รายการ Intelligence วันนี้ เปลี่ยนบรรยากาศไปฟังสัมมนาในเวทีที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดขึ้น ในหัวข้อ Beyond สองนคราประชาธิปไตย การเมืองไทยในยุคยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
ไปฟังทัศนะของนักวิชาการด้านรัฐศาสตร์หลายท่านในเวทีนี้ เช่น ผศ.พฤกษ์ เถาถวิล จากคณะศิลปะศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ผศ.ดร ประภาส ปิ่นตบแต่ง จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬา ผศ.ดร. ชัยยนต์ ประเดิษฐ์ศิปล์ คณะมนุษยศาสตร์ และสังคมศาสตร์ มรภ.ราชภัฎรำไพพรรณ๊ และดร.ณรงค์ บุญสวยขวัญ
เมื่อพูดถึงทฤษฎีสองนคราประชาธิปไตยอันโด่งดัง ของดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ พูดให้เข้าใจง่ายที่สุด ก็คือทฤษฎีว่าด้วย สองนครา คือ คนเมือง กับคนชนบท ดร.เอนก สร้างทฤษฎีสุดคลาสสิค คือ “คนชนบทตั้งรัฐบาล คนกรุงล้มรัฐบาล
ในเวทีนี้ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ เจ้าของทฤษฎีสองนครา มารับฟังข้ออภิปรายและตอบข้อซักถามด้วย ประเด็นที่ผู้จัดงานต้องการนำเสนอ คือ ความสำรวจ และความล้มเหลวในการสร้างความเป็นประชาธิปไตยในประเทศไทย กระบวนการสร้างความเป็นประชาธิปไตยในประเทศไทยจะเกิดขึ้นได้หรือไม่ หากสังคมไทยยังไม่ก้าวพ้นความเป็น สองนครา ระหว่าง คนเมือง กับคนชนบท
นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ทั้ง 5 ท่านจะมาแสดงทัศนะ และตอบคำถามว่า ประเทศไทยไปไกลกว่าสองนคราได้แล้วหรือยัง หรือยังต้องวนเวียนอยู่กับทฤษฎีสองนคราฯ ที่ปรากฏตัวในวงวิชาการครั้งแรก ตั้งแต่ปี 2538 หรือเกือบ 20 ปีมาแล้ว รวมถึงมองไปข้างหน้าด้วยว่า หลังยุคสองนคราประชาธิปไตย การเมืองไทยในยุค ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จะดำเนินไปอย่างไร
ภาพรวมจากนักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ทั้ง 5 ท่าน มองเหมือนกันว่า ภาพของชนบทเปลี่ยนแปลงไปแล้ว ไม่ได้เป็นชนบทในจินตนาการเหมือนที่เคยปลูกฝังกันมา ชนบทมีความเป็นเมืองมากขึ้น คนชนบทเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร มีชีวิตความเป็นอยู่ที่สะดวกสบายมากขึ้น มีกำลังจับจ่ายใช้สอยมากขึ้นไม่ได้ทำการเกษตรแบบพึ่งพาธรรมชาติแบบเดิม คนชนบทเข้าใจความสำคัญของของนโยบายพรรคการเมือง พวกเขามีการเรียนรู้และต่อรองมากขึ้น ส่วนคนเมืองไม่ได้ตัดขาดการเป็นฐานเสียงของพรรคการเมือง
ในขณะที่เจ้าของทฤษฎี อย่างดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ ขอให้ผู้สนใจอ่านผลงานของอาจารย์ให้ละเอียด อย่าสนใจเพียงทฤษฎีที่เป็นวรรคทอง จนตัดทอนบริบทรอบๆ ไป พร้อมกับย้ำเป้าหมายของ ทฤษฎีสองนคราประชาธิปไตย ว่า เป็นผลงานที่มีเป้าหมายเพื่อให้คนชั้นกลางเข้าใจคนชนบทมากขึ้น
Produced by VoiceTV