เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา (16 มี.ค.2562) ฟิลิปินส์ยื่นจดหมายลาออกอย่างเป็นทางการเพื่อถอนสถานะการเป็นประเทศสมาชิกตามธรรมนูญกรุงโรมว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) ซึ่งว่าด้วยการจัดตั้งศาลอาญาระหว่างประเทศ เพื่อตอบโต้ที่อัยการของ ICC ได้ดำเนินการสอบสวนขั้นต้นในคดีการกระทำของนายโรดริโก ดูแตร์เต ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ ประกาศสงครามยาเสพติด ซึ่งอาจเข้าข่ายการกระทำที่เป็นอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ
การยื่นลาออกดังกล่าวมีผลทันทีในวันนี้ (17 มี.ค.) ทำให้ฟิลิปปินส์เป็นประเทศที่สองของโลกที่ลาออกจากการเป็นสมาชิก ICC โดยประเทศแรก คือ บุรุนดี ยื่นลาออกในเดือนตุลาคม ปี 2017 ตามมาด้วยแกมเบียและเซาท์แอฟริกา แต่ทั้ง 2 ประเทศนี้ขอกลับเข้าเป็นสมาชิกอีกครั้งในภายหลัง
ขณะที่นายนิโคลัส เบเกอลิน ผู้อำนวยการแอมเนสตี้อินเตอร์เนชั่นแนล ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวในแถลงการณ์ว่า "แม้ว่าฟิลิปปินส์จะออกจากการเป็นสมาชิกศาลอาญาระหว่างระหว่างประเทศ แต่ก็ไม่อาจเปลี่ยนแปลงข้อเท็จจริงที่ว่า บรรดาผู้ที่ก่ออาชญากรรมต้องรับชอบในการกระทำที่เกิดภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศจากนโยบายการทำสงครามยาเสพติดของประธานาธิบดีดูแตร์เตตามกระบวนการของ ICC หรือในกระบวนการยุติธรรมระหว่างประเทศอื่น ๆ"
ในแถลงการณ์ของแอมเนสตี้ฯ ยังกล่าวด้วยว่า "ชาวฟิลิปปินส์กำลังเผชิญหน้ากับการทำสงครามยาเสพติด หรือ การแสวงหาความยุติธรรมแก่ผู้เสียชีวิตในสงครามยาเสพติด ซึ่งเป็นบุคคลอันเป็นที่รักของแต่ละครอบครัว และคนเหล่านี้ต้องการพลังสนับสนุนจากต่างประเทศเพื่อช่วยยุติความกลัว ความรุนแรง และการละเว้นโทษ สมาชิกในคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติจะต้องดำเนินการสืบสวนเรื่องดังกล่าวอย่างเป็นอิสระและเป็นสากลสำหรับสถานการณืที่เกิดขึ้นในฟิลิปปินส์ รวมไปถึงการวิสามัญฆาตกรรมประชาชนนับพันคนที่เกิดขึ้น"
นอกจากนี้ แอมเนสตี้ฯ ยังเรียกร้องในฟิลิปปินส์หยุดการทำสงครามยาเสพติดนี้ทันทีและหันมาใช้นโยบายด้านสุขภาพและสิทธิมนุษยชนในการกำจัดยาเสพติดในฟิลิปปินส์แทน
ทั้งนี้ เมื่อปลายปี 2018 หน่วยงานปราบปรามยาเสพติของฟิลิปปินส์ (PDEA) กล่าวว่า ช่วงเดือนกรกฎาคม 2016 จนถึงเดือนพฤศจิกายน 2018 การปราบปรามยาเสพติดตามนโยบายของ ปธน.ดูแตร์เต มีผู้เสียชีวิตทั้งหมด 5,050 คน ซึ่งส่วนใหญ่ถูกวิสามัญฆาตกรรมโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งตามรายงานของสำนักงานสถิติแห่งชาติของฟิลิปปินส์ ในช่วง 2 ปีครึ่งที่ผ่านมาทางเจ้าหน้าที่ตำรวจได้จับกุมผู้เสพยาเสพติดแล้วทั้งหมด 164,265 คน และกว่า 115,435 คนในคดีที่เกี่ยวข้องกับการค้ายาเสพติด
ขณะที่หน่วยงานด้านสิทธิมนุษยชนอื่นๆ ต่างประเมินว่า นโยบายกวาดล้างยาเสพติดของประธานาธิบดีดูแตร์เตนั้นมีผู้เสียชีวิตสูงถึง 12,000 - 20,000 คน ซึ่งส่วนใหญ่ถูกฆาตกรรมโดยไม่มีหมายจับ เข้าข่ายวิสามัญฆาตกรรม
ที่มา: Philstar/ Amnesty International
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: