ไม่พบผลการค้นหา
ส.ว.ฟิลิปปินส์ออกมาปกป้องตำรวจที่ยิงเด็ก 3 ขวบระหว่างปฏิบัติการปราบปรามยาเสพติด โดยกล่าวว่า ความซวยก็เกิดขึ้นได้ระหว่างปฎิบัติการ พร้อมกล่าวว่า เด็กคนนี้ถูกพ่อค้ายาเสพติดใช้เป็นโล่ห์มนุษย์

โรนัลด์ เดอลา โรซา หรือ บาโต สมาชิกวุฒิสภาออกมาปกป้องตำรวจที่ยิงเคทลีน เด็กผู้หญิง 3 ขวบเสียชีวิตระหว่างการปราบปรามยาเสพติดทางตะวันออกของกรุงมะนิลาเมื่อสัปดาห์ก่อน โดยระบุว่า การเสียชีวิตของเคทลีนเป็นความเสียหายที่ไม่ได้ตั้งใจ ตำรวจไม่มีวันต้องการยิงเด็ก เพราะตำรวจก็มีลูกเหมือนกัน “แต่ความซวยเกิดขึ้นได้ระหว่างการปฏิบัติการ” 

เดอลา โรซา เป็นอดีตผู้บัญชาการตำรวจในช่วงที่สงครามปราบปรามยาเสพติดในฟิลิปปินส์รุนแรงที่สุด ตามนโยบายของโรดริโก ดูแตร์เต ประธานาธิบดีฟิลิลิปปินส์ และเพิ่งได้รับเลือกตั้งเป็นส.ว.เมื่อ 2 เดือนก่อน

นอกจากนี้ เดอลา โรซายังกล่าวว่า เคทลีนถูกใช้เป็นโล่ห์มนุษย์ให้กับพ่อของเธอ ซึ่งเป็นผู้ต้องสงสัยว่าเป็นพ่อค้ายาเสพติด ซึ่งตรงกับคำแถลงการณ์ของแบร์นาร์ด บานัค โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติฟิลิปปินส์ก็ออกมาแถลงว่า พ่อของเคทลีนยิงใส่ตำรวจก่อน “เป็นเรื่องช่วยไม่ได้หากจะเกิดอุบัติเหตุขึ้น” เพราะพ่อของเธอใช้เธอเป็นโล่ห์มนุษย์

สื่อท้องถิ่นรายงานว่า เคทลีนน่าจะเป็นหนึ่งในเหยื่อที่อายุน้อยที่สุดที่เสียชีวิตจากนโยบายสงครามปราบปรามยาเสพติด นับตั้งแต่ดูแตร์เตขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ในปี 2016 ดูแตร์เตได้ให้อำนาจกับตำรวจในการติดตามและวิสามัญฆาตกรรมผู้ต้องสงสัยว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการค้ายาเสพติดได้


เคทลีน งานศพ สงครามยาเสพติด ฟิลิปปินส์


ด้านปันฟิโล ลัคสัน อดีตผบ.ตร.ฟิลิปปินส์ที่ผันตัวมาเป็นส.ว.อีกคนหนึ่งกล่าวว่า การเสียชีวิตของเคทลีนระหว่างปฎิบัติการปราบปรามยาเสพติดจะต้องได้รับการพิจารณาอย่างจริงจัง เพื่อจะได้มีมาตรการแก้ไขโดยทันที ผู้ที่มีส่วนรับผิดชอบจะต้องถูกสอบสวน และไม่ปัดความรับผิดชอบด้วยการพูดว่า "ความซวยเกิดขึ้นได้" เพราะหนึ่งชีวิตของผู้บริสุทธิ์ที่เสียไปก็มากเกินไปแล้ว และนี่ไม่ใช่พลเรือนผู้บริสุทธิ์ทั่วไป แต่เป็นเด็กอายุ 3 ขวบด้วย

ทางการฟิลิปปินส์ระบุว่า จำนวนผู้เสียชีวิตจากสงครามปราบปรามยาเสพติดมีมากกว่า 5,000 ราย ในจำนวนนี้มีเด็กอยู่หลายสิบราย แต่องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนประเมินว่าน่าจะมีผู้เสียชีวิตประมาณ 12,000 - 20,000 ราย เพราะเจ้าหน้าที่ไม่เก็บข้อมูลผู้เสียชีวิตหลายรายที่ถูกสังหารโดย "ทีมสังหาร" และกองกำลังที่ไม่ใช่เจ้าหน้าที่รัฐ

ศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) กำลังตรวจสอบเบื้องต้นว่า สงครามปราบปรามยาวเสพติดของดูแตร์เตเข้าข่ายอาชญากรรมต่อมนุษยชาติหรือไม่ และเมื่อวันที่ 4 ก.ค. หลายประเทศเรียกร้องให้ (UNHRC) ตั้งคณะกรรมการสอบสวนปฏิบัติการปราบปรามยาเสพติดในฟิลิปปินส์ โฆษกดูแตร์เตได้ออกมาตอบโต้ว่า การสอบสวนนี้เป็น “การแทรกแซงที่ล้ำเส้นโดยนักโฆษณาชวนเชื่อต่างชาติ”

 

 ที่มา: The Guardian, Rappler


ข่าวที่เกี่ยวข้อง :