ไม่พบผลการค้นหา
‘ดราก้อนฟลาย’ เสิร์ชเอนจินจีนที่พัฒนาโดยกูเกิลจะเซนเซอร์คำที่รัฐบาลจีนไม่อนุญาตให้สืบค้น ด้านรองประธานาธิบดีสหรัฐฯ เรียกร้องให้ยุติการพัฒนาทันที!

กูเกิลกำลังพัฒนาเสิร์ชเอนจิน หรือโปรแกรมสืบค้นข้อมูลบนอินเทอร์เน็ตตัวใหม่ให้รัฐบาลจีนภายใต้ชื่อโครงการ ‘ดราก้อนฟลาย’ (Dragonfly) ซึ่งจะเป็นเหมือนกูเกิลฉบับเซนเซอร์ข้อความที่รัฐบาลจีนเห็นว่า ‘สุ่มเสี่ยงต่อความมั่นคง’ โดยมีแผนจะเปิดให้บริการในปีหน้า

เว็บไซต์ The Intercept รายงานว่า เบ็น โกเมส (Ben Gomes) หัวหน้าทีมพัฒนาเสิร์ชเอนจินของกูเกิลได้ประชุมความคืบหน้าของโครงการเสิร์ชเอนจินตัวใหม่ในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา และล่าสุดมีข้อมูลรั่วไหลออกมาว่า บรรดาคำที่กูเกิลจีนตัวนี้แบนจะรวมถึงคำว่า ‘สิทธิมนุษยชน’ (Human Rights) ‘การประท้วงของนักศึกษา’ (Student Protest) ‘ประชาธิปไตย’ (Democracy) และ ‘รางวัลโนเบล’ (Nobel Prize) เพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมายเซนเซอร์อันเข้มงวดของจีน

แอปฯ ดังกล่าวจะคัดกรองเว็บไซต์ที่ถูกบล็อกโดยทางการจีน เช่น เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ และอินสตาแกรม ออกไปจากผลการค้นหา รวมถึงจะไม่แสดงผลการค้นหาเมื่อใช้คำที่ถูกแบนในการสืบค้น

ทางด้านรัฐบาลสหรัฐฯ เป็นกังวลเกี่ยวกับแผนการของกูเกิลเช่นกัน เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา ไมเคิล เพนซ์ (Michael Pence) รองประธานาธิบดีสหรัฐฯ จึงเรียกร้องให้กูเกิลยุติการพัฒนาดราก้อนฟลายทันที เนื่องจากมันจะเสริมกำลังให้การเซนเซอร์ของพรรคคอมมิวนิสต์จีนรวมถึงเป็นการคุกคามความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้บริการชาวจีนอีกด้วย

ทั้งนี้ กูเกิลยังไม่ประกาศยอมรับอย่างเป็นทางการต่อสาธารณะว่า โครงการพัฒนาเสิร์ชเอนจินจีนในนามดราก้อนฟลายมีอยู่จริง อย่างไรก็ตาม พนักงานบริษัทกูเกิลหลายร้อยคนได้ยื่นจดหมายเรียกร้องความโปร่งใสเกี่ยวกับโครงการดังกล่าว และยังคงมีข้อมูลรวมถึงการแสดงความไม่พอใจของพนักงานที่อ้างว่า มีส่วนในการพัฒนาโครงการหลุดออกมาเป็นระยะ

มีการประมาณการณ์ว่า กว่า 95 เปอร์เซ็นต์ของประชากรของจีนเข้าใช้งานอินเทอร์เน็ตผ่านแอปฯ ในโทรศัพท์มือถือ กูเกิลจึงมุ่งพัฒนาเสิร์ชเอนจินดราก้อนฟลายเป็นแอปฯ ทั้งในระบบปฏิบัติการณ์แอนดรอยด์ และไอโอเอส โดยจากรายงานก่อนหน้าผู้ใช้บริการต้องเชื่อมต่อเบอร์โทรศัพท์เข้ากับแอปฯ สืบค้นข้อมูลนี้ และข้อมูลการใช้งานอินเทอร์เน็ตทั้งไอพีแอดเดรสของเครื่อง และลิงก์ทุกลิงก์ที่ผู้ใช้คลิ๊กเข้าไปจะถูกเก็บบันทึก เพื่อให้รัฐบาลจีนสามารถสอดแนมประชาชนได้ อย่างไรก็ตาม ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่า เสิร์ชเอนจินจีนจะมีเวอร์ชันสำหรับใช้บนคอมพิวเตอร์หรือไม่

ที่มา:

On Being
198Article
0Video
0Blog