ไม่พบผลการค้นหา
'พิเชษฐ์' นั่งหัวโต๊ะพรรคการเมืองถกแบ่งโควตา กมธ. สภาผู้แทนราษฎร 'เพื่อไทย-ก้าวไกล' ได้ประธาน 10 เก้าอี้ จับตาพรรคร่วมรัฐบาลส่งสมาชิกนั่งประธานฯ ล้อกับเจ้ากระทรวงพรรคตัวเอง

วันที่ 31 ส.ค. ที่อาคารรัฐสภา พิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 2 เป็นประธานในการประชุมตัวแทนพรรคการเมืองเพื่อจัดสรรสัดส่วนกรรมาธิการสามัญ สภาผู้แทนราษฎร ทั้ง 35 คณะ ว่าแต่ละพรรคการเมืองจะมีสัดส่วนของประธานกรรมาธิการ และสมาชิกในกรรมาธิการจำนวนเท่าใด

โดยมีหลักเกณฑ์คำนวณ จากจำนวนคณะกรรมาธิการทั้งหมด คือ 35 ตำแหน่ง คูณกับจำนวน สส.แต่ละพรรคการเมือง จากนั้นหารด้วยจำนวน สส.ทั้งหมดที่มีอยู่ในสภาผู้แทนราษฎร 499 คน 

ในเวลา 13.30 น. ตัวแทนจากแต่ละพรรคการเมืองทยอยเข้าประชุม ประกอบด้วย พรรคก้าวไกล ชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรค และ ปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล รองหัวหน้าพรรค พรรคเพื่อไทย ประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรค วิสุทธิ์ ไชยณรุณ สส.แบบบัญชีรายชื่อ และ มนพร เจริญศรี สส.นครพนม 

พรรคภูมิใจไทย สุขสมรวย วัทนียกุล สส.อำนาจเจริญ มัลลิกา จิระพันธุ์วานิช สส.ลพบุรี และ ภราดร ปริศนานันทกุล โฆษกพรรค พรรคพลังประชารัฐ อรรถกร ศิริลัทธยากร สส.ฉะเชิงเทรา และ ไผ่ ลิกค์ สส.กำแพงเพชร 

พรรครวมไทยสร้างชาติ วิทยา แก้วภราดัย รองหัวหน้าพรรค อัครเดช วงศ์พิทักษ์โรจน์ สส.ราชบุรี จุติ ไกรฤกษ์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ชัยชนะ เดชเดโช รองเลขาธิการพรรค และ ประมวล พงษ์ถาวราเดช สส.ประจวบคีรีขันธ์ เป็นอาทิ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับสัดส่วนเบื้องต้นที่แต่ละพรรคการเมืองได้รับ มี 8 พรรคการเมืองที่จำนวน สส. ถึงเกณฑ์ได้รับตำแหน่งประธานกรรมาธิการ ประกอบด้วย 

พรรคก้าวไกล 10 ตำแหน่ง

พรรคเพื่อไทย 10 ตำแหน่ง

พรรคภูมิใจไทย 5 ตำแหน่ง

พรรคพลังประชารัฐ 3 ตำแหน่ง

พรรครวมไทยสร้างชาติ 3 ตำแหน่ง

พรรคประชาธิปัตย์ 2 ตำแหน่ง

พรรคชาติไทยพัฒนา 1 ตำแหน่ง

พรรคประชาชาติ 1 ตำแหน่ง


สำหรับสัดส่วนกรรมาธิการสามัญ ทั้งหมด 525 ตำแหน่ง ประกอบด้วย


พรรคก้าวไกล 158 ตำแหน่ง

พรรคเพื่อไทย 138 ตำแหน่ง

พรรคภูมิใจไทย 45 ตำแหน่ง

พรรคพลังประชารัฐ 42 ตำแหน่ง

พรรครวมไทยสร้างชาติ 3 ตำแหน่ง

พรรคประชาธิปัตย์ 26 ตำแหน่ง

พรรคชาติไทยพัฒนา 11

พรรคประชาชาติ 10

พรรคไทยสร้างไทย 6

พรรคชาติพัฒนากล้า 2

พรรคเพื่อไทรวมพลัง 2

พรรคเสรีรวมไทย 1

พรรคประชาธิปไตยใหม่ 1

พรรคใหม่ 1

พรรคท้องที่ไทย 1

พรรคเป็นธรรม 1

พรรคพลังสังคมใหม่ 1

พรรคครูไทยเพื่อประชาชน 1

ทั้งนี้ ในวันที่ 7 ก.ย. จะมีการประชุมอีกครั้ง หลังจากแต่ละพรรคการเมืองหารือกันเป็นการภายในว่าจะจัดสรรสมาชิกของพรรคตนเองเข้าไปสังกัดกรรมาธิการใดบ้าง รวมถึงตำแหน่งประธานกรรมาธิการ ที่วิปของแต่ละพรรคต้องต่อรองกัน เนื่องจากมีการคาดหมายว่า พรรคการเมืองฝ่ายรัฐบาลจะแสดงความจำนงส่งสมาชิกเข้าไปนั่งในกรรมาธิการให้ตรงกับกระทรวง ที่พรรคของตนเองเป็นเจ้ากระทรวงอยู่

ขณะที่หากพรรคก้าวไกลชนะการเลือกตั้งซ่อม จ.ระยอง และได้จำนวน สส.เพิ่มขึ้นเป็น 151 คน จะกระทบต่อการคำนวณอัตราส่วนประธานกรรมาธิการให้ได้รับเพิ่มมาเป็น 11 คณะ อย่างไรก็ตาม มีแนวโน้มว่าที่ประชุมจะเริ่มจัดสรรสัดส่วนก่อนจะรู้ผลการเลือกตั้งซ่อม ประเด็นดังกล่าวจึงต้องหารือกันระหว่างวิปต่อไป

S__40411206.jpg


'พิเชษฐ์' นัดเคาะสัดส่วน ปธ.กมธ. 13 ก.ย.

ด้าน พิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 2 เป็นประธานในการประชุมตัวแทนพรรคการเมืองเพื่อจัดสรรสัดส่วนกรรมาธิการสามัญ สภาผู้แทนราษฎร ทั้ง 35 คณะ เปิดเผยผลการหารือหลังจากการประชุมเป็นเวลาประมาณ 1 ชั่วโมง

พิเชษฐ์ กล่าวว่า ในการประชุม พรรคก้าวไกลเสนอให้รอผลการเลือกซ่อม จ.ระยอง ก่อนจัดสรรโควตาคณะกรรมาธิการอีกครั้ง เนื่องจากจำนวน สส.อาจเปลี่ยนแปลง แต่ที่ประชุมเสียงส่วนใหญ่เห็นว่า หลังเสร็จการเลือกตั้ง กว่าคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะรับรองผลอย่างเป็นทางการอาจใช้เวลานานถึง 2 เดือนก็ได้

ดังนั้น ที่ประชุมส่วนใหญ่มองว่า ควรอยู่กับปัจจุบันควร และดำเนินการตามสัดส่วนเดิมที่ได้ประกาศไว้จากจำนวนสมาชิกทั้งหมด 499 คน โดยหากผลการเลือกตั้งออกมา ถึงตอนนั้นแต่ละพรรคการเมืองคงได้วิป ที่จะมาประชุมและเปลี่ยนแปลงสัดส่วนสมาชิกต่อไป

หลังจากนี้ แต่ละพรรคการเมืองจะกลับไปหารือกันนอกรอบว่าประสงค์จะส่งสมาชิกเข้าสังกัดในกรรมาธิการใดบ้าง และในวันจันทร์ที่ 4 ก.ย. จะนัดหมายทุกพรรคการเมืองประชุมอีกครั้ง พร้อมนัดประชุมสรุปสัดส่วนประธานกรรมาธิการฯ และกรรมาธิการฯ ทั้งหมดในวันที่ 13 ก.ย. เพื่อให้สามารถประชุมกรรมาธิการฯ นัดแรกต่อทันทีในวันที่ 14 ก.ย. เดินหน้าแก้ปัญหาประชาชน

สำหรับวิธีการเลือกประธานกรรมาธิการฯ พิเชษฐ์ กล่าวว่า จะนำความต้องการของแต่ละพรรคการเมืองมาต่อรองก่อน หากไม่ซ้ำกัน ก็ถือว่าผลลงตัว แต่หากซ้ำกันก็ต้องคุยกันรอบ 2 ซึ่งที่ประชุมมองว่าซ้ำกันไม่เยอะ หากมีความต้องการตรงกันก็สามารถคุยให้ลงตัวได้

โดยกรรมาธิการฯ ที่แต่ละพรรคการเมืองแสดงความต้องการซ้ำกัน เช่น กรรมาธิการแรงงาน กรรมาธิการการเกษตร กรรมาธิการการปกครองท้องถิ่น เป็นต้น ซ้ำกันอยู่ไม่กี่คณะ เชื่อว่าจะลงตัวและหาข้อสรุปได้

ทั้งนี้ หนึ่งในตัวแทนของพรรคก้าวไกล ได้เปิดเผยว่า ไม่ได้มีเพียงพรรคก้าวไกลพรรคเดียวที่เห็นชอบให้รอผลการเลือกตั้งก่อนแบ่งสัดส่วนกรรมาธิการ โดยไม่ได้เผยว่าเป็นพรรคการเมืองใด ขณะที่ตัวแทนพรรคการเมืองอื่นๆ ระบุเพียงว่าเป็นการพูดคุยกันเรื่องจำนวนเก้าอี้ แต่ยังไม่มีคณะกรรมการใดที่ต้องการไปเป็นประธาน

ผู้สื่อข่าวยังรายงานว่า พรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทยที่มีโควตาประธานกรรมาธิการ 10 ที่นั่ง เท่ากัน ได้หารือกันในห้องประชุมต่ออีกระยะหนึ่งหลังเสร็จการประชุมแล้ว ก่อนตัวแทนพรรคก้าวไกลจะไปร่วมหารือกับพรรคเพื่อไทยต่อ