ไม่พบผลการค้นหา
ประมุขคริสตจักรโรมันคาทอลิก ทรงแถลงขออภัยผู้ถูกนักบวชและบาทหลวงคาทอลิกละเมิดทางเพศในอดีตและถูกกลบเกลื่อนหลักฐาน ส่วนผู้เสียหายและครอบครัวยืนยันว่าแค่คำขอโทษยังไม่พอ ต้องปลดและลงโทษผู้กระทำผิดด้วย

สมเด็จพระสันตะปาปา หรือ 'โป๊ป' ฟรานซิส ประมุขแห่งคริสตจักรนิกายโรมันคาทอลิก ทรงแถลงประณามการล่วงละเมิดทางเพศโดยคณะนักบวชคาทอลิกในอดีตว่าเป็นการกระทำที่น่าละอายและชั่วร้าย และทุกฝ่ายจะต้องร่วมมือกันหยุดยั้งและป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยเดิม แต่ขณะเดียวกันก็ขอให้ทุกฝ่ายอภัยในบาปของกันและกัน 

ถ้อยแถลงของโป๊ปฟรานซิส ถูกเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ข่าวคาทอลิก CNA เมื่อวานนี้ (20 ส.ค.) โดยมีการกล่าวเจาะจงถึงกรณีบาทหลวงคาทอลิกกว่า 300 รายใน 6 เขตมุขมณฑลโรมันคาทอลิกของมลรัฐเพนซิลเวเนียในสหรัฐอเมริกา ถูกคณะลูกขุนชี้มูลว่า มีความผิดในคดีล่วงละเมิดทางเพศเด็กนับพันคนตลอดช่วง 70 ปีที่ผ่านมา โดยผู้เสียหายมีทั้งเด็กและวัยรุ่นหญิง-ชาย ขณะที่บิชอปหลายรายมีส่วนรู้เห็นในการปกปิดความผิดของนักบวชบาทหลวงเหล่านี้ บ่งชี้ว่าเป็นการกลบเกลื่อนอย่างเป็นระบบ 

โป๊ปฟรานซิส ตรัสด้วยว่า เราละเลยเด็กๆ เหล่านั้น ทำให้พวกเขาถูกทอดทิ้ง แต่การตระหนักรู้ถึงบาปที่ก่อ จะช่วยให้เราเรียนรู้ถึงความผิดพลาด อาชญากรรม และบาดแผลที่เกิดขึ้นในอดีตได้ ขณะเดียวกันก็จะต้องมองไปยังอนาคต และต้องมุ่งมั่นสร้างวัฒนธรรมแวดล้อมที่จะป้องกันไม่ให้เกิดกรณีเช่นนี้ขึ้นอีก รวมถึงป้องกันไม่ให้มีการกลบเกลื่อนหรือปกปิดความผิด


"หากใครคนหนึ่งต้องเจ็บปวด เราทั้งหมดก็เจ็บปวดเช่นเดียวกัน"


สื่อต่างประเทศรายงานว่าการแถลงขออภัยผู้เสียหายโดยประมุขแห่งคริสตจักรนิกายโรมันคาทอลิกเป็นก้าวที่สำคัญในการสะสางข้อกล่าวหาและคดีความต่างๆ ที่เกิดจากการกระทำของนักบวชบาทหลวงนิกายโรมันคาทอลิก โดยที่ผู้เสียหายยังไม่ได้รับการชดเชยเยียวยาอย่างที่ควรจะเป็น อีกทั้งการล่วงละเมิดทางเพศไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในสหรัฐฯ เท่านั้น แต่ยังเกิดขึ้นในไอร์แลนด์ ออสเตรเลีย ชิลี บราซิล เยอรมนี เนเธอร์แลนด์ ดีอาร์คองโก และออสเตรีย

'บุคคลสำคัญทางศาสนา' หากทำผิดก็ต้องถูกดำเนินคดีทางกฎหมาย

โฆษกสำนักวาติกัน เปิดเผยว่า โป๊ปฟรานซิสจะเสด็จเยือนไอร์แลนด์ในวันที่ 26 ส.ค.นี้ ซึ่งถือเป็นครั้งแรกในรอบ 40 ปีที่ประมุขคริสตจักรนิกายโรมันคาทอลิกจะเยือนไอร์แลนด์อย่างเป็นทางการ และไอร์แลนด์เป็นหนึ่งในประเทศที่มีการสอบสวนข้อกล่าวหาว่านักบวชคาทอลิกล่วงละเมิดทางเพศเด็กนับตั้งแต่ปี 2552 เป็นต้นมา 

โป๊ปฟรานซิสจะทรงพบปะกลุ่มผู้เสียหายและครอบครัวของผู้ที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศในไอร์แลนด์ด้วย เพื่อแสดงให้เห็นว่าคริสตจักรจะไม่ปล่อยให้มีการล่วงละเมิดทางเพศเกิดขึ้นอีกเป็นอันขาด แต่กลุ่มผู้เสียหายจากการล่วงละเมิดทางเพศในหลายประเทศวิพากษ์วิจารณ์ว่าถ้อยแถลงขออภัยของโป๊ปฟรานซิสนั้นยังไม่เพียงพอต่อการเยียวยาและถอนรากถอนโคนปัญหาที่เกิดขึ้นในแวดวงคริสตจักรโรมันคาทอลิกทั่วโลก เพราะไม่ใช่แค่การล่วงละเมิดทางเพศเท่านั้น แต่เป็นการใช้อำนาจในทางมิชอบอีกด้วย 


AP-โป๊ป-ฟรานซิส-โป๊บ

หลังจากที่โป๊ปฟรานซิสได้รับเลือกเป็นสมเด็จพระสันตะปาปาองค์ที่ 266 เมื่อเดือน มี.ค. 2556 พระองค์ได้ทรงประกาศนโยบายปฏิรูปคณะนักบวชบาทหลวงและระบบการปกครองในมุขมณฑลของคริสตจักรโรมันคาทอลิก รวมถึงทรงประกาศมอบเงินชดเชยแก่ผู้เสียหายและผู้ได้รับผลกระทบจากการล่วงละเมิดทางเพศที่เกี่ยวข้องกับนักบวช บาทหลวง หรือแม้แต่พระคาร์ดินัล ซึ่งผู้เสียหายที่เป็นเยาวชนในอดีตได้ย่างเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ แต่ยังคงมีบาดแผลทางจิตใจที่ไม่ได้รับการเยียวยา

เดวิด โอ'ไรลีย์ ผู้ก่อตั้งเครือข่ายผู้อยู่รอดจากการล่วงละเมิดทางเพศของนักบวชแห่งบอสตัน สหรัฐอเมริกา เปิดเผยกับเดอะบอสตันโกลบ สื่อสหรัฐฯ รายแรกที่เปิดโปงการล่วงละเมิดทางเพศของนักบวชและบาทหลวงของคริสตจักรโรมันคาทอลิกในสหรัฐฯ เมื่อปี 2545 จนนำไปสู่การไต่สวนและฟ้องร้องนักบวชผู้กระทำความผิดในคดีอาญา ระบุว่า หากคริสตจักรจริงจังในการแก้ปัญหาล่วงละเมิดทางเพศ สามารถทำได้ง่ายดายโดยการอนุญาตให้ผู้ล่วงละเมิดหรือผู้ถูกกล่าวหาเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมาย แต่ปัญหาที่ยืดเยื้อมายาวนานหลายสิบปี เป็นเพราะคริสตจักรเลือกที่จะ 'ปกป้องสถาบัน' มากกว่าปกป้องผู้ได้รับผลกระทบ

คริสตจักรก็ผิดพลาดได้-ผู้ศรัทธาต้องไม่นิ่งเฉย

คริสตจักรโรมันคาทอลิกเป็นคริสตจักรที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีศาสนิกชนมากกว่า 1,100 ล้านคนจากการสำรวจครั้งล่าสุดเมื่อปี 2548 ทั้งยังเป็นสถาบันทางศาสนาที่เก่าแก่ที่สุดในโลก มีบทบาทสำคัญในอารยธรรมตะวันตกเพราะเป็นสถาบันที่มีอำนาจในการกำกับดูแลศีลธรรมและวางกฎเกณฑ์และกรอบปฏิบัติของผู้คนในสังคม นับตั้งแต่ชนชั้นปกครองไปจนถึงสามัญชน และมีหลายเหตุการณ์ในอดีตที่บ่งชี้ว่าคริสตจักรโรมันคาทอลิกใช้อิทธิพลในการลงโทษผู้ที่เห็นขัดแย้งกับคำสอนหรือความเชื่อของคริสตจักร

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือ กรณีของกาลิเลโอ กาลิเลอี นักคิดชาวอิตาลีที่มีชีวิตในช่วง ค.ศ. 1564-1642 ซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็นบิดาแห่งดาราศาสตร์สมัยใหม่ และเป็นผู้สนับสนุนแนวคิดว่าดวงอาทิตย์เป็นศูนย์กลางของจักรวาล ซึ่งขัดแย้งกับการตีความพระคัมภีร์ของคริสตจักรโรมันคาทอลิกในสมัยนั้นที่เชื่อว่า "โลกเป็นศูนย์กลางจักรวาล" ทำให้เขาถูกกักตัวในความควบคุมของคริสตจักรจนกระทั่งเสียชีวิต และประมาณ 350 ปีหลังจากนั้น หรือประมาณปี พ.ศ. 2535 พระสันตะปาปาจอห์น ปอล ที่ 2 ประมุขคริสตจักรโรมันคาทอลิกในสมัยนั้น จึงทรงประกาศรับรองว่า ทฤษฎีของกาลิเลโอนั้นถูกต้องแล้ว 

และในปีเดียวกับที่โป๊ปจอห์น ปอล ที่2 แถลงแก้ไขอดีตที่ผิดพลาดของคริสตจักรโรมันคาทอลิก ก็มีข่าวใหญ่เกิดขึ้นในวงการบันเทิงตะวันตกเช่นกัน เพราะชินเนด โอคอนเนอร์ นักร้องดาวรุ่งชาวไอริชในสมัยนั้น ฉีกพระฉายาลักษณ์ของโป๊ปจอห์น ปอล ที่2 กลางเวทีแสดงสดในรายการแซทเทอร์เดย์ไนท์ไลฟ์ (SNL) ของสหรัฐฯ พร้อมกล่าวว่า "จงต่อสู้กับศัตรูที่แท้จริง" โดยเธอให้สัมภาษณ์ภายหลังว่าต้องการให้คริสตศาสนิกชนและคนทั่วโลกตระหนักถึงปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศเด็กในคริสตจักรโรมันคาทอลิก 

คำประกาศของชินเนด โอคอนเนอร์ เกิดขึ้นก่อนที่จะมีการเปิดโปงข้อมูลและหลักฐานประกอบคดีล่วงละเมิดทางเพศ แต่ก็เป็นชนวนเหตุให้สื่อมวลชนและหน่วยงานต่างๆ เริ่มต้นสอบสวนและรวบรวมปากคำของผู้ที่เกี่ยวข้อง จนนำไปสู่การรายงานข้อมูลการล่วงละเมิดทางเพศเด็กโดยนักบวชและบาทหลวงโรมันคาทอลิกในออสเตรียและสหรัฐอเมริกาเมื่อปี 2541-2545 แต่กว่าจะมีการเปิดเผยข้อมูลออกมา ชินเนด โอคอนเนอร์ ก็ถูกคริสตศาสนิกชนจำนวนมากรุมประณามไปแล้วว่ากระทำการอย่างหยาบคาย ไม่เคารพต่อบุคคลสำคัญทางศาสนา ส่งผลกระทบต่ออาชีพการงาน แต่ชินเนดเคยให้สัมภาษณ์ว่า "ไม่เสียใจในสิ่งที่ทำลงไปตอนนั้น"

สื่อและองค์กรเพื่อผู้ถูกล่วงละเมิดทางเพศหลายรายได้ทยอยเปิดโปงข้อมูลการล่วงละเมิดทางเพศที่เกิดขึ้นในคริสจักรโรมันคาทอลิกอย่างต่อเนื่องหลังจากปี 2545 เป็นต้นมา แต่ก็ยังเจอกับอุปสรรคจากคริสตจักรที่หลีกเลี่ยงการเผชิญหน้ากับผู้เสียหาย รวมถึงมีการปิดบังและช่วยเหลือผู้ถูกกล่าวหาเพื่อรักษาภาพลักษณ์ของคริสตจักร

จากกรณีดังกล่าว นิค อิงพาลา โฆษกของกลุ่มวอยซ์ออฟเดอะเฟธฟูล ซึ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2545 เพื่อต่อสู้กับการล่วงละเมิดทางเพศในคริสตจักรโรมันคาทอลิก ระบุว่า ถ้อยแถลงของโป๊ปฟรานซิสเป็นเรื่องที่น่าประทับใจ แต่ผู้เสียหายเคยได้ยินถ้อยคำเหล่านี้มาก่อนแล้ว สิ่งที่จะทำให้เกิดความหวังได้จึงไม่ใช่เนื้อหาในถ้อยแถลง แต่เป็นความโกรธเกรี้ยวของคนจำนวนมาก โดยเฉพาะชาวคริสต์ผู้ศรัทธากว่า 2,800 คนที่ร่วมกันลงชื่อในแถลงการณ์ออนไลน์ทันทีที่มีข่าวเรื่องถ้อยแถลงของโป๊ปฟรานซิส

ผู้ศรัทธาเหล่านี้เรียกร้องให้ผู้ถูกกล่าวหาในคดีล่วงละเมิดทางเพศ ไม่ว่าจะเป็นนักบวชระดับสูงตั้งแต่ขั้นบิชอปหรือคาร์ดินัล ลาออกหรือก้าวลงจากตำแหน่ง เพื่อเปิดทางให้มีการไต่สวนคดีทางกฎหมายโดยปราศจากการแทรกแซงภายในมุขมณฑลหรือระบบการปกครองของคริสตจักรโรมันคาทอลิก เช่นเดียวกับที่จะต้องมีการกล่าวถึงบทลงโทษผู้ที่มีส่วนรู้เห็นในการปกปิดข้อมูลการกระทำความผิดในคดีเหล่านี้อย่างจริงจัง

ที่มา: Boston Globe/ CNA/ CNN/ Independent/

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: