รายการ Intelligence ประจำวันที่ 12 ก.พ. 55
วิกฤติมหาอุทกภัยปี 2554 สร้างความเสียหายกับประเทศไทยเป็นมูลค่า 1.4 ล้านล้านบาท ตามการประมาณการของธนาคารโลก รัฐบาลเร่งเดินหน้าเยียวยาฟื้นฟูประเทศ ในเชิงโครงสร้างบริหารจัดการ มีการตั้งคณะกรรมการหลัก 2 ชุด คือ คณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคต หรือ กยอ. และคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและวางระบบบริหารจัดการน้ำ หรือ กยน.
มติ ครม.ล่าสุด เพิ่งมีการตั้งคณะกรรมการอีก 3 ชุด เพื่อกำหนดนโยบาย อำนวยการ และฝ่ายสำนักงานเพื่อผลักดันการบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการ เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ในการบริหารจัดการน้ำทั้ง 3 รูปแบบ คือ เพื่อการเกษตรป้องกันน้ำท่วม และแก้ปัญหาภัยแล้ง
ผศ.ดร.สมบัติ อยู่เมือง ผอ.ศูนย์วิจัยภูมิสารสนเทศประเทศไทย คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนึ่งในกยน. ชี้แจงว่า แผนบริหารจัดการน้ำของ กยน. ปรับมาจากแผนของสำนักงานทรัพย์สินเมื่อปี 2543 และแผนของไจก้า ญี่ปุ่นที่ทำไว้ตั้งแต่ ปี คศ.1999 แผนเร่งด่วนที่จะดำเนินการ คือ ต้องพร่องน้ำในเขื่อนหลักเพื่อให้มีน้ำต้นทุนเหลือเพียง ร้อยละ 40 ภายในเดือนพฤษภาคม และการประกาศพื้นที่รับน้ำ
สำหรับการติดตามการแก้ไขปัญหาอุทกภัยจะเกิดขึ้นระหว่างที่ นายกรัฐมนตรี และคณะกรรมการ กยน. เดินทางลงพื้นที่สำรวจ ต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำ ในวันที่ 13-17 กพ. เริ่มต้นจากเขื่อนสิริกิติ์ จังหวัดอุตรดิตถ์ ลงมาถึงนครสวรรค์ เป็นช่วงต้นน้ำ กลางน้ำ ไล่ตั้งแต่ชัยนาท สิงห์บุรี ลพบุรี อยุธยา ปลายน้ำ คือ ปทุมธานี นนทบุรี และกทม. โดยจะมีการหารือระดับ จังหวัด และท้องถิ่น เพื่อรับฟังข้อมูลจากทั้งฝ่ายกำหนดนโยบาย และประชาชนในพื้นที่ ก่อนจะประกาศ "พื้นที่รับน้ำ" และมาตรการเยียวยาชดเชย
ผศ.ดร.สมบัติ ยังยืนยันความจำเป็นของการจัดตั้ง 3 องค์กร ในการบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการ และความจำเป็นของการกู้เงิน 3.5 แสนล้านบาท เพื่อดำเนินการแผนบริหารจัดการน้ำในระยะยาว โดยมีแผนนำร่องใน 8 ลุ่มน้ำ จากทั้งหมด 25 ลุ่มน้ำ
Produced by VoiceTV