ไทยติดอันดับ 2 ใน 10 ประเทศที่ไม่ได้เป็นสมาชิกองค์กรความร่วมมืออิสลาม หรือโอไอซี แต่มีความเป็นมิตรและเป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวมุสลิมจากทั่วโลก โดยผลสำรวจพบว่านักท่องเที่ยวมุสลิมจะกระตุ้นมูลค่าการท่องเที่ยวทั่วโลกได้มากถึง 2 แสน 2 หมื่นล้านดอลลาร์ภายในปี 2020
บริษัทมาสเตอร์การ์ด-เครสเซนท์ เรตติ้ง เผยผลจัดอันดับประเทศยอดนิยมที่เป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวมุสลิมทั่วโลก โดยอ้างอิงผลคะแนนจากดัชนีการท่องเที่ยวมุสลิม (Global Muslim Travel Index) ประจำปี 2017 พบว่าประเทศไทยติดอันดับอยู่ในกลุ่ม 10 ประเทศที่ไม่ได้เป็นสมาชิกโอไอซี แต่ก็ยังได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวชาวมุสลิมทั่วโลก โดยเป็นรองเพียงประเทศสิงคโปร์เท่านั้น
ส่วนประเทศที่ไม่ได้เป็นสมาชิกโอไอซีและติดอันดับ 3 ถึง 10 ได้แก่ อังกฤษ, แอฟริกาใต้, ฮ่องกง, ญี่ปุ่น,ไต้หวัน, ฝรั่งเศส, สเปน และสหรัฐอเมริกา ขณะที่ประเทศที่เป็นสมาชิกโอไอซี คือกลุ่มประเทศที่ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม มีผลจัดอันดับแตกต่างกันออกไป โดยมาเลเซียถือเป็นอันดับ 1 ของกลุ่มประเทศสมาชิกโอไอซีที่เป็นมิตรกับนักท่องเที่ยวมุสลิมมากที่สุด ตามด้วยสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์, อินโดนีเซีย, ตุรกี, ซาอุดิอาระเบีย, กาตาร์, โมร็อกโก, โอมาน, บาห์เรน และอิหร่าน
ผลสำรวจของมาสเตอร์การ์ด-เครสเซนท์ เรตติ้ง ประเมินว่านักท่องเที่ยวมุสลิมมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงหลายปีที่ผ่านมา และผลสำรวจเมื่อปีที่แล้วพบว่า นักท่องเที่ยวมุสลิมเดินทางออกนอกประเทศมากกว่า 121 ล้านคนและคาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวมุสลิมเพิ่มขึ้นเป็น 156 ล้านคนภายในปี 2020 โดยอ้างอิงจากจำนวนประชากรชาวมุสลิมทั่วโลกที่มีอายุต่ำกว่า 30 ปี รวมกว่า 1 พัน 6 ร้อยล้านคน และคาดว่ามูลค่าการท่องเที่ยวของชาวมุสลิมจะสูงถึง 2 แสน 2 หมื่นล้านดอลลาร์ในอนาคตอันใกล้
ทั้งนี้ การวัดผลดัชนีท่องเที่ยวมุสลิมมีเกณฑ์การให้คะแนนโดยคำนึงถึง 4 ประเด็นหลัก ได้แก่ ความสะดวกในการเข้าถึงหรือเดินทางไปยังแต่ละประเทศ, การติดต่อสื่อสาร, สภาพแวดล้อม และการบริการ ซึ่งจะพิจารณาตั้งแต่การอนุมัติวีซ่า ความปลอดภัยของสถานที่ท่องเที่ยว การให้บริการที่เหมาะกับนักท่องเที่ยวแบบครอบครัว รวมถึงร้านอาหารฮาลาลและสถานที่สำหรับละหมาดว่ามีให้บริการอย่างเพียงพอหรือไม่