ไม่พบผลการค้นหา
เปิดตัวเลขคำขอข้อมูลเฟซบุ๊กของรัฐบาล ครึ่งแรกปีนี้คำขอจากเหตุ 112 พุ่งสูงสุด

รายงานฉบับล่าสุดเรื่องความโปร่งใสของเฟซบุ๊กแจกแจงตัวเลขคำขอข้อมูลผู้ใช้จากรัฐบาลประเทศต่างๆ บ่งชี้ว่าคำขอให้บล็อคเนื้อหาด้วยเหตุผลว่าผิดกฎหมายในประเทศกลายเป็นแนวโน้มที่พุ่งสูงขึ้นรวมทั้งจากประเทศไทยที่ขอให้จำกัดการเข้าถึงเนื้อหาเพราะถือว่าขัดต่อกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพตามมาตรา 112 เป็นจำนวนที่ขยับสูงขึ้นมากที่สุดในครึ่งแรกของปีนี้เมื่อเทียบกับปีก่อนๆ


รายงานของเฟซบุ๊กที่ออกมาเมื่อวันจันทร์ที่ 18 ธ.ค.ให้ตัวเลขคำขอของรัฐบาลทั่วโลกในช่วงหกเดือนแรกของปี 2560 โดยรวมแล้วเฟซบุ๊กได้รับคำขอ 78,000 คำขอเพื่อจะเอาข้อมูลจากผู้ใช้กว่า 116,000 บัญชี เมื่อเทียบกับครึ่งหลังของปี 2559 คำขอข้อมูลบัญชีผู้ใช้หกเดือนแรกของปีนี้ถือว่าเพิ่มขึ้น 21%


นอกจากคำขอข้อมูลของผู้ใช้แล้ว ยังมีคำขอให้บล็อคหรือจำกัดการเข้าถึงข้อมูลส่วนที่รัฐบาลอ้างว่าผิดกฎหมายในประเทศของตน เฟซบุ๊กให้ข้อมูลว่า โดยรวมตัวเลขของคำขอในส่วนนี้เพิ่มขึ้นถึง 304% ทั่วโลกเมื่อเทียบกับครึ่งหลังของปี 2559 คือจาก 6,944 รายเป็น 28,036 ราย


สเตรทไมส์ของสิงคโปร์สรุปตัวเลขจากรายงานระบุชื่อ 10 ประเทศแรกที่รัฐบาลส่งคำขอข้อมูลผู้ใช้เฟซบุ๊กมากที่สุด ที่นำเป็นอันแรกคือสหรัฐฯ ขอข้อมูลผู้ใช้ 32,716 หน เกี่ยวข้องกับบัญชีผู้ใช้จำนวน 52,280 ราย รองลงมาคืออินเดีย ขอข้อมูล 9,853 หน เกี่ยวพันกับผู้ใช้ 13,752 ราย อันดับสามเป็นรัฐบาลอังกฤษ ขอข้อมูล 6,845 หน เกี่ยวพันกับผู้ใช้ 8,167 บัญชี ตามมาด้วยเยอรมัน ฝรั่งเศส อิตาลี บราซิล โปแลนด์ สเปน ปากีสถาน ในส่วนของเอเชียนั้นสิงคโปรติดอันดับที่ 26 ด้วยตัวเลขคำขอจำนวน 204 จากจำนวนผู้ใช้ 263 ราย เฟซบุ๊กส่งมอบข้อมูลให้ 59% ของคำขอ


ในกรณีของจีน รายงานของเฟซบุ๊กมีข้อมูลจำกัดแค่หกเดือนแรกของปี 2558 มีคำขอให้จำกัดการเข้าถึงข้อมูลที่จีนระบุว่าผิดกฎหมายในประเทศเพียง 5 ราย นอกจากนี้ คำขอของสหรัฐฯนั้น เฟซบุ๊กระบุว่า 57% เป็นคำขอจากหน่วยงานพิทักษ์สันติราษฏร์ที่ห้ามไม่ให้มีการแจ้งแก่เจ้าของบัญชีด้วย


ในส่วนของไทยรายงานให้ตัวเลขย้อนหลังกลับไปจนถึงปี 2556 คำขอข้อมูลจากรัฐบาลในช่วงปีแรกๆมีน้อยมาก เช่นปี 2556 ทั้งปีขอข้อมูล 5 คำขอ ปีถัดมาขอข้อมูล 3 คำขอ ปี 2558 มี 5 คำขอ ปี2559 มี 14 คำขอ แต่สิ่งที่เพิ่มมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัดคือคำขอให้บล็อคการเข้าถึงเนื้อหาที่ถือว่าผิดกฎหมายตามมาตรา 112 ซึ่งในปีแรกคือ 2556 ไม่มี แต่ในปี 2557 รัฐบาลขอให้เฟซบุ๊กบล็อคเนื้อหาที่บอกว่าขัดกับกฎหมายหมิ่น 112 จำนวน 35 ราย ปี 2558 ไม่มีคำขอเช่นนี้ แต่ในปี 2559 เพิ่มเป็น 50 ราย และเฉพาะในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้มีคำขอให้บล็อคเนื้อหาที่ถือว่าผิดกฎหมายมาตรา 112 จำนวน 226 ราย มากยิ่งกว่าของทุกปีที่ผ่านมา


เฟซบุ๊กระบุว่า คำขอข้อมูลของรัฐบาลประเทศต่างๆส่วนใหญ่เป็นกรณีที่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรม เป็นส่วนหนึ่งของการสืบสวนสอบสวนของเจ้าหน้าที่ ส่วนใหญ่เป็นการขอข้อมูลพื้นฐานทั่วไป คำขอข้อมูลนี้ไม่ใช่เฉพาะในส่วนของเฟซบุ๊กเท่านั้น แต่ยังขยายไปยังแอพอื่นๆของเฟซบุ๊ก เช่นเมสเซนเจอร์ วอทสแอพ อินสตาแกรม ระบบแชร์รูปภาพ ฯลฯ


เฟซบุ๊กยืนยันว่า มีการกลั่นกรองคำขออย่างถี่ถ้วนว่ามีเหตุผลที่สมควรทุกครั้ง ถ้าพบว่าคำขอมีข้อมูลไม่มากพอหรือเกินเหตุก็จะขอข้อมูลเพิ่มเติมและหากจำเป็นก็ต้องต่อสู้กันในศาล และยังพยายามร่วมมือกับผู้ให้บริการอื่นๆหลายรายเพื่อพยายามผลักดันให้รัฐบาลประเทศต่างๆปฏิรูประบบการตรวจสอบเฝ้าระวังการใช้งานโดยเคารพในเรื่องของความปลอดภัย ความเป็นส่วนตัวและสิทธิของประชากรของตน


ในส่วนของเนื้อหาที่ถือว่าละเมิดกฎหมายภายในประเทศนั้น เฟซบุ๊กระบุว่า จะพิจารณาก่อนว่าคำขอจากประเทศต่างๆที่ให้บล็อคหรือจำกัดการเข้าถึงเนื้อหาส่วนที่อ้างว่าผิดกฎหมายในประเทศนั้นๆมีมูล ถ้าพบว่าจริงจึงจะบล็อค เช่นในเยอรมัน การไม่ยอมรับว่ามีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวจริงถือว่าเป็นความผิดตามกฎหมาย ดังนั้นหากมีการขอให้บล็อคเนื้อหาเช่นนี้เข้ามาและเฟซบุ๊กตรวจสอบแล้วพบว่าเป็นเช่นนั้นจริงก็จะบล็อคเนื้อหาส่วนนั้นสำหรับผู้ใช้ในเยอรมัน อินโดนีเซียเองก็เคยมีคำขอให้เฟซบุ๊กบล็อคเนื้อหาจากเพจที่ละเมิดกฎหมายในประเทศว่าด้วยเรื่องการไม่ใช้เฮทสปีชหรือข้อความยั่วยุให้เกิดความเกลียดชังเพราะเรื่องศาสนา

นอกจากนี้เฟซบุ๊กให้ข้อมูลด้วยว่าในช่วงหกเดือนแรกของปีนี้ มีปัญหาที่ทำให้บริการของเฟซบุ๊กสะดุดไปถึง 52 หนในประเทศต่างๆ 9 ประเทศด้วยกัน ในขณะที่ก่อนหน้านั้นคือครึ่งหลังของปี 2559 มี 20 ประเทศพบปัญหาบริการมีปัญหา 43 ครั้ง

อนึ่งในวันที่ 21 ธ.ค. 2560 รัฐสภาโดยสนช.จะมีการพิจารณาเพิ่มอำนาจป.ป.ช.ในการดักฟังและเข้าถึงข้อมูลแชทไลน์ อันเป็นการส่งผลกระทบต่อความเป็นส่วนตัวและข้อมูลส่วนบุคคลมากขึ้นอีกด้วย

The Strait Times