ไม่พบผลการค้นหา
'มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก' ผู้บริหารเฟซบุ๊กยอมรับความผิดพลาด กรณีบริษัทวิจัยใช้เฟซบุ๊กเป็นช่องทางดึงข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้งานเครือข่ายสังคมออนไลน์เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ และส่งผลกระทบต่อชีวิตจริงของผู้ใช้เฟซบุ๊กด้วย

การเติบโตของเฟซบุ๊กในช่วงไม่ถึง 10 ปีที่ผ่านมา มีผลเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการสื่อสารและการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของคนทั่วโลก เครือข่ายสังคมออนไลน์กลายเป็นช่องทางติดต่อเพื่อนฝูง คนในครอบครัว ไปจนถึงทำธุรกิจ และประชาสัมพันธ์องค์กร ทำให้พื้นที่ส่วนตัวและพื้นที่ที่เป็นทางการทับซ้อนกัน

ผู้ใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์จำนวนมากเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวแทบทุกอย่างทางอินเทอร์เน็ต โดยไม่คิดว่าข้อมูลเหล่านั้นจะถูกนำไปใช้ประโยชน์หรือส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวัน และผู้ให้บริการเครือข่ายสังคมออนไลน์หลายรายก็อาจจะไม่ได้จริงใจหรืออาจจะไม่รัดกุมเพียงพอเรื่องการปกป้องข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้งาน จึงกลายเป็นช่องทางให้ 'บุคคลที่ 3' เข้าถึงและหาประโยชน์จากข้อมูลจำนวนมหาศาลเหล่านั้น ซึ่งกรณีล่าสุดก็คือบริษัท เคมบริดจ์ แอนาลิติกา อาศัยเฟซบุ๊กเป็นช่องทางเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้กว่า 50 ล้านบัญชีทั่วโลก

ราคาของข้อมูลส่วนบุคคลใน 'ตลาดมืด'

มาร์เก็ตวอทช์ ซึ่งเป็นสื่อวิเคราะห์เศรษฐกิจ รายงานว่าการรั่วไหลของข้อมูลส่วนบุคคลไม่ได้เกิดขึ้นกับเฟซบุ๊กเป็นครั้งแรก เพราะเมื่อปี 2556 ระบบ 'แนะนำเพื่อน' ที่เฟซบุ๊กกำลังพัฒนาในขณะนั้น ได้เผยแพร่ข้อมูลส่วนบุคคล ได้แก่ อีเมลและเบอร์โทรศัพท์มือถือของผู้ใช้กว่า 600,000 คนสู่สาธารณะ แต่เหตุการณ์ล่าสุดที่เกิดขึ้น เป็นการเข้าถึงข้อมูลที่ลึกมากกว่านั้น ได้แก่ ชื่อ-นามสกุล/ อีเมล/ เบอร์โทรศัพท์ / รหัสผ่าน/ สถาบันการศึกษา/ แนวคิดทางการเมือง/ งานอดิเรก/ ความสนใจที่มีต่อกิจกรรมต่างๆ/ สมาชิกครอบครัว/ บันทึกกิจกรรมในโลกไซเบอร์ ซึ่งรวมถึงประวัติการเข้าชมเว็บไซต์หรือสื่อสังคมออนไลน์อื่นๆ/ ไอพีแอดเดรส/ สถานที่ที่ไปเป็นประจำ

ข้อมูลเหล่านี้มักจะถูกนำไปขายในเว็บไซต์เข้ารหัสที่เปรียบได้กับ 'ตลาดมืด' ของเหล่าแฮกเกอร์หมวกดำและมิจฉาชีพอื่นๆ ที่สามารถใช้ข้อมูลเหล่านี้สร้างประโยชน์แก่ตัวเอง และราคาของข้อมูลแต่ละประเภทก็จะแตกต่างกัน เช่น ข้อมูลที่ใช้ในการล็อกอินเข้าเฟซบุ๊กจะอยู่ที่ประมาณ 5 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 165 บาท) ต่อ 1 บัญชี ขณะที่ข้อมูลส่วนบุคคลทั้งหมดจะขายได้ตั้งแต่ 50-1,200 ดอลลาร์ (ราว 1,650-39,600 บาท) โดยจะจำแนกตามสถานะทางสังคม เช่น ข้อมูลของนักศึกษาฐานะปานกลาง ขายได้ประมาณ 50 ดอลลาร์ แต่ข้อมูลของผู้สูงอายุที่มีเงินบำนาญก้อนใหญ่ในธนาคารก็อาจจะขายได้ราคาดีกว่า และข้อมูลคนมีชื่อเสียงในแวดวงต่างๆ ขายได้ถึง 1,200 ดอลลาร์

เฟซบุ๊ก

การนำข้อมูลส่วนบุคคลไปใช้งาน 'มากกว่าครึ่ง' เกี่ยวพันกับการก่ออาชญากรรม เช่น (1) แฮกบัญชีที่เกี่ยวพันกับการเงิน ทั้งบัญชีเงินออม เงินฝาก บัตรเครดิต เพื่อโยกย้ายหรือใช้จ่ายเงินทองเหล่านั้นโดยที่เจ้าของไม่รู้ตัว และ (2) นำไปสวมรอยแอบอ้างหรือล่อลวงคนอื่นๆ อีกต่อหนึ่ง ซึ่งมีทั้งอาชญากรรมทางเศรษฐกิจและอาชญากรรมทางเพศ รวมถึง (3) ใช้เผยแพร่ข้อมูลชวนเชื่อหรือบิดเบือน เช่น กรณีเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ เมื่อปี 2559 มีการสร้างบัญชีเฟซบุ๊กปลอมจำนวนมากเพื่อซื้อโฆษณาเผยแพร่ข้อมูลเท็จ ซึ่งมีส่วนทำให้ 'โดนัลด์ ทรัมป์' ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดี และสำนักงานสอบสวนกลางของสหรัฐฯ ก็กำลังสืบคดีแทรกแซงการเลือกตั้งนี้อยู่

ข้อมูลรั่วไม่ได้มีเฉพาะเฟซบุ๊ก!

เว็บไซต์ฟอร์จูนรายงานว่า เฟซบุ๊กไม่ใช่เครือข่ายออนไลน์เพียงแห่งเดียวที่มีปัญหาด้านการรักษาความปลอดภัยเพราะก่อนหน้านี้มีข้อมูลส่วนบุคคลหลุดจากเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซหรือธุรกิจแบ่งปันอีแชร์ริง เกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก ทั้งเพย์พัล แอร์บีแอนด์บี อูเบอร์ ดีเอชแอล ไปจนถึงจีเมล ซึ่งสาเหตุมีทั้ง 'ถูกแฮก' รวมถึงระบบขัดข้อง-มีช่องโหว่ และการบริหารจัดการข้อมูลบกพร่อง

แต่กรณีของ เคมบริดจ์ แอนาลิติกา ถือว่าแย่กว่าการแฮกข้อมูล เพราะบริษัทดังกล่าว 'ได้รับอนุญาต' จากเฟซบุ๊กให้สามารถใช้แพลตฟอร์มเผยแพร่แอปพลิเคชันสำรวจข้อมูลได้ โดยที่เฟซบุุ๊กไม่ได้ตรวจสอบให้ชัดเจนว่าแอปพลิเคชันของเคมบริดจ์ แอนาลิติกา มีการตั้งเงื่อนไขที่ไม่เป็นธรรมกับผู้ใช้งาน หรือจงใจทำให้ผู้ใช้งานเข้าใจผิดจนนำไปสู่การให้ยินยอมข้อมูลโดยไม่รู้ตัวหรือไม่ เฟซบุ๊กจึงถู��มองว่า 'ไม่จริงใจ' เรื่องการปกป้องข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้


อย่างไรก็ตาม ไม่ได้มีแค่มิจฉาชีพเท่านั้นที่อยากได้ข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้สื่อออนไลน์ แต่บริษัทวิเคราะห์และวางแผนการตลาดก็ต้องการข้อมูลเหล่านี้เช่นกัน เพราะสามารถนำไปใช้บริหารจัดการหรือดำเนินนโยบายที่เกี่ยวกับธุรกิจการค้าออนไลน์ได้ด้วย


ตั้งค่าอย่างไร? เพื่อป้องกันข้อมูลส่วนตัวออนไลน์

หลังเกิดกรณีข้อมูลรั่วไหล ส่งผลให้เกิดกระแสต่อต้านและรณรงค์ติดแฮชแท็ก #DeleteFacebook ในเครือข่ายสังคมออนไลน์อื่นๆ เพื่อเรียกร้องให้ลบเฟซบุ๊กออกจากอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ให้หมด ซึ่งจะเป็นทั้งการตอบโต้ความหละหลวมของเฟซบุ๊ก รวมถึงปกป้องข้อมูลและความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้ด้วย

อย่างไรก็ตาม ยังมีคนอีกเป็นจำนวนมากที่ไม่สามารถลบหรือเลิกใช้งานเฟซบุ๊กได้ เว็บไซต์ฟอร์จูนจึงแนะนำให้ตั้งค่าความเป็นส่วนตัวของบัญชีเฟซบุ๊กเสียใหม่ เพื่อป้องกันไม่ให้ข้อมูลรั่วไหลในครั้งหน้า

ฟอร์จูนระบุว่า ผู้ใช้เฟซบุ๊กสามารถเลือกตั้งค่าความเป็นส่วนตัว หรือ Privacy Setting ว่าจะแบ่งปันข้อมูลเฉพาะกับเพื่อนหรือคนรู้จัก หรือ 'เปิดสาธารณะ' แต่การจะป้องกันแอปพลิเคชันล้วงข้อมูลแบบเดียวกับแอปฯ ของเคมบริดจ์ แอนาลิติกา จะต้องไปที่การตั้งค่า (Setting) และเลือก 'App' เพื่อดูว่ามีการแบ่งปันข้อมูลของผู้ใช้เฟซบุ๊กกับแอปฯ ใดบ้าง และสามารถเลือก 'ปิด' การแบ่งปันข้อมูลได้ ซึ่งวิธีนี้จะช่วยป้องกันความปลอดภัยของบัญชีผู้ใช้เฟซบุ๊กได้อีกระดับหนึ่ง รวมถึงต้องตั้งรหัสผ่านที่คาดเดาได้ยาก และต้องหมั่นเปลี่ยนรหัสผ่านบ่อยๆ ด้วย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: