ไม่พบผลการค้นหา
ผู้ก่อตั้งและผู้บริหารเฟซบุ๊กยอมรับว่าแฮกเกอร์สามารถเข้าถึงข้อมูลของผู้ใช้งานเฟซบุ๊กได้กว่า 50 ล้านคนทั่วโลก แต่เฟซบุ๊กสกัดการเข้าถึงข้อมูลอื่นๆ ในบัญชีผู้ใช้งานที่ได้รับผลกระทบแล้ว แต่ยังระบุเป้าหมายในการโจมตีไม่ได้

มาร์ค ซักเคอร์เบิร์ก เผยแพร่ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Mark Zuckerberg เพื่อชี้แจงและเตือนผู้ใช้งานเฟซบุ๊กทั่วโลกให้ทราบว่าแฮกเกอร์ที่ไม่ทราบจำนวนชัดเจนได้ก่อเหตุเจาะระบบและสามารถเข้าถึงข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้เฟซบุ๊กประมาณ 50 ล้านคนทั่วโลก

ทั้งนี้ เฟซบุ๊กทราบเรื่องดังกล่าวเมื่อวันอังคารที่ 25 ก.ย.ที่ผ่านมา และทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันแก้ไขปัญหาดังกล่าวทันที ทำให้แฮกเกอร์ถูกปิดกั้นและต้องล็อกเอาต์ออกจากบัญชีผู้ใช้เฟซบุ๊กไป

เนื้อหาในโพสต์ของซักเคอร์เบิร์กระบุว่า ผู้ใช้เฟซบุ๊กต้องลงชื่อเข้าใช้งานเฟซบุ๊กใหม่อีกครั้ง โดยผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการโจมตีของแฮกเกอร์จะได้รับข้อความเตือนจากเฟซบุ๊ก เพื่อชี้แจงรายละเอียดแก่ผู้ใช้งาน และให้คำแนะนำว่าต้องดำเนินการอย่างไรต่อไป

ซักเคอร์เบิร์กระบุด้วยว่า ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้ป้องกันไม่ให้แฮกเกอร์สามารถเข้าถึงข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับเฟซบุ๊กเพิ่มเติม แต่ยังไม่อาจระบุได้ว่าการโจมตีเฟซบุ๊กในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่ออะไร และทางเฟซบุ๊กจะตรวจสอบข้อเท็จจริงให้เกิดความกระจ่างโดยเร็วที่สุด

การสอบสวนอย่างจริงจังเริ่มขึ้นแล้ว

กาย โรเซน รองประธานบริหารเฟซบุ๊กด้านการจัดการผลิตภัณฑ์ ชี้แจงเพิ่มเติมว่าแฮกเกอร์น่าจะอาศัยช่องโหว่ที่เกิดขึ้นช่วงที่เฟซบุ๊กพัฒนาระบบการทำงานและการอัปโหลดวิดีโอ ซึ่งดำเนินการไปตั้งแต่เดือน ก.ค. 2560 และเกี่ยวข้องกับการใช้งานฟังก์ชัน View as ซึ่งมีไว้สำหรับผู้ใช้เฟซบุ๊กที่ต้องการดูว่าผู้ใช้รายอื่นมองเห็นหน้าเพจของตนเป็นแบบใด

โรเซนระบุว่าเฟซบุ๊กได้เริ่มตรวจสอบร่องรอยผู้ก่อเหตุและสอบสวนเพิ่มเติมว่าข้อมูลของผู้ใช้เฟซบุ๊กได้รับผลกระทบมากน้อยเพียงใด และมีการนำข้อมูลดังกล่าวไปใช้ในทางมิชอบหรือไม่ โดยมีการแจ้งไปยังเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ รวมถึงหน่วยอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง และล่าสุดได้ระงับการทำงานของฟังก์ชัน View as ไปแล้ว

อย่างไรก็ตาม โรเซนกล่าวว่าผู้ใช้เฟซบุ๊กไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนรหัสผ่าน เพราะเฟซบุ๊กปิดกั้นการเข้าถึงข้อมูลของแฮกเกอร์ได้แล้ว แต่ผู้ที่มีปัญหาในการลงชื่อหรือล็อกอินเข้าใช้งานใหม่อีกครั้ง เนื่องจากลืมรหัสผ่าน สามารถเข้าไปดูรายละเอียดเพื่อเข้าถึงบัญชีของตนได้ที่ Help Center

นอกจากนี้ โรเซนยังระบุว่า เฟซบุ๊กเสียใจอย่างยิ่งที่มีผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ครั้งนี้ แต่ยืนยันว่าการรักษาความปลอดภัยและการปกป้องข้อมูลของผู้ใช้เป็นสิ่งที่เฟซบุ๊กให้ความสำคัญเป็นอันดับแรก หรือหากมีข้อมูลเพิ่มเติมจะรีบแจ้งให้ผู้ใช้ทราบทันที

https://fbnewsroomus.files.wordpress.com/2018/07/security1.png?w=960

'หุ้นตก' และ 'ช่องโหว่' ที่ยังรอการแก้ไข

ครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่เฟซบุ๊กถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักเรื่องการรักษาความปลอดภัยของข้อมูลผู้ใช้งานเฟซบุ๊ก เพราะก่อนหน้านี้ในเดือน มี.ค. สื่อสหรัฐฯ เปิดโปงว่าเฟซบุ๊กเปิดช่องให้บุคคลที่สาม ซึ่งในกรณีนี้คือบริษัทวิจัยและสำรวจความเห็นของอังกฤษ 'เคมบริดจ์ อนาไลติกา' เข้าถึงข้อมูลบัญชีผู้ใช้เฟซบุ๊กผ่านโฆษณาหรือแบบสอบถามต่างๆ โดยที่ผู้ใช้ไม่ได้อนุญาตและไม่ทันรู้ตัว

กรณีดังกล่าวส่งผลกระทบต่อผู้ใช้เฟซบุ๊กมากกว่า 80 ล้านคนทั่วโลก ทำให้เฟซบุ๊กหุ้นตกและเผชิญความผันผวนอยู่ระยะหนึ่ง ซึ่งเหตุการณ์ครั้งนี้ก็เช่นกัน เพราะข่าวดังกล่าวซึ่งถูกรายงานในช่วงสายของวันศุกร์ที่ 28 ก.ย.ตามเวลาท้องถิ่นสหรัฐฯ ทำให้หุ้นเฟซบุ๊กตกลง 3 จุด และมาร์ค ซักเคอร์เบิร์ก จัดแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนทันที บ่งชี้ว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ค่อนข้างร้ายแรง

ขณะเดียวกัน เว็บไซต์ The Verge สื่อด้านเทคโนโลยีของสหรัฐฯ รายงานว่า ข่าวเฟซบุ๊กถูกเจาะระบบเกิดขึ้นเพียงไม่นานหลังจาก 'Chang-Chi-Yuan' แฮกเกอร์ชาวไต้หวัน ประกาศว่าเขาจะทดสอบระบบรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ของเฟซบุ๊ก แต่ช่วงเวลาที่เฟซบุ๊กตรวจพบการเจาะระบบก็ยังขัดแย้งกับคำประกาศของ Chang-Chi-Yuan เพราะแฮกเกอร์คนดังกล่าวระบุว่าจะเริ่มลงมือในวันอาทิตย์ที่ 30 ก.ย.ที่กำลังจะถึง

ส่วนเรื่องที่น่าเป็นห่วงอีกประการหนึ่ง คือ 'อเล็กซ์ สเตมอส' อดีตผู้บริหารหน่วยรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ของเฟซบุ๊ก เพิ่งลาออกจากตำแหน่งไปเมื่อเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา หลังจากเฟซบุ๊กประกาศปรับโครงสร้างการทำงาน โดยระบุว่าจะไม่แต่งตั้งใครมาปฏิบัติหน้าที่แทนสเตมอส เพราะจะเปลี่ยนไปใช้วิธีป้องกันและรักษาความปลอดภัยในรูปแบบอื่นๆ ที่มีความเหมาะสมกับระบบของเฟซบุ๊กมากกว่า ซึ่งอาจรวมถึงการร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านที่จะมาฝังตัวในองค์กรและทำงานร่วมกับหน่วยงานด้านความปลอดภัยอื่นๆ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: