หลายคนกำลังสงสัยว่า กรมการบินพลเรือนของไทยนั้น ไม่ได้มาตรฐานในเรื่องใด และหน่วยงานที่ตรวจสอบนั้นมีอำนาจในการสั่งห้ามไม่ให้สายการบินหรือไม่ แท้จริงแล้วหน่วยงานที่ตรวจสอบเรื่องนี้ไม่ได้มีอำนาจในการห้ามทำการบิน แต่หมายความถึงการปรับปรุงระบบการทำงาน และการจัดการของกรมการบินของไทย ซึ่งไทยไม่ได้ทำมาตั้งแต่ปี 2548
เว็บไซต์ thaipublica.org รายงานบทความของคุณ บรรยง พงษ์พานิช ระบุว่า องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ หรือ ไอซีเอโอ ซึ่งมีชื่อเต็มคือ International Civil Aviation Organization เป็นหน่วยงานของสหประชาชาติ ทำหน้าที่กำหนดและตรวจสอบมาตรฐานความปลอดภัยต่างๆ ทางด้านการบินพลเรือน โดยในปีนี้ ได้ตรวจสอบมาตรฐานการควบคุมสายการบิน ตามมาตรฐาน ICAO Universal Safety Oversight Audit Program หรือ USOAP ทั่วทั้งภูมิภาคอาเซียนในช่วงต้นปีที่ผ่านมา พบว่า ประเทศไทยมีข้อบกพร่องที่มีนัยสำคัญต่อความปลอดภัย (Significant Safety Concerns: SSC) เกี่ยวกับกระบวนการรับรองผู้ดำเนินการเดินอากาศ
ทั้งนี้ ประเทศไทย ได้คะแนน 35.6% กัมพูชาได้ 40.2% อินโดนีเซีย ได้คะแนน 45.1% ส่วนบรูไน พม่า และลาว ได้คะแนน 65%
ส่วนมาเลเซีย แม้จะประสบเหตุเครื่องบินตกในปีเดียว 3 ลำ แต่ได้คะแนนประเมินครั้งนี้ไปถึง 81% สิงคโปร์ ได้คะแนน 98.9%
คะแนนเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่า หากเปรียบคะแนนสอบมาตรฐานความปลอดภัยต่างๆ ทางด้านการบินพลเรือน ไทย ได้คะแนนต่ำสุดในกลุ่มอาเซียน แม้ ICAO จะไม่มีอำนาจตามกฎหมาย แต่ก็ถือเป็นมาตรฐานที่กระทบต่อความไม่มั่นใจในสายการบินขนาดเล็ก ที่เพิ่งเปิดกิจการ หรือสายการบินแบบเช่าเหมาลำ
ทั้งนี้ สายการบินแบบเช่าเหมาะลำ หากต้องทำการบินแต่ละครั้ง จะต้องขออนุญาตการบิน ซึ่งมีระยะเวลาในการดำเนินการไม่น้อยกว่า 60 วัน ดังนั้นจึงส่งผลกระทบต่อสายการบินเช่าเหมาลำที่เปิดขายตั๋วโดยสารล่วงหน้าแล้ว
จากการตรวจสอบเว็บไซต์ของ ไอซีเอโอ พบว่า ประเทศไทยไม่ได้ปรับปรุงระบบการทำงานและการจัดการของกรมการบินของไทย มาตั้งแต่ปี 2548