หน่วยงานด้านหน่วยข่าวกรองของสหรัฐฯ ทั้งหมด 17 หน่วยงานได้ขึ้นบัญชีนายโรดริโก ดูแตร์เต ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ และนายฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชาเป็น "ภัยคุกคามของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้"
รายงานดังกล่าวระบุ ว่านายดูแตร์เตเดินหน้าปราบปรามยาเสพติด คอรัปชั่นและอาชญากรรม โดยจะระงับการใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราว ประกาศจะเป็น "รัฐบาลผู้นำการปฏิวัติ" และประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วประเทศ ถือเป็นภัยคุกคามประชาธิปไตยในภูมิภาค หลังจากที่เขาขยายเวลาประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในเกาะมินดาเนาเพื่อปราบปราม กลุ่มมาอูเตเป็นสิ้นปี 2018
ด้านนายฮุน เซน ก็พยายามกดขี่องค์กรในระบอบประชาธิปไตยและภาคประชาสังคม ใช้อำนาจควบคุมกระบวนการยุติธรรม ใช้ระบบอุปถัมป์และความรุนแรงทางการเมืองในการปกครองประเทศในช่วงก่อนที่จะมีการเลือกตั้งทั่วไปเดือนกรกฎาคมนี้ และนายฮุน เซน ยังตีตัวออกห่างจากพันธมิตรตะวันตกและหันไปพึ่งพาจีนทั้งด้านการเมืองและการเงินมากขึ้นด้วย
ก่อนหน้านี้ นายดูแตร์เตเคยระบุว่าสำนักข่าวกรองกลางของสหรัฐฯ หรือ ซีไอเอ ต้องการโค่นล้มเขาจากตำแหน่ง ซึ่งนายซอง คิม ทูตสหรัฐฯ ประจำฟิลิปปินส์ได้ปฏิเสธว่าซีไอเอไม่เคยมีแผนโค่นอำนาจนายดูแตร์เตอย่างที่ถูกกล่าวหา ขณะที่นายฮุน เซน ก็กล่าวหาว่าตะวันตกพยายามทำลายเสถียรภาพของกัมพูชาด้วยการสนับสนุนการ ชุมนุมต่อต้านรัฐบาลและสนับสนุนฝ่ายค้านให้เป็นตัวแทนของตะวันตก
ทำเนียบประธานาธิบดีของฟิลิปปินส์ออกมาตอบโต้รายงานนี้ว่า นายดูแตร์เตไม่ใช่ผู้นำอำนาจนิยม ทำตามหลักนิติธรรม และเคารพรัฐธรรมนูญ พร้อมปฏิเสธว่า นายดูแตร์เตไม่เคยประกาศเป็นรัฐบาลผู้นำการปฏิวัติหรือจะประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วประเทศ
หน่วยงานด้านข่าวกรองของสหรัฐฯ ยังระบุว่าประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะยังคงอ่อนแอมากในปี 2018 เพราะมีผู้นำอำนาจนิยม การคอรัปชั่นรุนแรงและเล่นพรรคเล่นพวก ซึ่งนอกจากนายดูแตร์เตและนายฮุน เซนแล้ว วิกฤตโรฮิงญายังคุกคามประชาธิปไตยที่เปราะบางของเมียนมา เพิ่มความเสี่ยงภัยจากกลุ่มหัวรุนแรงและเปิดทางให้จีนแผ่ขยายอำนาจเข้าไปใน ประเทศมากขึ้น
ขณะเดียวกัน รายงานดังกล่าวยังเน้นย้ำเรื่องที่ไทยยังคงมีรัฐบาลทหารบริหารประเทศ แม้จะสัญญาว่าจะมีการเลือกตั้งในปลายปี 2018 ขณะเดียวกันรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ยังอนุญาตให้กองทัพมีอำนาจทางการเมืองต่อไปอย่างเป็นระบบด้วย