เมื่อวานนี้ (27 เม.ย.) ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีการจัดเวทีเสวานวิชาการ 'จากปู่คออี้ ถึงบิลลี่ : การเรียกร้องสิทธิ ชุมชนในป่าและความเป็นธรรมของชุมชนกะเหรี่ยงบางกลอย' เนื่องในวันครบรอบ 4 ปีที่นายพอละจี รักจงเจริญ หรือ 'บิลลี่' หลานของนายคออี้ มีมิ หรือ 'ปู่คออี้' ผู้มีบทบาทสำคัญในการปกป้องสิทธิกลุ่มชาติพันธุ์ชาวกะเหรี่ยง บ้านบางกลอย-ใจแผ่นดิน ได้หายไปตัวไป นับตั้งแต่วันที่ 17 เมษายน 2554 เป็นต้นมา
วิทยากรจากภาครัฐและภาคประชาชน อาทิ นายสุรพงษ์ กองจันทึก ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษากะเหรี่ยงและพัฒนา, พิณนภา พฤกษาพรรณ หรือ 'มึนอ' ภรรยาของบิลลี่, อภินันท์ ธรรมเสนา ตัวแทนคณะกรรมการกระทรวงวัฒนธรรม, ตัวแทนสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน,นางอังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชน เป็นต้น
ทั้งนี้ บิลลี่ถูกเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานจับกุมในความผิดเก็บของป่าและปล่อยตัวเมื่อวันที่ 17 เม.ย. 2557 หลังจากนั้นจึงได้หายตัวไป แต่ครอบครัวของบิลลี่ไม่สามารถยื่นฟ้องให้เป็นคดีสูญหายได้ แม้จะมีพยานหลักฐานซึ่งสนับสนุนข้อสันนิษฐานว่าเขาตกเป็นเหยื่อการบังคับบุคคลให้สูญหาย
น.ส.ทิพวิมล ศิรินุพงศ์ ตัวแทนสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน กล่าวถึงคดีของบิลลี่ว่า ศาลฎีกามีคำสั่งยืนตามศาลชั้นต้น ให้ยกคำร้องของมึนอ ภรรยาของบิลลี่ และมีคำสั่งในเชิงเชื่อมั่นว่าทางเจ้าหน้าที่อุทยานได้ปล่อยตัวบิลลี่หลังจากคุมตัวไปแล้ว
ส่วนกระบวนการทางกฎหมายนั้น คณะทำงานยังคงมีการดำเนินเรื่องคดีต่อไป อย่างไรก็ตาม ต้องดูข้อมูลและพยานหลักฐานต่างๆ ที่จะดำเนินคดีฟ้องเพิ่มเติม ซึ่งในปัจจุบันยังติดขัดในข้อกฎหมายที่เราไม่สามารถดำเนินการได้ ซึ่งมันสอดคล้องกับตัว พ.ร.บ.บังคับบุคคลสูญหาย ที่ยังไม่ประกาศใช้ ซึ่งคณะทำงานมองว่าถ้ากฎหมายปลดล็อกมันจะทำให้การดำเนินคดีราบรื่นยิ่งขึ้นในอนาคต
เมื่อถามถึงการต่อสู้ในคดีมีผลกระทบอย่างไรที่คู่กรณีเป็นเจ้าหน้าที่ พรวิมล ระบุว่าจะมีผลต่อการหาพยานหลักฐาน เนื่องจากเมื่อเรื่องเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมาย ชาวบ้านยังมีความหวาดระแวงเจ้าหน้าที่อุทยาน หรือแม้กระทั่งตัวของภรรยาบิลลี่ ที่เพื่อนบ้านถามว่า 'ไม่กลัวหายไปอย่างบิลลี่เหรอ'
ด้านมึนอ ภรรยาของบิลลี่ กล่าวถึงผลกระทบภายหลังบิลลี่หายสาบสูญไปว่า ครอบครัวได้รับความเดือดร้อนทั้งความเป็นอยู่ของครอบครัว บางทีมันเหนื่อยมันต้องทำทุกอย่าง จากแต่ก่อนมีบิลลี่อยู่ ก็ทำหน้าที่ดูแลบ้านและลูกอย่างเดียว ตั้งแต่บิลลี่หายไปก็ต้องทำทุกอย่างหมด บางครั้งก็รู้สึกท้อเหนื่อยทั้งกายทั้งใจ เนื่องจากเมื่อครั้งบิลลี่มีชีวิต ได้ทำหน้าที่สมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบลห้วยแม่เพรียง ควบคู่กับการทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงานและเป็นผู้ช่วยทนายความในคดีปู่คออี้ และ ชาวบ้าน รวม 6 คน ฟ้องเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ที่เผาบ้านเรือนของชาวกะเหรี่ยงที่บ้านบางกลอยบนหรือใจแผ่นดิน เมื่อปี 2554
"ถ้าถามถึงความคาดหวัง ตั้งแต่บิลลี่หายไปภายใน 4 ปี มีความรู้สึกว่าความยุติธรรมมีน้อยมาก สำหรับคนจนไม่มีเลย รู้สึกจะมีให้เฉพาะคนรวยอย่างเดียว" ภรรยาบิลลี่ กล่าว
ด้านนางอังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชน มองว่าการบังคับให้บุคคลสูญหาย เป็นอาชญากรรม สิ่งที่รัฐต้องทำคือการเปิดเผยความจริง และให้ความสำคัญกับการดำเนินการ ตามที่รัฐธรรมนูญระบุไว้ให้เจ้าหน้าที่รัฐทำหน้าที่ ไม่ว่าจะเป็นการอำนวยด้านคดีต่อผู้เสียหาย และควรคุ้มครองครอบครัวผู้เสียหาย พร้อมเน้นย้ำว่าการฟื้นคืนศักด์ศรีให้กับครอบครัวผู้เสียหาย และเยียวยาช่วยเหลือมนุษย์ทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน
ทั้งนี้ ความคืบหน้าการสืบสวนและดำเนินคดีต่อการหายไปของบิลลี่กับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในข้อหาเป็นเจ้าหน้าที่พนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมาย มาตรา 157 ยังอยู่ในขั้นตอนการดำเนินงานของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ขณะที่กรมสอบสวนคดีพิเศษหรือดีเอสไอ อยู่ระหว่างรวบรวมพยานหลักฐานเพิ่มเติม คาดว่าจะมีการนำเข้าที่ประชุมใหญ่ เพื่อพิจารณาเป็นคดีพิเศษ อีก 2 เดือน
อ่านเพิ่มเติม