ไม่พบผลการค้นหา
สมเด็จพระสันตะปาปา หรือ 'โป๊ป' ฟรานซิส ประมุขแห่งคริสตจักรนิกายโรมันคาทอลิก ทรงออกกฎหมายพระศาสนจักรใหม่ ให้โบสถ์ทั่วโลกต้องรายงานเหตุล่วงละเมิดทางเพศ และการปกปิดหรือเพิกเฉยต่อเหตุดังกล่าว แต่ไม่จำเป็นต้องแจ้งตำรวจ

กฎซึ่งวาติกันประกาศเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม กำหนดให้บาทหลวงและแม่ชีทั่วโลก ต้องแจ้งข้อมูลแก่เจ้าหน้าที่ศาสนจักร เมื่อพบเบาะแสต้องสงสัยว่ามีการล่วงละเมิดทางเพศไม่ว่าจะเป็นเยาวชนหรือผู้ใหญ่ หรือมีสื่อลามกเด็กในครอบครอง รวมถึงต้องรายงานหากพบว่ามีผู้ที่มีสมณศักดิ์สูงกว่าพยายามปกปิดหรือเพิกเฉยการรายงานคดีล่วงละเมิด และหากจำเป็นก็สามารถแจ้งเหตุการล่วงละเมิดกับทางวาติกันหรือสมณฑูตในพื้นที่ได้โดยตรง

อย่างไรก็ตาม กฎหมายพระศาสนจักรนี้ไม่ได้กำหนดให้ต้องมีการแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจหรืออัยการ เพราะการบังคับเช่นนั้นอาจเป็นอันตรายต่อศาสนจักรซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ที่ชาวคริสต์เป็นคนกลุ่มน้อย ทว่ากฎดังกล่าวได้ระบุว่าเจ้าหน้าที่ศาสนจักรจะต้องไม่ขัดขวางการสอบสวนโดยเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายพลเรือน

ชาร์ลส์ ชิคลูนา (Charles Scicluna) อาร์ชบิชอปแห่งมอลตา มือสืบสวนการกระทำผิดทางเพศของวาติกัน กล่าวว่า "ผู้คนจะต้องได้รู้ว่าเหล่าบิชอปนั้นพร้อมรับใช้ทุกคน พวกเขาไม่ได้อยู่เหนือกฎหมาย หากกระทำผิด ก็จะต้องถูกรายงาน"

กลุ่มยุติการล่วงละเมิดโดยนักบวช (Ending Clergy Abuse) ได้กล่าวว่าวาติกันไม่ควรซ่อนตัวอยู่หลังข้ออ้างว่าการแจ้งความกับตำรวจเป็นปัญในบางประเทศ "ศาสนจักรควรวางรากฐานกฎสำหรับการแจ้งความ แล้วไประบุข้อยกเว้นเอา ทว่าพวกเขากลับเอาข้อยกเว้นเหล่านั้นมาเป็นข้ออ้างในการไม่แจ้งความคดีล่วงละเมิดกับผู้บังคับใช้กฎหมายพลเรือน และเก็บเหตุละเมิดเป็นความลับต่อไป"

มาตรการในกฎใหม่นี้ระบุว่า ผู้ร้องทุกข์และผู้ชี้เบาะแสจะต้องได้รับการคุ้มครองให้ไม่ต้องรับผลใดๆ ที่ตามมา และการสอบสวนชั้นต้นสำหรับคดีการล่วงละเมิดจะต้องเสร็จสิ้นภายใน  90 วัน โดยกฎนี้มีผลบังคับใช้ย้อนหลัง นั่นหมายความว่าบรรดาบาทหลวงและแม่ชีจะต้องรายงานคดีความผิดเก่าๆ และการปกปิดคดีด้วย จากเดิมที่การจะแจ้งหรือไม่แจ้งนั้นขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของแต่ละคนเอง

ในกฤษฎีกาของพระสันตะปาปา กำหนดระยะเวลาให้สังฆมณฑลต่างๆ 1 ปี ในการวางรากฐานระบบเพื่อสนับสนุนกระบวนการรายงานและการคุ้มครองชื่อเสียงและความเป็นส่วนตัวของผู้ถูกละเมิด และยืนยันกับสถานเอกอัครสมณฑูตวาติกันในพื้นที่ภายใน 1 มิถุนายน 2020

ที่มา: The Guardian / Reuters / AP

ข่าวที่เกี่ยวข้อง