ไม่พบผลการค้นหา
จีนสั่งปิดกั้นโฆษณากล้อง 'ไลกา' ที่ผลิตโดยเอเจนซีในบราซิล เหตุพาดพิงภาพถ่าย 'ผู้ชายยืนขวางรถถัง' ช่วงเกิดเหตุสังหารหมู่ที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน และไม่มีใครรู้ชะตากรรมของบุคคลในภาพจนถึงวันนี้

The Hunt คือ ภาพยนตร์โฆษณากล้อง 'ไลกา' ผลิตโดยเอเจนซี F/ Nazca/ S&S ในบราซิล ความยาวประมาณ 5 นาที ถูกเผยแพร่ผ่านยูทูบเมื่อวันที่ 16 เม.ย.2562 ที่ผ่านมา แต่ไม่นานหลังจากนั้น ผู้ใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์ในจีน เช่น เวยป๋อ ต่างก็วิพากษ์วิจารณ์โฆษณาดังกล่าวอย่างรุนแรง เนื่องจากภาพสะท้อนที่มองเห็นบนเลนส์กล้องราวเสี้ยววินาทีช่วงท้ายโฆษณา คือ ภาพชายคนหนึ่งกำลังยืนขวางรถถัง ทั้งยังมีข้อความทิ้งท้าย พูดถึงการทำงานของ 'ช่างภาพข่าว' ที่เอาตัวเข้าเสี่ยงอันตรายเพื่อให้คนทั่วโลกได้ 'มองเห็น' สิ่งที่เกิดขึ้นในอีกซีกโลก

ภาพดังกล่าวในโฆษณา The Hunt ถูกเชื่อมโยงกับภาพ 'Tank Man' ซึ่งเป็น 'ภาพข่าว' จากเหตุการณ์จริงที่ชายคนหนึ่งยืนขวางรถถังของทหารจีนบนถนนฉางอัน ซึ่งมุ่งสู่จัตุรัสเทียนอันเหมินในกรุงปักกิ่งของจีน อันเป็นสถานที่ชุมนุมของกลุ่มนักศึกษา-ประชาชนที่ปักหลักเรียกร้องประชาธิปไตยและต่อต้านการทุจริตของรัฐบาลคอมมิวนิสต์จีนในยุคนั้น โดยการชุมนุมเริ่มขึ้นตั้งแต่วันที่ 15 เม.ย.และจบลงในวันที่ 4 มิ.ย.1989 หลังจากมีการปราบปรามผู้ชุมนุมด้วยอาวุธ

เจ้าหน้าที่ทหารเคลื่อนกำลังพลด้วยรถถังเข้าใส่กลุ่มผู้ชุมนุมที่ขวางทาง ทั้งยังมีการกราดยิงด้วยกระสุนจริง ทำให้มีการประเมินว่า สถิติผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ครั้งนั้นอาจสูงถึง 2,500 ราย แต่ก็มีเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจบางส่วนเสียชีวิตเพราะถูกกลุ่มผู้ชุมนุมตอบโต้เช่นเดียวกัน สื่อตะวันตกจึงเรียกเหตุการณ์ดังกล่าวว่า 'การสังหารหมู่ที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน' ขณะที่ภาพ Tank Man ถูกยกย่องเป็น 'ภาพจำ' หรือ Iconic Photo สัญลักษณ์แห่งการเรียกร้องประชาธิปไตยที่จัตุรัสเทียนอันเหมินในปีนั้น

อย่างไรก็ตาม เซาท์ไชน่ามอร์นิงโพสต์ สื่อฮ่องกง รายงานว่า ผู้ใช้เว่ยป๋อไม่พอใจที่โฆษณาไลกาแสดงให้เห็นภาพ Tank Man ในช่วงท้ายของโฆษณา และวิพากษ์วิจารณ์ว่าไลกาจะทำให้บริษัทหัวเว่ย เจ้าของธุรกิจสมาร์ทโฟนและเทคโนโลยีการสื่อสารยักษ์ใหญ่ของจีน และเป็นพาร์ตเนอร์สำคัญทางธุรกิจของไลกา พลอยได้รับผลกระทบจากการพูดถึงเหตุการณ์นี้ไปด้วย เพราะที่ผ่านมา รัฐบาลจีนไม่อนุญาตให้เผยแพร่หรือถกเถียงข้อมูลเกี่ยวกับการชุมนุมที่จัตุรัสเทียนอันเหมินในสื่อออนไลน์ของจีน


'ไลกา' ประกาศ'ไม่เกี่ยวข้อง' กับโฆษณา The Hunt

แม้ภาพ Tank Man จะถูกพูดถึงในพื้นที่อื่นๆ ของโลก แต่ชาวจีนในยุคที่สื่อสังคมออนไลน์มีอิทธิพลอย่างมาก กลับถูกปิดกั้นไม่ให้เข้าถึงภาพดังกล่าวได้อย่างง่ายดายนัก และภายหลังโฆษณาไลกาของ F/Nazca ถูกเผยแพร่ออกมา เมื่อกลางเดือน เม.ย. เซาท์ไชน่ามอร์นิงโพสต์รายงานว่า รัฐบาลจีนสั่งปิดกั้นผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศไม่ให้สืบค้นคำว่า ไลกา ทันที ขณะที่คำสืบค้นที่เกี่ยวกับเหตุการณ์ชุมนุมที่เทียนอันเหมินเมื่อปี 1989 และข้อมูลที่เกี่ยวกับ Tank Man ถูกปิดกั้นอยู่เป็นระยะ โดยเฉพาะปีนี้ที่จะครบรอบ 30 ปีของเหตุการณ์ดังกล่าวในวันที่ 4 มิ.ย.

อย่างไรก็ตาม สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า 'ไลกา คาเมรา เอจี' ซึ่งเป็นสำนักงานใหญ่ ออกแถลงการณ์ปฏิเสธว่าบริษัทแม่ 'ไม่เกี่ยวข้อง' กับโฆษณาดังกล่าวของ F/ Nazca พร้อมระบุว่าจะดำเนินการทางกฎหมายกับผู้เผยแพร่โฆษณาดังกล่าวด้วย แต่เซาท์ไชนามอร์นิ่งโพสต์รายงานอ้างอิงคำแถลงของโฆษก F/ Nazca ยืนยันว่า โฆษณาดังกล่าวได้รับความเห็นชอบจากบริษัทไลกา (บราซิล) แล้ว อีกทั้งเอเจนซีแห่งนี้ก็เป็นผู้ที่เคยผลิตโฆษณาให้กับไลกาในบราซิลมาก่อนด้วย

เว็บไซต์ DIY Photography ประเมินว่า การปฏิเสธความเกี่ยวข้องกับโฆษณาดังกล่าวของไลกา คาเมรา เอจี อาจเป็นผลจากความหวั่นเกรงว่ากระแสต่อต้านสินค้าจากกลุ่มผู้บริโภคและรัฐบาลจีน จะส่งผลกระทบต่อธุรกิจโดยรวม เนื่องจากที่ผ่านมา มีแบรนด์สินค้าหลายรายที่เผยแพร่โฆษณาแล้วถูกต่อต้านจากชาวจีนและรัฐบาลจีน เช่น ดอลเชแอนด์แกบบานา (D&G) ซึ่งเผยแพร่โฆษณานางแบบเชื้อสายเอเชียกินพิซซ่าด้วยตะเกียบ

ก่อนหน้านี้ไลกาเคยประกาศเป้าหมายว่าจะขยายร้านค้าและบริการในจีนเพิ่มอีก 20-30 แห่ง และไลกายังมีธุรกิจที่เกี่ยวพันกับ 'หัวเว่ย' ผู้ผลิตสมาร์ทโฟนยักษ์���หญ่ของจีน ในฐานะผู้ผลิตเทคโนโลยีสนับสนุนกล้องสมาร์ทโฟนหัวเว่ย หากถูกทางการจีนต่อต้านจนนำไปสู่การยกเลิกสัญญา ย่อมส่งผลกระทบต่อบริษัทอย่างไม่มีทางเลี่ยง 

Magnum-Tank Man.JPG

ปากคำ 'ช่างภาพข่าว' ผู้บันทึกภาพประวัติศาสตร์

เหตุการณ์ที่ถูกพูดถึงในโฆษณา The Hunt เป็นภาพความขัดแย้งและสงครามที่เกิดขึ้นในอีกหลายประเทศทั่วโลก แต่ในกรณีของการชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน ไม่ได้มีแค่ภาพ Tank Man เพียงอย่างเดียว แต่มีเหตุการณ์ที่ตำรวจจีนพยายามตรวจสอบและสกัดกั้นชาวต่างชาติไม่ให้ออกไปจากโรงแรมที่พัก ซึ่งอาจเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่รัฐบาลจีนสั่งปิดกั้นโฆษณานี้ไม่ให้เผยแพร่ในสื่อออนไลน์ ขณะเดียวกันก็มีชาวเน็ตจีนจำนวนหนึ่งตั้งคำถามถึงเหตุการณ์ที่ปรากฏในโฆษณา The Hunt ว่าถูกต้องตามข้อเท็จจริง หรือเป็นการใส่สีตีไข่ให้เจ้าหน้าที่จีนดูคุกคามเกินจริง

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ในปี 2017 เซาท์ไชน่ามอร์นิงโพสต์ได้รายงานคำให้การของช่างภาพข่าว 4 รายที่บันทึกภาพ Tank Man เอาไว้ได้ โดยช่างภาพที่ถูกกล่าวถึงมากที่สุดในฐานะผู้ถ่ายภาพ Tank Man คือ เจฟ ไวเดนเนอร์ ช่างภาพของเอพี เนื่องจากภาพของเขาได้รับการตีพิมพ์เป็นรายแรกตามหน้าหนังสือพิมพ์ในวันที่ 5 มิ.ย.1989 หลังการปราบปรามผู้ชุมนุมที่จัตุรัสเทียนอันเหมินเพียง 1 วัน และภาพของเขายังเข้าถึงรอบสุดท้ายในการชิงรางวัลพูลิตเซอร์สาขาภาพเหตุการณ์ในปี 1990 ด้วย

ส่วนช่างภาพอีก 3 คนที่บันทึกภาพ Tank Man ในมุมใกล้เคียงกับไวเดนเนอร์เอาไว้ได้ คือ สจวร์ต แฟรงคลิน ช่างภาพของแม็กนัม ซึ่งรับงานของนิตยสารไทม์ในขณะนั้น, อาร์เธอร์ จางฮินวา ช่างภาพของรอยเตอร์ และชาร์ลี โคล ช่างภาพอิสระชาวอเมริกัน ซึ่งรับงานให้กับนิตยสารนิวส์วีก โดยที่ภาพของโคลได้รับรางวัล World Press Photo ในปี 1989 ด้วย และโจนาธาน แชร์ ช่างภาพของสำนักข่าวซีเอ็นเอ็น บันทึกวิดีโอเหตุการณ์เอาไว้ได้ 

บุคคลสำคัญอีกคนหนึ่งที่ทำให้ภาพ Tank Man ได้รับความสนใจไปทั่วโลก คือ จอร์จ บุช ซีเนียร์ อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ ซึ่งกล่าวถึงภาพดังกล่าวผ่านสื่อ ทำให้มีการสืบค้นภาพดังกล่าวมาเผยแพร่ จนกลายเป็นภาพประวัติศาสตร์ที่มีคนรู้จักเป็นจำนวนมาก

ตัวจริง Tank Man คือใคร - ยังบอกไม่ได้จนวันนี้

ไวเดนเนอร์เผยว่า ช่างภาพข่าวจากทั่วโลกพยายามทำทุกวิถีทางที่จะเข้าไปในกรุงปักกิ่งเพื่อบันทึกภาพเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในจัตุรัสเทียนอันเหมิน และในช่วงนั้น เขาประจำการอยู่ที่กรุงเทพฯ แต่ไม่สามารถขอวีซ่านักข่าวเพื่อเข้าจีนได้ จึงต้องซื้อทัวร์เพื่อเดินทางเข้าไปในกรุงปักกิ่งในฐานะนักท่องเที่ยว

เมื่อเขาเดินทางไปยังปักกิ่งก็เลือกที่จะพักอยู่ในโรงแรมที่สามารถมองเห็นถนนฉางอันได้ชัดเจน และในวันที่เกิดเหตุ เขาได้ยินเสียงดังรัวของอาวุธปืน จึงเล็งกล้องจากระเบียงโรงแรมเพื่อเก็บภาพขบวนรถถังที่เคลื่อนมาตามถนน และตอนแรกเขาไม่ได้ตั้งใจจะถ่ายภาพ Tank Man ทั้งยังคิดว่า ผู้ชายคนนี้อาจทำให้ภาพขบวนรถถังกลางถนนของเขากลายเป็นภาพที่ไม่สมบูรณ์แบบ จนกระทั่งเขาตั้งสติและมองเห็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น จึงระลึกได้ว่าชายคนดังกล่าวไม่มีอาวุธ ในมือของเขาถือเพียงถุงใส่ของ แต่เขากลับยืนเผชิญหน้ากับรถถังอย่างสงบนิ่ง ทั้งที่ก่อนหน้านี้เจ้าหน้าที่รัฐบาลจีนได้กราดยิงหรือขับรถถังทับผู้ชุมนุมไปแล้ว

ไวเดนเนอร์บันทึกในเว็บไซต์ส่วนตัวว่า นักข่าวและช่างภาพต่างชาติส่วนใหญ่พักอยู่ที่โรงแรมใกล้กับถนนฉางอันในช่วงที่มีการชุมนุมที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน และเจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบมักจะใช้สิทธิตรวจค้นคนที่เดินทางเข้าออกพื้นที่ชุมนุม ขณะที่แม่บ้านของโรงแรมซึ่งอาจจะเป็นสายให้กับเจ้าหน้าที่รัฐมักจะเปิดประตูห้องพักแขกต่างชาติโดยไม่เคาะเตือน ทั้งยังสอดส่ายสายตาดูว่ามีอะไรผิดปกติในห้องพักหรือไม่ 

ส่วนสจวร์ต แฟรงคลิน ระบุว่า เขาขอร้องให้นักศึกษาฝรั่งเศสที่จะเดินทางกลับประเทศเป็นผู้ซ่อนฟิล์มที่เขาถ่ายไว้ไปส่งที่สำนักงานของแม็กนัมในกรุงปารีสให้ แทนที่จะใช้วิธีส่งทางไปรษณีย์ เพราะวิธีนี้รวดเร็วกว่าและถูกเจ้าหน้าที่จีนเพ่งเล็งน้อยกว่า ขณะที่ อาร์เธอร์ จางอินฮา ระบุว่าเขาถูกผู้ชุมนุมที่จัตุรัสเทียนอันเหมินทำร้ายร่างกาย เพราะเขาเป็นชาวต่างชาติเชื้อสายเอเชียที่สะพายกล้องถ่ายรูป ทำให้ผู้ชุมนุมหวาดระแวงว่าจะเป็นตำรวจนอกเครื่องแบบที่มาสอดแนม

AFP-การชุมนุมจัตุรัสเทียนอันเหมินเรียกร้องประชาธิปไตยในจีน 1989.jpg
  • หนึ่งในภาพเหตุการณ์การชุมนุมที่จัตุรัสเทียนอันเหมินเมื่อปี 1989

สิ่งหนึ่งที่ช่างภาพผู้บันทึกเหตุการณ์เกือบทั้งหมดระบุตรงกัน คือ หลังจากที่ Tank Man ยืนขวางขบวนรถถัง เจ้าหน้าที่ซึ่งบังคับรถถังก็ตัดสินใจหยุดเคลื่อนพล Tank Man ได้ปีนขึ้นไปเปิดฝาครอบรถถัง และปีนกลับลงมายืนที่เดิม แต่ประชาชนที่อยู่ข้างทางและมองเห็นเหตุการณ์ทั้งหมดได้วิ่งมาดึงตัวชายผู้ยืนขวางรถถังออกไป และไม่มีใครรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นหลังจากนั้น เพราะช่างภาพที่จับจ้องเหตุการณ์ดังกล่าวล้วนอยู่ไกลจากถนนฉางอันหลายสิบเมตร 


Tank Man อาจถูกจับ แต่บอกไม่ได้ว่า 'ถูกฆ่า' หรือไม่

ไวเดนเนอร์ระบุว่า ไม่มีใครรู้ชะตากรรมของชายผู้ยืนขวางรถถัง และไม่รู้ว่าทหารผู้ตัดสินใจหยุดรถถัง ต้องเผชิญกับการลงโทษใดๆ หรือไม่

ขณะที่เว็บไซต์ดิอินดีเพนเดนท์รายงานอ้างอิง The Sunday Express ที่ระบุว่า Tank Man คือ นักศึกษาชาวจีนชื่อว่า 'หวังเว่ยหลิน' วัย 19 ปี โดยอ้างอิงข้อมูลจากเพื่อนนักศึกษาของเขา ซึ่งยืนยันด้วยว่าเขาถูกสังหารในเวลาต่อมา ขณะที่ ยอนฮัป สื่อเกาหลีใต้ รายงานว่าชายคนดังกล่าวไม่ได้ถูกรถถังเหยียบ และหลังจากนั้นได้ลี้ภัยไปอยู่ไต้หวัน แต่สื่อฮ่องกงก็รายงานเช่นกันว่า ที่จริงแล้ว Tank Man เป็นเจ้าหน้าที่ของพิพิธภัณฑ์แห่งชาติ ซึ่งภายหลังลี้ภัยไปอยู่ฮ่องกง แต่พิพิธภัณฑ์แห่งชาติจีนออกมาปฏิเสธข้อมูลดังกล่าว

ส่วนบาร์บารา วอลเตอร์ ผู้สื่อข่าวอเมริกัน นำภาพ Tank Man ไปสอบถามกับ 'เจียงเจ้อหมิน' อดีตประธานาธิบดีจีนซึ่งดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีนช่วงเกิดเหตุชุมนุมที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน โดยเขายืนยันว่าเจ้าหน้าที่ได้รับคำสั่งไม่ให้ทำร้ายประชาชน และการที่ทหารหยุดรถถังต่อหน้า Tank Man จึงเชื่อได้ว่าชายคนดังกล่าวจะรอดชีวิตแน่นอน แต่อาจจะถูกจับกุมหลังจากนั้น

ทั้งนี้ รัฐบาลจีนและพรรคคอมมิวนิสต์จีนไม่เคยยอมรับกรณีสื่อต่างชาติเรียกเหตุการณ์สลายชุมนุมที่จัตุรัสเทียนอันเหมินเมื่อปี 1989 ว่าเป็น 'การสังหารหมู่' และไม่เปิดเผยตัวเลขเป็นทางการว่ามีผู้เสียชีวิต บาดเจ็บ และสูญหายจากการปราบปรามผู้ชุมนุมที่จัตุรัสเทียนอันเหมินเป็นจำนวนเท่าใด

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: