อนไหวต่อต้านการใช้แรงงานทาส ระบุว่าคำตัดสินดังกล่าวเป็นการส่งสัญญาณไปยังกลุ่มค้ามนุษย์ว่า การกระทำความผิดในข้อหานี้จะได้รับการลงโทษที่ร้ายแรง และผู้ต้องหาทั้ง 3 คนเป็นสมาชิกกลุ่มค้ามนุษย์ในจังหวัดเสียมเรียบ ซึ่งรับจัดหาแรงงานไปทำงานในอุตสาหกรรมประมงในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงไทยและอินโดนีเซีย
เหตุการณ์ที่รัฐบาลอินโดนีเซียนำกำลังบุกทลายและจับกุมเครือข่ายประมงผิดกฎหมายที่เกาะอัมบนของอินโดนีเซียครั้งนั้น ทำให้แรงงานชาวกัมพูชาราว 230 คนได้รับการช่วยเหลือเป็นอิสระ ขณะที่ไต้ก๋งและเจ้าของเรือประมงสัญชาติไทย รวมถึงชาวกัมพูชาและชาวอินโดนีเซียจำนวนหนึ่งซึ่งเป็นผู้สมรู้ร่วมคิด ถูกจับกุมและนำตัวเข้ารับการพิจารณาคดี แต่บางส่วนยังหลบหนีการจับกุมของตำรวจจนถึงทุกวันนี้
นายปีเตอร์ วิลเลียม ผู้อำนวยการองค์กรเพื่อความเป็นธรรมในการจ้างงาน International Justice Mission หรือ ไอเจเอ็ม ซึ่งรับผิดชอบเป็นตัวแทนทางกฎหมายของชาวกัมพูชา 6 คนที่ตกเป็นเหยื่อการใช้แรงงานทาสในธุรกิจเรือประมงไทยบนเกาะอัมบน ระบุว่าศาลตัดสินให้ทั้ง 6 คนได้รับเงินชดเชยเยียวยาคนละประมาณ 25 ล้านเรียล หรือประมาณ 2 แสน 1 หมื่น 8 พันบาท แต่ผู้ก่อเหตุ 2 ใน 3 รายซึ่งจะต้องเป็นผู้จ่ายค่าเสียหายยังคงลอยนวลหลบหนีการจับกุมของเจ้าหน้าที่ไปได้ จึงไม่แน่ใจว่าผู้เสียหายทั้งหมดจะได้รับเงินชดเชยจริงหรือไม่
ด้านนายอานดี ฮอลล์ ชาวอังกฤษนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิแรงงาน ซึ่งเคยทำงานช่วยเหลือแรงงานต่างด้าวในไทยจนถึงปี 2016 ที่ผ่านมา ให้สัมภาษณ์กับสื่อกัมพูชาว่า ควรจะมีการจัดตั้งกองทุนช่วยเหลือเหยื่อที่ได้รับผลกระทบจากขบวนการค้ามนุษย์และการใช้แรงงานทาสในอุตสาหกรรมประมงของไทยและในประเทศอาเซียนอื่นๆ หรือจัดตั้งโครงการฟื้นฟูเยียวยาและจัดสรรค่าชดเชยเแก่เหยื่อในภูมิภาค เนื่องจากที่ผ่านมา ผู้เสียหายจากคดีค้ามนุษย์หรือการทำประมงผิดกฎหมาย ยังไม่เคยได้รับการชดเชยเยียวยาที่เป็นธรรมและทันเวลา
ที่ผ่านมา รัฐบาลไทยพยายามแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ และกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ เพิ่งปรับอันดับให้ไทยอยู่ในกลุ่มประเทศเฝ้าระวังด้านสถานการณ์ค้ามนุษย์ หรือ Tier 2 เมื่อปีที่ผ่านมา ซึ่งถือว่าดีขึ้นกว่าปี 2015 ที่ไทยถูกจัดอันดับให้อยู่ในกลุ่มประเทศที่สถานการณ์ค้ามนุษย์เข้าขั้นรุนแรง หรือ Tier 3 แต่ก็ยังถือว่ามีปัญหารอการแก้ไขอยู่อีกมากเช่นกัน
ส่วนนิตยสารฟอร์บส์ สื่อวิเคราะห์เศรษฐกิจของสหรัฐฯ รายงานเมื่อเดือนเมษายนว่า ปัจจุบันมีผู้ตกเป็นเหยื่อขบวนการค้ามนุษย์และการใช้แรงงานทาสประมาณ 45.8 ล้านคนทั่วโลก และปัจจัยสำคัญที่ทำให้ขบวนการค้ามนุษย์และการใช้แรงงานทาสยังดำรงอยู่ได้ แม้ว่าหลายรัฐบาลจะพยายามทุ่มเทปราบปรามเครือข่ายเหล่านี้อย่างต่อเนื่อง เป็นเพราะระบบอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ทั่วโลกต้องการแรงงานราคาถูกเป็นจำนวนมหาศาล ส่วนคนชายขอบหรือผู้ด้อยโอกาสก็ไม่มีอิสระในการเลือกงาน และเจ้าหน้าที่รัฐบาลอีกหลายแห่งไม่บังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดจริงจัง
ฟอร์บส์ให้คำจำกัดความการใช้แรงงานทาสยุคใหม่ว่าเกิดจากการที่นายหน้าหลอกลวงแรงงานต่างชาติว่ามีงานดีๆ ให้ทำ แต่กลับผิดสัญญาและบังคับให้แรงงานเหล่านั้นทำงานหนัก ทั้งในอุตสาหกรรมการผลิต การเกษตร การประมง การก่อสร้าง แม่บ้าน รวมถึงถูกบังคับให้ค้าประเวณีหรือค้ายาเสพติด โดยที่แรงงานต่างชาติมักจะถูกนายจ้างยึดเอกสารสำคัญ จนไม่สามารถเคลื่อนย้ายไปไหนได้ ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ที่เกิดขึ้นในสหรัฐฯ เช่นเดียวกัน