เว็บไซต์ The New York Times รายงานสถานการณ์การเมืองไทยโดยอ้างอิงสำนักข่าวรอยเตอร์ส ระบุว่า 'อานนท์ นำภา' ทนายความสิทธิมนุษยชน ผู้ชุมนุมเรียกร้องการปฏิรูปสถาบันหลักในประเทศไทย พร้อมด้วย 'ภาณุพงศ์ จาดนอก' แกนนำเยาวชนที่เข้าร่วมการชุมนุมวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล ถูกจับกุมช่วงเย็นวันที่ 7 ส.ค. 2563
เดอะนิวยอร์กไทม์สระบุว่า แกนนำการชุมนุมคนอื่นๆ จะถูกจับกุมเพิ่มเติม โดยอ้างคำให้สัมภาษณ์ของ พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกตำรวจ ซึ่งระบุเหตุผลของการจับกุมในครั้งนี้ว่าเป็นเพราะ 'มีผู้ร้องเรียนการชุมนุม' ของอานนท์และพวก
ส่วนข้อกล่าวหาที่มีต่ออานนท์และภาณุพงศ์นั้น รวมถึง "กระทำการให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน และจัดการชุมนุมที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรค"
ขณะที่ หนังสือพิมพ์ Mainichi ของญี่ปุ่น รายงานอ้างอิงสำนักข่าวเอพี ระบุว่า การเมืองไทยทวีความตึงเครียดยิ่งขึ้นเมื่อแกนนำการชุมนุมต่อต้านรัฐบาลถูกจับกุม เพราะก่อนหน้านี้ไม่กี่ชั่วโมง หนึ่งในแกนนำกลุ่มประชาชนปลดแอก (Free People movement) ได้ประกาศแล้วว่าจะชุมนุมใหญ่ในวันที่ 16 ส.ค.ที่จะถึง
ผู้สื่อข่าวของเอพีได้สอบถามแกนนำกลุ่มประชาชนปลดแอกด้วยว่า จะเข้าร่วมในเวทีรับฟังความคิดเห็นเยาวชนที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ระบุว่าจะจัดขึ้นหรือไม่
หนึ่งในแกนนำฯ ตอบว่า การเคลื่อนไหวของกลุ่มเยาวชนช่วงที่ผ่านมานั้นชัดเจนอยู่แล้วว่ามีข้อเรียกร้องใดบ้าง รัฐบาลไม่จำเป็นต้องจัดเวที แต่ควรจะพิจารณาและทำตามข้อเรียกร้องที่มีอยู่แล้ว การกล่าวว่าจะจัดเวทีจึงเป็นเพียงการซื้อเวลา ไม่มีความหมายอะไร
ส่วนข้อเสนอของกลุ่มผู้ชุมนุมที่มีต่อรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งเป็นแกนนำก่อรัฐประหารในประเทศไทยครั้งล่าสุดในปี 2557 ได้แก่ การยุบสภา เลือกตั้งใหม่ และแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน รวมถึงการปฏิรูปสถาบันหลักของไทย
อย่างไรก็ตาม สื่อต่างประเทศประเมินว่า ต่อให้รัฐบาลชุดนี้จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นเยาวชนจริง ก็ไม่น่าจะทำตามข้อเรียกร้องได้ เพราะที่ผ่านมา รัฐบาลมีท่าทีชัดเจนว่า จะทำทุกวิถีทางไม่ให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้
ขณะที่ พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก เป็นอีกคนหนึ่งที่ออกมากล่าวพาดพิงการชุมนุมของกลุ่มเยาวชนและประชาชนที่เรียกร้องประชาธิปไตยเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา แม้จะไม่ได้ระบุชื่อโดยตรง แต่การกล่าวว่าผู้ที่เป็น 'โรคชังชาติ' นั้นรักษาไม่หาย ก็สามารถตีความได้ว่าหมายถึงผู้ที่ออกมาชุมนุมทางการเมือง ซึ่งมีท่าทีโจมตีรัฐบาล
ด้วยเหตุนี้ สื่อต่างประเทศจึงพร้อมใจกันระบุว่า การจับกุมแกนนำครั้งนี้ไม่น่าจะช่วยสกัดหรือบั่นทอนกลุ่มผู้ชุมนุมแต่อย่างใด มีแนวโน้มว่าการเคลื่อนไหวทางการเมืองในไทยจะถี่ขึ้นกว่าเดิมด้วยซ้ำ เพราะแกนนำกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองประกาศว่าจะยกระดับการชุมนุม
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: