รายการ Intelligence ประจำวันที่ 16 พ.ย. 2554
ในวิกฤติมหาอุทกภัยรอบนี้ นอกจากวิกฤติมวลน้ำ วิกฤติมวลชน ยังแทรกซ้อนด้วยมวลน้ำลาย และมวลน้ำหมึก ที่ทำให้วิกฤติมหาอุทกภัยหนักหนาสาหัสยิ่งขึ้น รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ต้องรับแรงเสียดทานและแรงกดดันไปเต็มๆ ความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้นในห้วงวิกฤติมหาอุทกภัย จะนำไปสู่ความรุนแรงระดับไหน ร่วมประเมินผ่านมุมมอง
อ.พนัส ทัศนียานนท์ อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และอดีต สว.ตาก อ.พนัส เสนอให้มีการตรวจสอบให้ได้คำตอบว่า ความผิดพลาดในการบริหารจัดการน้ำเกิดขึ้นได้อย่างไร จากนั้นรัฐบาลจะต้องแสดงความรับผิดชอบทางการเมือง ซึ่งทำได้หลายระดับ หากเป็นกรณีสุดวิสัยก็ต้องแถลงชี้แจงข้อเท็จจริงให้ประชาชนรับทราบ
ส่วนการตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟู และสร้างอนาคตประเทศ หรือ กยอ. ที่มี ดร.วีรพงษ์ รามางกูร เป็นประธาน อ.พนัสเห็นว่า เป็นแนวทางที่ถูกต้อง พร้อมเสนอยกเครื่อง และปัดฝุ่น "กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรน้ำ" ที่มีการจัดทำเป็นพิมพ์เขียวไว้นานเกือบ 20 ปี มารื้อฟื้นใหม่ เพื่อให้เกิดระบบการบริหารจัดการน้ำที่เป็นเอกภาพ ที่สำคัญการทำงานของคณะกรรมการ 2 ชุดที่ตั้งขึ้นใหม่ต้อง "ปลอดจากการเมือง"
อ.พนัส ยังวิพากษ์การแสดงความคิดเห็นในโซเชียล มีเดีย ว่ามีลักษณะดราม่า แค้นฝังหุ่น ต้องการลดความน่าเชื่อถือ ฝ่ายตรงข้ามในทุกกรณี ขณะเดียวกันก็เสนอให้นายกฯ ยิ่งลักษณ์ ปรับปรุงตัวเองโดยเฉพาะการสื่อสารกับประชาชน สิ่งที่เป็นตัวชี้วัดภาวะผู้นำ คือ ความสามารถในการตัดสินใจในภาวะวิกฤติ
Produced by VoiceTV