ไม่พบผลการค้นหา
เผยเอกสารประชุมทีมวิชาการจากวง 3 คณะที่กรมควบคุมโรค กรณีนำเข้าวัคซีนไฟเซอร์ โดยเสนอให้ฉีดผู้สูงอายุก่อน ขณะเดียวกันยังมีเสียงคัดค้านการฉีดเข็มสามให้บุคลากรการแพทย์ด่านหน้า โดยชี้ว่าถ้าฉีดเข็มสามเท่ากับยอมรับซิโนแวค ไม่ได้ผล จะแก้ตัวยาก

เมื่อวันที่ 4 ก.ค. 2564 มีการเผยแพร่เอกสารในสื่อสังคมออนไลน์โดยสรุปผลประชุมเฉพาะกิจร่วมระหว่างคณะกรรมการด้านวิชาการ ตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 , คณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค และคณะทำงานวิชาการด้านบริหารจัดการและศึกษาการให้บริการวัคซีน เมื่อวันที่ 30 มิ.ย. 2564 เวลา 13.30 – 16.30 น. ที่ห้องประชุมชม เทพยสุวรรณ ชั้น 5 อาคาร 3 กองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค

โดยมีวาระการพิจารณาแนวทางการให้วัคซีน Pfizer ของประเทศไทย มีข้อเสนอแนวทางบริหารจัดการ Pfizer 1.5 ล้านโดส ช่วง ก.ค.- ส.ค. 2564 จำนวน 3 ทางเลือก

ทางเลือกที่ 1 กลุ่มเป้าหมายบุคคลอายุ 12 – ต่ำกว่า 18 ปี พื้นที่ กทม. 3.5 แสนคน ยะลา ปัตตานี นราธิวาส สงขลา 3.3 แสนคน พื้นที่เศรษฐกิจ ภูเก็ต พังงา สมุย 6 หมื่นคน โดยมีข้อดี จะได้รับวัคซีนเร็วขึ้น ไม่ต้องรอไตรมาส 4 หรือ อนุมัติใช้ Sinovac ในเด็ก เพิ่มความครอบคลุม ส่วนข้อเสีย มีความกังวลต่อการเกิด Myocarditis (กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด)

ทางเลือกที่ 2 กลุ่มเป้าหมาย กลุ่มเสี่ยงที่ยังไม่ได้วัคซีน ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง หญิงตั้งครรภ์ ใช้กับพื้นที่ที่พบการระบาดของเชื้อสายพันธุ์ Delta ข้อดี สร้างภูมิคุ้มกันโรคได้ดี เร็ว ลดการป่วยรุนแรง ลดการเสียชีวิต เพิ่มความครอบคลุมการได้รับวัคซีน ส่วนข้อเสีย เกิดการเลือกวัคซีน

ทางเลือกที่ 3 บุคลากรการแพทย์ด่านหน้า กระตุ้นภูมิคุ้มกันเข็มที่ 3 ทั้งสถานพยาบาลของรัฐและเอกชนทั่วประเทศ ข้อดี เพิ่มระดับภูมิคุ้มกันต่อเชื้อกลายพันธ์ุ สร้างขวัญกำลังใจ มีวัคซีนให้กลุ่มเป้าหมายอื่นได้ ส่วนข้อเสีย ไม่เพิ่มความครอบคลุมการได้รับวัคซีน

1.JPG

อย่างไรก็ตาม มีการบันทึกความเห็นในที่ประชุมที่สำคัญ โดยพบว่ามีความเห็นที่สนับสนุนและคัดค้านแนวทางการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ เป็นเข็มที่ 3 ให้กับกลุ่มบุคลากรการแพทย์ด่านหน้า เช่น ฉีดวัคซีนไฟเซอร์ควรให้พื้นที่ระบาด 7 กลุ่มโรค ให้ไปแล้วทดแทนที่ขาด, ต้องแก้ปัญหาพื้นที่ระบาดและป่วยตายเยอะก่อน

เสนอให้เพิ่มเข็มสามให้บุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้า , ควรมียุทธศาสตร์ในการสื่อสารและเป้าหมายที่ชัดเจน

ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกต มีการบันทึกความเห็นในที่ประชุม ข้อที่ 10 ระบุด้วยว่า “ในขณะนี้ ถ้าเอามาฉีดกลุ่ม 3(บุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้า) แสดงว่าเรายอมรับว่า Sinovac ไม่มีผลในการป้องกัน แล้วจะแก้ตัวยากมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ความเห็นส่วนใหญ่ สนับสนุนให้มีการฉีด Pfizer เข็มที่ 3 แก่บุคลากรด่านหน้า

11.JPG

สำหรับมติที่ประชุม เห็นชอบแนวทางการให้วัคซีน Pfizer ในเดือน ก.ค.-ส.ค.64 ควรให้ฉีดวัคซีนไฟเซอร์ที่ได้รับในระยะแรกจำนวน 1.5 ล้านโดส ระหว่าง ก.ค.-ส.ค.64 เป็นเข็มที่ 1 ทั้งหมดแก่ผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป หรือหญิงตั้งครรภ์ที่มีอายุครรภ์ 12 สัปดาห์ขึ้นไป ในพื้นที่ที่มีการระบาดรุนแรง ซึ่งในขณะนี้คือพื้นที่ กทม. และปริมณฑล เพื่อลดการป่วยรุนแรงและการเสียชีวิต และควรเตรียมการด้านบุคลากร สถานที่ฉีด และอุปกรณ์ในการฉีดที่เหมาะสมสำหรับการฉีดวัคซีน

12.JPG

เผยไทม์ไลน์ชง ครม. 6 ก.ค.เคาะจัดซื้อวัคซีนไฟเซอร์

ขณะที่เฟซบุ๊ก ศูนย์ข้อมูล COVID-19 ได้เปิดเผยไทม์ไลน์ความคืบหน้าการจัดซื้อวัคซีนไฟเซอร์ของรัฐบาล โดยระบุดังนี้

ก่อนเดือน เม.ย. 64 : ติดต่อไฟเซอร์

16 เม.ย. 64 : ประชุม ศบค.ครั้งที่ 5/2564 มีมติ จัดหาวัคซีน

20 เม.ย. 64 : ลงนาม Confidental Disclosure Agreement

3 พ.ค. 64 : คร.ส่งร่าง Binding Term Sheet ให้ อสส.พิจารณา

25 พ.ค. 64 : คร.ส่งร่าง Bingding Term Sheet ที่เจรจาเพิ่มเติมกับ ไฟเซอร์ ให้ อสส.พิจารณา

28 พ.ค. 64 : อสส.แจ้งผลการพิจารณา Bingding Term Sheet การตกลงจองซื้อวัคซีนไฟเซอร์ จัดซื้อตามนโยบายรัฐบาล

10 มิ.ย. 64 : ลงนาม Bingding Term Sheet

11 มิ.ย. 64 : ขอขึ้นทะเบียน

24 มิ.ย. 64 : อย.ขึ้นทะเบียน

26 มิ.ย. 64 : ไฟเซอร์ ส่งเอกสารสัญญา Manufacturing and Supply Agreement

28 มิ.ย. 64 : ส่งให้สำนักงานอัยการสูงสุด

5 ก.ค. 64 : อัยการสูงสุดส่งกลับ คร.

6 ก.ค. 64 : เข้า ครม.เห็นชอบก่อนลงนาม

ผอ.สถาบันวัคซีน-อนุทิน ประสานเสียงไฟเซอร์มาไตรมาส 4

ด้าน นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ เปิดเผยเมื่อวันที่ 2 ก.ค. 2564 ว่า วัคซีนโควิด-19 ชนิด mRNA ที่พยายามจัดหาอยู่ โดยเจรจากับบริษัท ไฟเซอร์ นั้น ตอนแรกจะส่งมอบช่วงไตรมาสที่ 3 หรือประมาณเดือน ส.ค. แต่เมื่อส่งใบจองแล้ว บริษัทแจ้งว่าไตรมาส 3 เป็นไปได้ยาก จะส่งได้ในไตรมาสที่ 4 หรือประมาณเดือน ต.ค.- พ.ย. จำนวน 20 ล้านโดส

เช่นเดียวกับ อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข กล่าวเมื่อวันที่23 มิ.ย. 2564 ถึงยอดที่ไฟเซอร์แจ้งว่าจะจัดสรรวัคซีนให้ไทยได้ในปีนี้ ตอนแรกบอกไตรมาส 3 แต่พอตกลงกันไปแล้วบอกว่าไตรมาส 4 วัคซีนเป็นที่ต้องการของคนทั่วโลก ถามว่าเราทำอะไรได้ เราไม่ได้เป็นเจ้าของโรงงาน แต่ละโรงงานก็มีข้อผูกมัดสัญญากับประเทศอื่นๆ ทั่วโลก 

"ประเทศไทยก็ไม่ขาดวัคซีน มีวัคซีนส่งทุกสัปดาห์และจัดสรรออกไป ประสิทธิภาพการฉีดสูงมาก บางวันได้ 3-4 แสนเข็ม ยิ่งคนฉีดมากเท่าไร แม้คนไม่ได้ฉีดก็ลดอัตราความเสี่ยงการติดเชื้อมาระดับหนึ่ง เพราะคนรับวัคซีนไปแล้วต่อให้ติดเชื้อแต่อาการไม่หนัก การแพร่เชื้อก็เบาลงไป ต้องพยายามมองในองค์รวมมากขึ้น" อนุทิน ระบุ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง