ไม่พบผลการค้นหา
กลุ่มอุตสาหกรรมสื่ออินเทอร์เน็ต ประกอบด้วยบริษัทชั้นนำ เช่น เฟซบุ๊ก ไลน์ กูเกิล แสดงท่าทีกรณีไทยออกพ.ร.บ.ไซเบอร์ ว่า ผิดหวังอย่างยิ่ง รัฐบาลไทยจะมีอำนาจครอบจักรวาลในการสอดส่องโลกออนไลน์ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อข้อมูลส่วนบุคคลและข้อมูลของบริษัทเอกชน

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า พันธมิตรอินเทอร์เน็ตเอเชีย หรือเอไอซี (Asia Internet Coalition) แสดงความเห็นต่อกรณีสภาของไทยซึ่งมาจากการแต่งตั้งของทหารผ่านร่าง พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ และร่างพ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลเมื่อวันพฤหัสบดี (28 ก.พ.) โดยบอกว่า รู้สึกผิดหวังอย่างยิ่ง

เจฟฟ์ เพน ผู้อำนวยการใหญ่ของเอไอซี บอกว่า กฎหมายเหล่านี้จะให้อำนาจอย่างกว้างขวางแก่รัฐบาลไทยในการสอดส่องการสื่อสารทางออนไลน์โดยอ้างเหตุจำเป็นเร่งด่วน หรืออ้างการป้องกันภัยคุกคาม จึงอาจส่งผลกระทบต่อข้อมูลส่วนบุคคลและข้อมูลของบริษัทได้

เอไอซี ซึ่งมีสำนักงานใหญ่ในสิงค์โปร์ เป็นการรวมตัวของสื่ออินเทอร์เน็ต ธุรกิจออนไลน์ และผู้ประกอบการด้านคอมพิวเตอร์ระดับแนวหน้า เช่น แอปเปิล ยาฮู แอมะซอน กูเกิล ทวิตเตอร์ เฟซบุ๊ก ไลน์ ฯลฯ

อย่างไรก็ดี รอยเตอร์รายงานว่า ขณะที่นักรณรงค์เสรีภาพสื่ออินเทอร์เน็ตวิจารณ์ว่า กฎหมายไซเบอร์เป็นเสมือน “กฎอัยการศึกในโลกออนไลน์” ฝ่ายที่สนับสนุนบอกว่า ไทยควรมีกฎหมายแบบนี้ตั้งนานแล้ว โดยนางเสาวณี สุวรรณชีพ ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญที่พิจารณาร่างพระราชบัญญัติทั้งสองฉบับ บอกว่า กฎหมายทั้งสองจะช่วยให้ประเทศไทยไม่ล้าหลังเพื่อนบ้านและนานาประเทศ

รอยเตอร์รายงานด้วยว่า บรรดานักกิจกรรมและนักธุรกิจบอกว่า กฎหมายทั้งสองฉบับของไทยอาจถูกนำไปบังคับใช้โดยขาดการตรวจสอบถ่วงดุลจากฝ่ายตุลาการ และอาจนำไปสู่การใช้อำนาจโดยมิชอบ ลดทอนความเป็นส่วนตัว กระทบหลักนิติธรรม พร้อมกับเตือนว่า ภาระต่างๆ ที่กฎหมายเหล่านี้ก่อขึ้นอาจทำให้ธุรกิจต่างชาติพากันถอนกิจการออกจากประเทศไทย

Sources: Reuters ; AIC issues statement on Thailand’s Cybersecurity Law (28 February 2019)

Image: AFP